17 มี.ค. 2551

10 สุดยอดแห่งโลกเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ ที่น่าจับตามองในปี 2551 (1)


เว็บวิดีโอแห่งอนาคต


การรับชมวิดีโอสดๆ ในอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่นักท่องเว็บนิยมทำกันมาก จนกลายเป็นสิ่งที่บริโภคแถบสัญญาณของเครือข่ายไปถึงร้อยละหกสิบ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าหากแนวโน้มยังดำเนินต่อไปเช่นนี้ ภายในอีกสองปีมันจะบริโภคแถบสัญญาณมากขึ้นถึงร้อยละเก้าสิบแปด เมื่อถึงตอนนั้นอินเทอร์เน็ตจะช้าลงทั้งโลก วิกฤติกาลนี้จะมีทางออกอย่างไร?

ฮุย จาง (Hui Zhang) นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคาเนกีเมลอน เชื่อว่าเขามีคำตอบ และคำตอบนี้ไม่ได้มาจากไหนไกล แต่มาจากการดาวน์โหลดโปรแกรมแบบ P2P (peer-to-peer จุดต่อจุด) หรือที่เรียกกันว่าโหลดบิต (BitTorrent) ที่ผู้นิยมของฟรีใช้ดาวน์โหลดซอฟต์แวร์และภาพยนตร์ ที่กำลังสร้างความไม่พอใจให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์กันทั่วหน้า

จาง กล่าวว่าการเปิดวิดีโอแบบรายการสด ยกตัวอย่างเช่น ยูทิวบ์ (YouTube) การไหลของข้อมูลจะเป็นแบบโครงสร้างต้นไม้ คือรากหรือส่วนต้นสายมีจุดเดียว คือเว็บเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทยูทูวบ์ จากนั้นข้อมูลจะกระจายไปตามกิ่งก้านต่างๆ คือแม่ข่ายย่อย ส่วนคอมพิวเตอร์ของเรา ซึ่งเป็นผู้รับชมวิดีโอคือส่วนปลายสุด เทียบได้กับใบไม้ หากรากหรือกิ่งช่วงใดช่วงหนึ่งเกิดล่มหรือขาดตอน การรับชมวิดีโอจะชะงักไป

ส่วนกลไกการไหลของข้อมูลเมื่อดาวน์โหลดแบบ P2P จะไม่เป็นโครงสร้างต้นไม้ แต่เป็นแบบไขว้หรือตาข่าย (mesh) เพราะผู้ดาวน์โหลดแต่ละรายจะดาวน์โหลดจากคอมพิวเตอร์ของผู้ดาวน์โหลดรายอื่นๆ ด้วย หากแหล่งข้อมูลรายใดเกิดปิดเครื่องไป การดาวน์โหลดจะไม่หยุดชะงัก เพราะเรายังมีผู้ดาวน์โหลดรายอื่นๆ เหลืออยู่อีก

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต หรือ ISP และผู้ให้บริการโฮสติ้ง จะชอบการไหลของข้อมูลแบบต้นไม้ เพราะสามารถไล่เบี้ยเก็บเงินจากต้นสายผู้ให้บริการข้อมูลได้ ส่วนการดาวน์โหลดแบบ P2P ไม่มีต้นสายที่ชัดเจน เพราะ P2P เป็นโพรโตคอลที่ไม่แสดงชื่อผู้ใช้ (Anonymous) ISP หรือผู้ให้บริการโฮสติ้งจึงไม่สามารถเก็บเงินเพิ่มจากผู้ที่ใช้แถบสัญญาณมากๆ ได้ ISP หรือผู้ให้บริการโฮสติ้งบางรายถึงกับจำกัดปริมาณข้อมูล P2P หรือบล็อกไปเลย อย่างที่เป็นข่าวเพราะมีการฟ้องร้องอยู่เนืองๆ (ผู้ใช้ฟ้องร้อง ISP ที่บล็อก P2P)

จาง และนักวิทยาศาสตร์รายอื่นเชื่อว่า พวกเขาใกล้จะพบวิธีผสมผสานหลักการทั้งสอบแบบเข้าด้วยกัน พอล ฟรานซิส นักวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคาเนกีเมลอน กำลังทดสอบระบบชื่อ ชังกีสเปรด (ChunkySpread) ซึ่งเป็นวิธีที่นำข้อดีของการดาวน์โหลดทั้งแบบต้นไม้และแบบตาข่ายเข้าไว้ด้วยกัน ด้วยวิธีชังกีสเปรดผู้ชมวิดีโอยังคงเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการข้อมูลด้วยโครงสร้างต้นไม้เหมือนเดิม แต่ในขณะเดียวกันก็สามารถดึงข้อมูลจากผู้ชมรายอื่นๆ เพื่อลดภาระของผู้ให้บริการได้ด้วย

นอกจากจะลดภาระการบริโภคแถบช่องสัญญาณของผู้ให้บริการวิดีโอแล้ว วิธีดังกล่าวยังสามารถช่วยให้ ISP ระบุได้ว่าใครคือผู้ใช้แถบสัญญาณจำนวนมากไปกับการดูวิดีโอ วิธีการนี้อาจละเมิด "กฎแห่งความเป็นกลางในเครือข่าย" ที่กำหนดไว้ว่าข้อมูลทุกบิตควรถูกปฏิบัติต่ออย่างเสมอภาค โดยไม่แยกแยะว่าเป็นข้อมูลอะไร จางให้ความเห็นว่า "ถ้าจำเป็นต้องละเมิด ก็ควรละเมิด เพื่อสร้างความเสมอภาคให้แก่ผู้บริโภค ผู้ที่ใช้แถบช่องสัญญาณมากกับการดูวิดีโอ ควรต้องเสียงเงินมากกว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อรับส่งอีเมล์ และเปิดเว็บเล็กๆ น้อยๆ เทคโนโลยีใหม่เช่นนี้อาจช่วยต่ออายุอินเทอร์เน็ตในยุคที่คนแห่ดูวิดีโอได้นานขึ้นอีกนิด"

ไม่มีความคิดเห็น: