เมื่อโรคขากระตุก (Restless Legs Syndrome) หรือ RLS เริ่มแสดงอาการขณะคุณล้มตัวลงนอนพักผ่อน
เมื่อโรคขากระตุก (Restless Legs Syndrome) หรือ RLS เริ่มแสดงอาการขณะคุณล้มตัวลงนอนพักผ่อน วิธีที่จะหยุดอาการได้คือ การขยับขาหรือเดิน โรคขากระตุกมักเกิดกับคนสูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยเบาหวานหรือผู้ที่หลังส่วนล่างมีปัญหา
อะไรทำให้ขากระตุก
สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงทุกกลุ่มมีภาวะแมกนีเซียมต่ำ อาการของโรคยังโยงไปถึงการบริโภคน้ำตาล คาเฟอีน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งยาบางชนิด
ควรไปพบแพทย์หรือไม่
ถ้าอาการรุนแรงมากจนนอนไม่หลับ หรือรบกวนกิจวัตรประจำวันของคุุณ และรักษาด้วยตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์ แพทย์อาจสั่งยาบางชนิดที่ทำให้อาการสงบลง ถ้าเพิ่งมีอาการขากระตุกเป็นครั้งแรก ควรพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น เบาหวาน โรคไต หรือโรคพาร์คินสัน
สารอาหารต้านโรค
- ในแต่ละวัน กินแคลเซียม 800 มก. และแมกนีเซียม 400 มก. (ถ้ารักษาโรคนี้โดยไม่ใช้ยา ควรเริ่มกินในปริมาณต่ำๆ ก่อน เริ่มจากใช้แคลเซียม 500 มก. แมกนีเซียม 250 มก. แร่ธาตุ 2 ชนิดนี้ต้องกินในอัตราส่วน 2:1 เสมอ) และกินโพแทสเซียมอีก 800 มก. หากขาดแร่ธาตุเหล่านี้ชนิดใดชนิดหนึ่งจะทำให้ขากระตุกยิ่งขึ้น
- กินวิตามินบี กรดโฟลิก (หรือโฟเลต) ให้มากขึ้น กรดโฟลิกช่วยเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้น (โรคขากระตุกจะทำให้ออกซิเจนในเลือดลดลง) อาหารที่มีกรดโฟลิกมาก ได้แก่ ผักใบเขียว น้ำส้มคั้น ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอยู่ในวิตามินรวมทั่วไป
- กินอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น ผักใบเขียว ตับ จมูกข้าวสาลี ถั่วแดง และเนื้อไม่ติดมัน เหล็กเป็นส่วนประกอบหนึ่งของโมเลกุลไมโอโกลบิน (myoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เก็บออกซิเจนไว้ในกล้ามเนื้อและนำมาใช้ในยามที่ร่างกายต้องการ ถ้าไม่มีธาตุเหล็ก ไมโอโกลบินก็ไม่มีออกซิเจนเพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้อมีปัญหา
ยืดเส้นยืดสายคลายอาการ
เมื่อรู้สึกว่าขาจะกระตุก ให้นวดขาหรือเหยียดขาออกให้สุดจนปลายหัวแม่เท้าเหยียดตรง วิธีนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังสมองให้เอาชนะความรู้สึกซ่าๆ จากโรคขากระตุกได้ แต่ต้องหยุดทำถ้าเป็นตะคริว เพราะตะคริวเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีภาวะขาดแมกนีเซียม ซึ่งการเหยียดขาไม่ช่วยให้ดีขึ้น
- นั่งริมขอบเตียง นวดขยำน่องแรงๆ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อระดับลึกลงไป
- ถ้าทำแล้วขายังไม่หยุดกระตุก ให้ลุกขึ้นเดินเล่นรอบบ้านหรือรอบห้องนอน ก้าวขายาวๆ และดัดขา เพื่อยืดกล้ามเนื้อ
ป้องกันไว้ก่อน
- ตอนเย็น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน ซึ่งจะกระตุ้นกล้ามเนื้อและประสาทขาของคุณ
- เลิกสูบบุหรี่ เพราะมีผลการศึกษาพบว่า คนสูบบุหรี่มีแนวโน้มเป็นโรคขากระตุกมากกว่าคนที่ไม่สูบ
- หลีกเลี่ยงยารักษาโรคหวัดและไซนัส เพราะมักจะทำให้อาการของโรคขากระตุกยิ่งแย่ลง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น