ปวดแสบแน่นท้อง ไม่สบายท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก หรือท้องเสียบ่อย ๆ อาจเป็นอาการของโรคไอบีเอส ซึ่งผู้หญิงมักเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชาย วันนี้มารู้จักโรคไอบีเอส หรือลำไส้แปรปรวนกัน
โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้แปรปรวน เป็นอย่างไร
ถ้าอาการเป็นเพียงที่กระเพาะอาหาร ก็เรียกกระเพาะอาหารแปรปรวน หรือบ้างก็เรียกลำไส้แปรปรวน ถ้าอาการเด่นเรื่องการขับถ่ายผิดปกติ หรืออาการทางลำไส้ ซึ่งมีชื่อเรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Irritable Bowel Syndrome (IBS) จะขอเรียกทับศัพท์ว่า โรคไอบีเอส
โดยโรคนี้เป็นโรคที่พบบ่อยมากทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ถ้าสังเกตดี ๆ อาจพบคนเป็นโรคนี้อยู่รอบ ๆ ตัวเราได้ อย่างเช่น บางคนเมื่อเจอความเครียด หรือตื่นเต้นจะขึ้นเวทีร้องเพลง ปราศรัย ก็จะมีอาการปั่นป่วนท้อง บางคนทานอาหารเผ็ดเปรี้ยว หรือนมก็ปวดท้อง ต้องรีบเข้าห้องน้ำ ถ่ายเละ ๆ ครั้งสองครั้งแล้วก็หายเอง
แล้วคนที่เป็นโรคนี้จะมีอาการอย่างไร
อาการของโรคไอบีเอส แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มอาการคือ
1. มีอาการปวดท้อง ไม่ว่าจะเป็นแสบ แน่น อืด ลมเยอะ บีบมวน หรือผสมกัน หรือเพียงรู้สึกไม่สบายท้อง คลื่นไส้อาเจียน
2.อาจมีการขับถ่ายผิดปกติร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นท้องผูก ท้องเสีย ต้องรีบเข้าห้องน้ำถ่าย หรือถ่ายบ่อย
ในปัจจุบันยังไม่อาจพิสูจน์ได้ว่า เกิดจากอะไรแน่นอน แต่พบว่ามีสิ่งกระตุ้นได้ โดยเฉพาะความเครียด โรคนี้ตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติ ในสมัยก่อนจึงเรียกโรคนี้ว่า เครียดลงกระเพาะอาหารและลำไส้ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นโรคกระเพาะอาหารและลำไส้แปรปรวน เพราะสิ่งที่กระตุ้นไม่ได้มีเพียงเฉพาะความเครียด อาจเกิดจากการทานอาหารไม่เป็นเวลา ทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด มันจัด นม ชา กาแฟ น้ำอัดลม สุรา บุหรี่ ยาบางอย่าง หรือความเจ็บป่วยบางอย่างก็กระตุ้นให้เกิดอาการได้
เมื่อตรวจละเอียดแล้ว ไม่เกิดความผิดปกติของโครงสร้างที่อธิบายอาการได้ แต่พบความผิดปกติของหน้าที่ อย่างเช่น บีบตัวน้อยหรือมากผิดปกติบางครั้งบางคราว หรือรับรู้ผิดปกติ เช่น แสบท้อง เหมือนมีแผล แต่ตรวจแล้วไม่มีจริง บางครั้งบางคนเรียนรู้เองโดยธรรมชาติแล้วนำมาเป็นข้อดีก็ได้ อย่างเช่น ดื่มกาแฟ หรือสูบบุหรี่ตอนเช้าก่อนเข้าห้องน้ำ แล้วทำให้ถ่ายง่ายโล่งสบายไปทั้งวัน
โรคลำไส้แปรปรวนอันตรายต่อชีวิตไหม
ไม่อันตรายถึงกับชีวิต และไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ด้วย เว้นแต่ท้องผูกเรื้อรังนาน ๆ ที่สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งลำไส้ได้ แต่ต้องขอย้ำว่า จำเป็นต้องผ่านการตรวจละเอียดก่อนว่า ไม่มีโรคอื่นซ่อนอยู่ที่หลอกอาการคล้าย ๆ กัน ก่อนที่จะสรุปว่าเป็นโรคนี้ ไม่ใช่ทึกทักเองว่าเป็นโรคไอบีเอส
โรคนี้เป็นเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ ทั้งชีวิต ความรุนแรงของโรคหลากหลายมาก ส่วนใหญ่จะเป็นเล็ก ๆ น้อย ๆ ทำให้รู้สึกรำคาญได้ กลุ่มนี้มักไม่ได้ปรึกษาแพทย์ เพราะเป็นมานาน ชินกับอาการเหล่านี้ และคิดว่าเป็นปกติของตัวเราเองมากกว่า บางคนมีอาการมาก ต้องปรึกษาแพทย์ นอนโรงพยาบาลบ่อย ๆ ก็มี
มีโรคอื่นไหมที่มีอาการคล้าย ๆ กัน
มีเยอะเลย โดยเฉพาะแผลในกระเพาะอาหาร หรือลำไส้ กระเพาะอาหารหรือลำไส้อักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี หรือท่อน้ำดี มะเร็งกระเพาะอาหารและลำไส้ ตับอักเสบ มะเร็งตับ มะเร็งตับอ่อน โรคเหล่านี้ในช่วงแรก ๆ จะมีอาการคล้ายกับโรคไอบีเอสได้
จริงหรือที่ว่า โรคลำไส้แปรปรวนมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
โดยสถิติเป็นอย่างนั้น แต่ไม่มีใครพิสูจน์ได้ว่าเพราะอะไร เชื่อว่าเพราะเป็นความละเอียดอ่อนทางความคิด หรืออารมณ์ในผู้หญิงอาจมีมากกว่าผู้ชาย ผู้ชายก็มีความเครียดเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยหมกมุ่นวิตกกังวลมากเท่าผู้หญิง และมักมีทางระบายออกได้มากกว่า
มีวิธีรักษาโรคลำไส้แปรปรวนอย่างไร
โดยทั่วไปมี 2 วิธีร่วมกัน คือ หนึ่งการให้ยารักษาเมื่อมีอาการ โดยการปรับยาให้เหมาะสมกับอาการครั้งนั้น ๆ ซึ่งอาการอาจมีการเปลี่ยนแปลงสลับไปมาได้ ยาใช้รักษาแต่ไม่ป้องกัน จึงจำเป็นต้องมีข้อสองร่วมด้วย คือการป้องกัน
แล้วการทานยาระบายจะช่วยได้ไหม
ช่วยได้ แต่ควรนาน ๆ ครั้ง ถ้าทานเป็นประจำนาน ๆ ก็จะติดยาได้ ควรฝึกในเรื่องอาหาร และการขับถ่ายตามที่อธิบายเบื้องต้นตลอดชีวิต เพื่อเป็นการป้องกันระยะยาว แต่บางรายท้องผูกรุนแรงมาก จึงจำเป็นต้องใช้ยาในระยะยาวก็มี
คนไข้ส่วนใหญ่ที่เป็นโรคลำไส้แปรปรวนอยู่ในวัยใด
หลากหลายอายุ ที่พบบ่อยคือผู้หญิง ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยกลางคน
แล้วหวัดลงกระเพาะจะมีอาการอย่างไร บางครั้งดูคล้ายโรคไอบีเอสด้วยหรือไม่
อาจมีอาการคล้ายโรคไอบีเอส แต่มีอาการของไข้หวัดร่วมด้วย โดยเฉพาะที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ไม่ควรเรียกว่าเป็นโรคไอบีเอส เพราะมีสาเหตุชัดเจน ควรจะเรียกว่า กลุ่มอาการของการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดมากกว่า เมื่อไข้หวัดหาย อาการเหล่านี้ก็จะหายไป
ข้อแนะนำจาก นพ.พงษ์สิทธิ์ วงศ์กุศลธรรม สาขาอายุรกรรมโรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลกรุงเทพ
ในคนไข้ที่มีอาการปวดท้อง หรือขับถ่ายผิดปกติ ถ้าเป็นบ่อย หรือเป็นมานานแล้ว หรือใช้ยารักษาเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรจะตรวจหาให้ละเอียดว่าเป็นโรคอะไรกันแน่ เพราะบางครั้งอาจเกิดจากโรคร้ายที่ซ่อนอยู่ก็ได้ โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ หรือมีญาติพี่น้องเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ลำไส้ หรือตับ เพราะโรคเหล่านี้อาการเบื้องต้นอาจคล้ายกับโรคไอบีเอสได้ หรือมีอาการที่ชวนสงสัยว่า เป็นโรคร้าย อย่างเช่น เบื่ออาหาร ผอมลง ถ่ายหรืออาเจียนมีเลือดปน ถ่ายมีมูก ถ่ายผูกสลับเสีย
คนเรามักเหมาคิดไปเองว่า เครียดลงกระเพาะลำไส้ เมื่อทิ้งไว้นานเกินไปแล้วมาตรวจภายหลัง ก็อาจเจอโรคมะเร็งซ่อนอยู่ในระยะสุดท้าย ซึ่งยากต่อการรักษาและเปลี่ยนอนาคตได้
วิธีป้องกันโรคลำไส้แปรปรวน
พยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นดังกล่าวข้างต้น และพบว่าสิ่งกระตุ้นไม่จำเป็นต้องเหมือนกันทุกคน ต้องสังเกตตัวเองก่อนว่า มีอะไรบ้างที่กระตุ้นให้เกิดอาการ แล้วพยายามเลี่ยงสิ้งนั้น ที่ยากสุดคือความเครียด ซึ่งมีทั้งรู้ตัวและซ่อนเร้น และบางครั้งมาเร็วจนปรับตัวไม่ทัน เกิดอาการเสียก่อน แต่ก็ไม่ต้องกลัวนะครับ เพราะทานยาก็ทำให้อาการทุเลาลงได้ และมีการปฏิบัติตัวเสริม เพิ่มเติมในผู้ป่วยที่ท้องผูก 5 ข้อ
1.ทานผักและผลไม้ให้มากในแต่ละวัน โดยควรแบ่งทานน้อย ๆ แต่บ่อย ๆ ตลอดทั้งวัน ไม่ควรทานมากในครั้งเดียว เพราะอาจทำให้แน่นท้องได้
2.ดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 แก้วต่อวัน เพื่อให้อุจจาระนุ่ม
3.ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้ลำไส้เคลื่อนไหว
4.ขับถ่ายให้เป็นเวลา ลำไส้คล้ายสุนัข ฝึกได้ ควรตั้งเวลาเพื่อการถ่าย อย่างเช่น 7 โมงเช้าต้องเข้าห้องน้ำ ในช่วงแรกอาจไม่รู้สึกปวดถ่าย แต่เมื่อทำเป็นประจำจะมีความรู้สึกปวดถ่ายมากขึ้น และถ้าระหว่างวันปวดถ่ายอีก ก็ควรเข้าห้องน้ำอีก ไม่ควรกลั้นไว้นาน
5.นั่งถ่ายให้นานพอ เพื่อไม่ให้มีอุจจาระตกค้างอยู่ในลำไส้ เพราะหากตกค้างนาน ๆ จะทำให้อุจจาระแข็งขึ้นได้ นอกจากนี้ เมื่ออุจจาระสะสมนานวันเข้าก็จะท้องอืด แน่นท้อง ท้องป่องได้
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น