14 ต.ค. 2551

ตรวจภายในไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ตรวจภายใน
ประโยคสั้นๆ นี้ที่ทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่สบายใจไปตามๆ กันหากต้องรับการตรวจ ไม่ว่าจะเป็นหญิงมีบุตรแล้วหรือ หญิงที่ยังไม่แต่งงานก็ตาม อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่า การตรวจภายในเป็นการตรวจทางการแพทย์ที่ผู้หญิงทุกคนจำเป็นต้องตรวจตามความเหมาะสม

ผู้หญิงควรจะตรวจภายในเมื่อไร ตรวจแล้วจะบอกอะไรได้บ้าง เวลาตรวจควรเตรียมตัวมาอย่างไร

คำถามเหล่านี้มีคำตอบ....

การตรวจภายใน ทำได้ทุกอายุของผู้หญิงเลย ถ้าเกิดมีตกขาวผิดปกติ มีเลือดออก ช่องคลอดมีกลิ่น ปวดท้องน้อย สงสัยมีก้อนหรือ มีน้ำในท้อง ในเด็กวัยอนุบาลประถม ก็ตรวจได้ถ้ามีอาการผิดปกติดังกล่าว จะมีเครื่องมืออันเล็กเหมือนที่ตรวจรูจมูก บางครั้งสูตินรีแพทย์ใช้นิ้วก้อยตรวจได้ หรือตรวจทางทวารหนักแทน

เด็กผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์เร็วตั้งแต่วัยรุ่นก็สามารถตรวจได้ เพื่อรักษาโรคทางเพศสัมพันธ์ ตกขาว เลือดออกผิดปกติ ปวดท้องน้อย หรือเกิดโชคร้ายท้องนอกมดลูก เป็นถุงน้ำที่รังไข่ ก็สามารถตรวจภายในวินิจฉัยได้ ส่วนผู้หญิงโสด ถ้าประจำเดือนปกติ ตรวจสุขภาพทั่วไปและอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกปกติ จะเริ่มตรวจภายในเช็คมะเร็งปากมดลูกตอนอายุ 30 ปีขึ้นไปก็ได้

ในการตรวจภายใน สิ่งที่ต้องคำนึงด้วยเสมอเพื่อมิให้วินิจฉัยโรคผิดพลาด คือ

เรื่องประจำเดือน ซึ่งต้องเน้นรายละเอียดและความแม่นยำที่ถูกต้อง ในบางครั้งคำนำหน้าชื่อของผู้หญิงที่ยังเป็นนางสาว มิได้ยืนยันการไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ถ้าเชื่อตามคำนำหน้าชื่ออาจทำให้วินิจฉัยโรคผิดพลาดได้ การสอบถามประวัติของแพทย์และการให้ข้อมูลที่เป็นจริงของผู้ได้รับการตรวจเป็นเรื่องสำคัญมาก ที่เคยเจอมาแล้วก็คือ สูตินรีแพทย์บางคนเกรงใจไม่กล้าถามมาก ปรากฏว่าได้ผ่าตัดสิ่งที่คิดว่าเป็นเนื้องอกในมดลูกที่มีขนาดเท่าอายุครรภ์ 4 เดือนออกไป หลังจากตรวจชิ้นเนื้อกลับพบว่าเป็นเด็กทารก เป็นที่น่าเสียใจว่าเธอถูกตัดมดลูกออกไป โดยที่ไม่มีโอกาสมีบุตรอีก เพราะพยายามปิดบังข้อมูลกับแพทย์ และแพทย์ท่านนั้นก็ไม่นึกว่าเธอจะมีเพศสัมพันธ์จนมีบุตร เพราะลักษณะภายนอกเธอเป็นผู้ดีและเรียบร้อยเหมือนผ้าพับไว้ เพราะฉะนั้นการซักประวัติส่วนตัวอย่างละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์ การใช้ยาคุม จำนวนบุตร การแท้งธรรมชาติ หรือการทำแท้งจะมีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคมาก ขอให้เข้าใจว่าเป็นเรื่องจำเป็นที่แพทย์จำเป็นต้องถามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เด็กผู้หญิงบางคนจะใจแข็งมาก บางครั้งอยู่ที่หอพักเดียวกัน พากันมาส่งเพราะมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องป่อง แพทย์ห้องฉุกเฉินนึกว่าปัสสาวะไม่ออกเลยปวด กำลังจะสวนปัสสาวะให้ ปรากฏว่าเบ่งแป็บเดียวเด็กออกมาเลย ก็เคยพบกันบ่อยๆ

นอกจากนี้ยังมีบางคนที่มารดาพามาตรวจ นึกว่าเป็นโรคท้องป่องท้องมาร นึกว่าใครเสกอะไรเข้าท้อง พอหมอตรวจท้อง ฟังแล้วพบว่ามีเสียงหัวใจอีกดวง ก็ยังไม่ยอมรับ ผู้หญิงเรามักจะใจแข็งจริงๆ แต่พอเอกซเรย์ดูจึงเห็นกระดูกศีรษะ ซี่โครง แขนขา มารดาเข่าอ่อนไปเลยก็มี ส่วนใหญ่มารดาของเด็กสาวมักจะห้ามบอกบิดา เพราะบิดาจะอารมณ์รุนแรงรับไม่ได้ ทั้งที่พ่อแม่ควรให้อภัยแก่ลูกสาว บางเรื่องพลาดแล้วย้อนกลับคืนไม่ได้ แต่โอกาสทำความดีต่อไปของคนเรายังมี อย่าไปด่าว่าหรือทุบตีรุนแรงเลย

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ในบางครั้งระยะที่ขาดประจำเดือนกับขนาดท้องไม่สัมพันธ์กัน เป็นสิ่งที่ต้องเอาใจใส่เสมอ ต้องติดตามดูอาการและได้รับการตรวจครรภ์ตามแพทย์ และใส่ใจประเมินครบกำหนดคลอด

บางคนมีลูกมา 2 – 3 คนแล้ว ท้องลาย ก้นลาย แต่มาบอกหมอสูติว่าท้องแรก เอ้า ท้องแรกก็ท้องแรก แต่เวลาคุณเธอคลอดเราต้องระวัง เพราะท้องแรกจะคลอดช้า ท้องสองและสามจะไวมาก หมอสูติต้องเตรียมพร้อม

เรื่องอาการทางกระเพาะปัสสาวะ มักเกี่ยวข้องกับช่องคลอดและมดลูกเสมอในเรื่องการรักษา เช่น ถ้ากระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อยๆ รักษาไม่หาย ควรนึกถึงการอักเสบเรื้อรังในช่องคลอดด้วย บางครั้งปัสสาวะไม่ออก เพราะมดลูกจากผู้หญิงที่เบ่งลูกหลายคน เอ็นที่ยึดมดลูกจะไม่ตึง ทำให้มดลูกหย่อนมาจุกตรงช่องคลอด กดช่องปัสสาวะทำให้ปัสสาวะไม่ออก 1. มดลูก 3. ช่องคลอด 2. ปากมดลูก 4. คีมปากเป็ด

การเก็บตัวอย่างเซลล์จากปากมดลูกและช่องคลอดนำส่งตรวจหามะเร็งต่อไป

เรื่องควรรู้เพื่อเตรียมตัวรับการการตรวจภายใน ผู้หญิงสามารถตรวจภายในได้ทุกเวลา ยกเว้นช่วงที่มีประจำเดือน แต่ถ้ามีเลือดออกผิดปกติไม่ใช่ประจำเดือน ก็ตรวจ ได้เลยจะได้ดูจุดที่เลือดออก สีของเลือด ปริมาณมากน้อยแค่ไหน วินิจฉัยได้แม่นยำไม่ต้องรอเลือดหยุด ซึ่งควรเตรียมตัวก่อนรับการตรวจภายในดังนี้

•ควรปัสสาวะทิ้งให้หมดก่อน เพื่อที่แพทย์จะได้คลำขนาดมดลูกและปีกมดลูกให้ชัดเจน

•ถ้ามีปัญหาเรื่องกระเพาะปัสสาวะ สูตินรีแพทย์อาจสวนตรวจเพาะเชื้อโรคและให้ยา ปฏิชีวนะตามเชื้อโรคนั้นๆ

• ถ้ามีปัญหาเรื่องตกขาวมีกลิ่น คัน ตกขาวเปลี่ยนสี ไม่ควรสอดยามาเอง ควรรีบมาพบ แพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ตรวจเชื้อได้ถูกต้อง ให้ยาได้ทันท่วงที ถ้าสอดยามา จะมียาเต็มในช่องคลอด จะตรวจไม่ได้

•ไม่ควรใช้น้ำยาล้างลึกเข้าไปในช่องคลอดก่อนมาตรวจมะเร็งปากมดลูก หรือมาตรวจการ เพราะภาวะความเป็นกรดด่างถูกทำลาย เซลล์ที่หลุดลอกออกมาถูกล้างไปหมด

•ไม่ต้องงดอาหารและน้ำดื่มมาในการตรวจภายในมาตรวจได้เลย ทางสูตินรีแพทย์จะ ตรวจคลำเต้านมให้ด้วย ถ้ามีน้ำไหลจากหัวนม จะบีบใส่ slide ไปตรวจเซลล์มะเร็ง

•ในการวินิจฉัยบางโรค เช่น เยื่อบุมดลูกอยู่ผิดที่ อาจตรวจทางทวารหนักร่วมด้วยโดย ใช้นิ้วชี้ตรวจทางช่องคลอด นิ้งกลางตรวจทางทวารหนัก และอีกมือคลำหน้าท้องด้วย

•เวลาตรวจภายในจะเริ่มจาก ดูต่อม Bartholin และต่อม Skene ซึ่งหลั่งสิ่งหล่อลื่นใน ช่องคลอดรวมทั้งกลิ่นด้วย ว่ามามีหนองหรือเป็น cyst ไหม มีการหย่อนด้านหลังของผนังช่องคลอดไหม ตรวจดูว่าหูรูดกระเพาะปัสสาวะหย่อนหรือไม่ ให้เบ่งดูหรือไอดูขณะมีน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะอยู่เต็ม ว่าเล็ดกระเด็นออกมาหรือไม่ มดลูกเคลื่อนต่ำลงมาหรือเปล่า มีหนองอยู่ในที่ปัสสาวะและในช่องคลอดหรือไม่ สังเกตปากมดลูกว่าปลิ้น มีรอยฉีกขาด อักเสบเรื้อรัง หรือมีหนองจากรูมดลูกหรือไม่ จังหวะนี้ก็จะตรวจมะเร็งปากมดลูกจากรูมดลูก รอบคอมดลูก และด้านหลังของช่องคลอด ส่วนลึกต่ำกว่าปากมดลูก นอกจากนี้ก็จะคลำขนาด ตำแหน่ง การเคลื่อนไหวของมดลูก กดแล้วเจ็บหรือไม่ รวมทั้งผิวเรียบหรือไม่ และคลำปีกมดลูก 2 ข้างด้วย เพื่อดูเนื้องอกรังไข่และท่อรังไข่ว่ามีความผิดปกติอย่างไรหรือไม่

การตรวจภายในไม่ใช่เรื่องน่ากลัวแต่อย่างใด แต่จะกลับทำให้ผู้หญิงเรามั่นใจได้ว่าสุขภาพสตรีของตัวเองนั้นปกติดี หรือ ไม่ หรือหากพบความผิดปกติก็จะได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ง่ายต่อการรักษาและหายได้เร็ว ลดโอกาสการสูญเสียต่างๆ ได้มากกว่าค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น: