14 ธ.ค. 2551

ข้อมูลท่องเที่ยวภูเก็ต

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พื้นที่บริเวณเกาะภูเก็ตได้มีการเรียกขานกันมาหลายชื่อ ได้แก่ แหลมตะโกลา มณีคราม จังซีลอน ภูเก็จ (ซึ่งหมายถึงภูเขาแก้ว) จนกลายเป็นคำว่า “ภูเก็ต” เป็นเมืองที่มีมานานตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย โดยตัวเมืองอยู่ที่ถลางซึ่งเป็นเมืองเล็ก ๆ เมืองถลางเดิมมีขุนนางไทยคอยดูแลรักษาผลประโยชน์เพราะฝรั่งชาติฮอลันดามารับซื้อสินค้าจำพวกแร่ ต่อมาถึงรัชกาลที่ 1 พระเจ้ากรุงอังวะยกกองทัพเข้ามารุกรานหัวเมืองฝ่ายตะวันตกแถบชายทะเลของไทยในปี พ.ศ.2328 โดยแบ่งกองทัพยกไปตีเมืองกระ ระนอง ชุมพร ไชยา ตลอดลงไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ขณะนั้นกองทัพกรุงเทพฯ ยังติดพันการศึกที่กาญจนบุรียกมาช่วยไม่ทัน พม่าส่งแม่ทัพชื่อยี่หวุ่น ยกทัพเรือมาตีได้ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า แล้วเลยไปตั้งค่ายล้อมเมืองถลางไว้ ขณะนั้นพระยาถลางถึงแก่กรรมยังไม่ได้ตั้งเจ้าเมืองใหม่ ภริยาเจ้าเมืองถลางชื่อจัน กับน้องสาวชื่อมุก จึงคิดอ่านกับกรรมการทั้งปวงตั้งค่ายใหญ่ขึ้น 2 ค่าย ป้องกันรักษาเมืองเป็นสามารถ พม่าล้อมเมืองอยู่เดือนเศษเมื่อหมดเสบียงก็เลิกทัพกลับไป

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องยศให้วีรสตรีทั้งสองเป็นท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทร เป็นที่น่าภาคภูมิใจแก่ชาวเมืองตลอดมา เกาะถลางหรือเมืองถลางได้เปลี่ยนชื่อเป็นเกาะภูเก็ต หรือเมืองภูเก็ตในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ภูเก็ต ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งอันดามัน เมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก ในด้านความสวยงามของทิวทัศน์ และหาดทราย น้ำทะเลสีฟ้าใส พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกทางการท่องเที่ยวครบครัน เป็นเกาะใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีฐานะเป็นจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ ตั้งอยู่ทางชายฝั่งทะเลตะวันตกของประเทศไทยในน่านน้ำทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย มีพื้นที่ประมาณ 543 ตารางกิโลเมตร ความยาวสุดของเกาะภูเก็ตวัดจากทิศเหนือถึงทิศใต้ประมาณ 48.7 กิโลเมตร และส่วนกว้างที่สุดวัดจากทิศตะวันออกถึงทิศตะวันตกประมาณ 21.3 กิโลเมตร ภูเก็ตแบ่งออกเป็น 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอถลาง และอำเภอกะทู้ภูมิอากาศ

ภูเก็ตมีอากาศแบบฝนเมืองร้อน มีลมพัดผ่านตลอดเวลา อากาศอบอุ่นและชุ่มชื้นตลอดปี มี 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูฝนเริ่มเดือนพฤษภาคม-เดือนพฤศจิกายน ฤดูร้อนเริ่มเดือนธันวาคม-เดือนเมษายน ช่วงเดือนพฤศจิกายน-เมษายน เป็นช่วงที่อากาศดีที่สุดไม่มีฝน ท้องฟ้าแจ่มใส

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอเมือง ภูเก็ต

เขารัง
เป็นเนินเขาเตี้ยๆ อยู่หลังตัวเมืองทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ รถยนต์สามารถขึ้นไปจนถึงยอดเขา เทศบาลจัดเป็นสวนสุขภาพและสวนสาธารณะ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และชมทิวทัศน์ของเมืองภูเก็ต จากยอดเขาจะแลเห็นตัวเมืองภูเก็ต ทะเลกว้าง เกาะเล็ก เกาะน้อย รวมทั้งทิวทัศน์ของเกาะทั้งใกล้และไกล

สะพานหิน
สถานที่พักผ่อนหย่อนใจภายในตัวเมือง อยู่สุดถนนภูเก็ตซึ่งยื่นลงไปในทะเลเล็กน้อย เป็นที่ตั้งของอนุสาวรีย์หลัก 60 ปี ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กัปตันเอ็ดเวิร์ด โธมัสไมล์ ชาวออสเตรเลียผู้นำเรือขุดแร่ลำแรกมาใช้ขุดแร่ดีบุกในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2452

ตึกสมัยเก่า
ในตัวเมืองภูเก็ตส่วนมากเป็นตึกสมัยเก่าแบบยุโรป สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยเมื่อเกือบร้อยปีมาแล้ว เมื่อครั้งกิจการเหมืองแร่เริ่มเจริญใหม่ๆ ตึกสมัยเก่าเหล่านี้ได้รับอิทธิพลทางด้านสถาปัตยกรรมแบบจีนด้วยจึงเรียกว่า สถาปัตยกรรมแบบซิโน-โปรตุกีส ลักษณะตึกสมัยเก่าของภูเก็ตนั้นจะมีส่วนลึกมากกว่าส่วนกว้างและไม่สูงนัก ปัจจุบันจะหาดูได้บริเวณถนนถลาง ถนนดีบุก ถนนพังงา ถนนเยาวราช และถนนกระบี่ นอกจากนี้ยังมีตึกโบราณที่มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมแบบยุโรป ได้แก่ ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต ศาลจังหวัดภูเก็ต และธนาคารนครหลวงไทย เป็นต้น

เกาะสิเหร่
เป็นเกาะขนาดเล็กอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะภูเก็ต อยู่ห่างจากตัวเมืองรวม 4 กิโลเมตร มีเนื้อที่ประมาณ 20 ตารางกิโลเมตร ปัจจุบันนี้ถือเป็นพื้นที่อันเดียวกับเกาะภูเก็ต มีคลองเล็กๆ ชื่อคลองท่าจีนคั่นเท่านั้น ประชากรที่เกาะสิเหร่นี้ส่วนหนึ่งเป็นชาวเล หรือชาวน้ำ ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในจำนวนชาวเลที่อาศัยอยู่ในเกาะภูเก็ต เกาะสิเหร่ เป็นที่ตั้งของสำนักสงฆ์มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่อยู่บนยอดเขา ชายหาดไม่เหมาะสำหรับการการเล่นน้ำ พื้นทรายมีโคลนปน

หมู่บ้านชาวเล
ชาวเลหรือชาวน้ำ หรือชาวไทยใหม่ เป็นชนกลุ่มน้อยของไทย อาศัยอยู่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ส่วนใหญ่อยู่ตามเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ในเกาะภูเก็ตมีชาวเลอาศัยอยู่ที่หาดราไว ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต ประมาณ 17 กิโลเมตร และที่เกาะสิเหร่บริเวณแหลมตุ๊กแก

วัดฉลอง
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 8 กิโลเมตร ออกจากตัวเมืองไปตามทางหลวงหมายเลข 4021 ผ่านสามแยกบริเวณสนามกีฬาสุรกุล เลี้ยวซ้ายไปทางห้าแยกฉลอง วัดฉลองจะอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงห้าแยกฉลองประมาณ 4 กิโลเมตร เป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของภูเก็ต มีรูปหล่อของหลวงพ่อแช่ม และหลวงพ่อช่วง ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของชาวภูเก็ตทั่วไป

อ่าวฉลอง
อยู่ห่างตัวเมือง 11 กิโลเมตร ทางทิศใต้ของเกาะภูเก็ตไปตามทางที่ไปหาดราไว เมื่อถึงห้าแยกฉลองเลี้ยวซ้ายประมาณ 1 กิโลเมตรถึงอ่าวฉลอง มีสะพานไม้ทอดยาวไปในทะเล ชายหาดเป็นรูปโค้งยาวเหยียดมองเห็นทิวมะพร้าวริมหาดเอนลู่ออกทะเล ทะเลบริเวณนี้ไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เพราะหาดเป็นโคลน ที่อ่าวฉลองนี้นักท่องเที่ยวจะเช่าเรือไปเที่ยวตามเกาะต่างๆ หรือเช่าไปตกปลาได้

หาดแหลมกาใหญ่
เป็นหาดเล็กๆ ห่างจากตัวเมือง 16 กิโลเมตร จากห้าแยกฉลอง ใช้ทางหลวง 4024 ทางเข้าอยู่ตรงข้ามวัดสว่างอารมณ์ บริเวณหาดมีเรือให้เช่าไปเที่ยวตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะเฮ เกาะบอน เป็นต้น

หาดราไวย์
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 17 กิโลเมตร เส้นทางจาห้าแยกฉลองไปสู่หาดราไว (ทางหลวง 4024) เป็นเส้นทางที่สวยที่สุดสายหนึ่งของภูเก็ต หาดราไว เป็นหาดที่สวยงามและมีชาวเลอาศัยอยู่

เกาะแก้ว
อยู่ห่างจากหาดราไวประมาณ 3 กิโลเมตร นั่งเรือจากหาดราไวประมาณ 30 นาที มีหาดทรายและธรรมชาติใต้น้ำสวยงามมาก บนเกาะมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่ด้วย

แหลมพรหมเทพ
อยู่ห่างจากหาดราไวประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นแหลมที่อยู่ตอนใต้สุดของเกาะภูเก็ต ชาวบ้านเรียกว่าแหลมเจ้า บริเวณแหลมพรหมเทพเป็นส่วนที่สวยงามที่สุดส่วนหนึ่งของเกาะภูเก็ต เหนือแหลมพรหมเทพเป็นที่ราบสำหรับจอดรถซึ่งอยู่บนหน้าผาสูงริมทะเล จากหน้าผานี้จะมองเห็นแหลมพรหมเทพทอดยาวออกไปในทะเล จะเห็นเกาะหลายเกาะรวมทั้งเกาะแก้ว ทางด้านขวามือจะเห็นแนวหาดทรายของหาดในหานชัดเจน จากบนหน้าผามีทางเดินลงเขาไปจนถึงสุดแหลมพรหมเทพได้ เป็นสถานที่ชมพระอาทิตย์ตกได้งดงามยิ่งนัก

หาดในหาน
เป็นหาดที่อยู่ถัดจากแหลมพรหมเทพขึ้นไปทางทิศเหนือ อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 18 กิโลเมตร มีทางไปได้หลายทาง จะไปจากหาดราไวโดยผ่านหรือไม่ผ่านแหลมพรหมเทพก็ได้ หรือถ้ามาจากห้าแยกฉลองไปทางหาดราไวประมาณ 3 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาไปบ้านใสยวน หนองหาน ประมาณ 4 กิโลเมตร ชายหาดในหานไม่ยาวนัก หาดทรายขาวสะอาด ด้านหลังของชายหาดเป็นบึง ชาวบ้านเรียกว่าหนองหาน ระหว่างทะเลและบึงมีเพียงหาดทรายของหาดในหานขวางกั้นอยู่เท่านั้น ในช่วงฤดูมรสุมระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม คลื่นจะแรงมาก ไม่ควรลงเล่นน้ำเพราะอาจเกิดอันตรายได้

อ่าวเสน
เป็นอ่าวเล็กๆ ติดกับหาดในหานไปทางขวา ผ่านโรงแรมภูเก็ตยอช์ทคลับ เป็นชายหาดเล็กๆ ที่สงบ มีโขดหินน้อยใหญ่ หาดทรายขาวสะอาด

จุดชมวิว
จากหาดในหานไปหาดกะตะน้อยตามเส้นทางถนนรอบเกาะ จุดชมวิวจะอยู่ระหว่าง 2 หาดนี้ จากจุดนี้สามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเวิ้งอ่าวถึง 3 อ่าว คือ อ่าวกะตะน้อย อ่าวกะตะ และอ่าวกะรน ซึ่งเป็นทัศนียภาพที่สวยงามมาก

อ่าวกะตะ
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 17 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตเมื่อถึงห้าแยกฉลองเลี้ยวขวาไปตามทางตามถนนหมายเลข 4028 อ่าวกะตะแบ่งออกเป็น 2 อ่าวคือ อ่าวกะตะใหญ่ กับอ่าวกะตะน้อย ทั้งสองอ่าวมีหาดทรายและชายหาดที่สวยงามเหมาะแก่การเล่นน้ำ และใช้เป็นที่ฝึกดำน้ำ เนื่องจากมีแนวปะการังติดต่อกันไปจนถึงเกาะปูซึ่งอยู่ด้านหน้าหาดกะตะ ปัจจุบันหาดกะตะ เป็นหาดหนึ่งที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน อาทิ สถานที่พัก บริษัทนำเที่ยว ร้านค้า แหล่งบันเทิงต่างๆ ไว้สำหรับบริการนักท่องเที่ยว

อ่าวกะรน
อยู่ถัดจากอ่าวกะตะขึ้นไปทางเหนือมีเพียงเนินเขาเตี้ยๆ คั่นอยู่เท่านั้น แต่ถ้าจะไปที่กลางอ่าวกะรนและหมู่บ้านกะรน มีถนนแยกจากอ่าวกะตะไปอีกประมาณ 3 กิโลเมตร อ่าวกะรนใหญ่กว่าอ่าวกะตะ มีชายหาดยาวเหยียด เหนือชายหาดเป็นเนินทรายสูงๆ ต่ำๆ มีสนทะเลต้นใหญ่ๆ และต้นตาลขึ้นเรียงรายอยู่โดยทั่วไป หาดทรายที่อ่าวกะรนขาวสะอาดและละเอียดมาก

สถานแสดงพันธ์สัตว์น้ำ
สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำ ภูเก็ต Phuket Aquariumเป็นสถานที่จัดแสดงเกี่ยวกับสัตว์น้ำจืด และสัตว์ทะเล มีมากกว่า 100 ชนิดโดยการจัดแสดงในตู้ทรงรูปแบบและขนาดต่างๆและชมการแสดงสัตว์ทะเลในตู้อุโมงค์ที่จุน้ำทะเล200 ตัน และตู้ขนาดใหญ่จุน้ำทะเล 140 ตัน แสดงสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ ต่างๆมากมายชมการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อัตราค่าเข้าชม คนไทยผู้ใหญ่ 50 บาท เด็ก 20 บาท ต่างชาติ ผู้ใหญ่ 100 บาท เด็ก 50 บาทเปิดบริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.30 - 16.00 น. ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมที่0-7639-1126 ตั้งอยู่บริเวณปลายสุดของแหลมพันวา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์ได้ที่ http://www.phuketaquarium.org โทร. 0-7639-1126 แฟกซ์ 0-7639-1406

สวนผีเสื้อและอควาเรียมภูเก็ต
ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร เดินทางไปตามถนนเยาวราชแล้วเลี้ยวซ้ายที่สามแยกหมู่บ้านสามกองไปเล็กน้อย เป็นสถานที่รวบรวมและอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตในเขตร้อนจำพวกผีเสื้อ แมลง ปลา และปะการัง โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เหมือนกับธรรมชาติ เปิดให้เข้าชมทุกวันตั้งแต่เวลา 09.00-17.30 น.

หมู่บ้านไทยและสวนกล้วยไม้ภูเก็ต
อยู่ห่างจากตัวเมือง 3 กิโลเมตร บนถนนเทพกษัตรีย์ ภายในมีการแสดงศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน การแสดงของช้าง ฟาร์มกล้วยไม้ ฯลฯ

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอกระทู้

อ่าวป่าตอง
ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 15 กิโลเมตร ตามเส้นทางถนนวิชิตสงคราม หรือ ทางหลวง 4020 ไป 9 กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าสู่ทางหลวง 4029 ไปอีก 6 กิโลเมตร เป็นอ่าวที่มีความโค้งมาก หาดทรายงดงามเป็นแนวยาว 9 กิโลเมตร น้ำทะเลใสสะอาด เหมาะแก่การเล่นน้ำมากที่สุด

หาดกะหลิม
ไปตามเส้นทางเดียวกับหาดป่าตอง แต่เมื่อถึงตัวหาดป่าตอง จะมีทางแยกให้เลี้ยวขวาก็จะถึงหาดกะหลิมเป็นหาดเล็กๆ มีโขดหินและแนวปะการังและมีสถานที่พักริมหาด

หาดกมลา
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ต 26 กิโลเมตร จากอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์ท้าวศรีสุนทร เลี้ยวซ้ายผ่านหาดสุรินทร์ แหลมสิงห์ ก็จะถีงหาดกมลาเป็นแนวหาดทรายยาวประมาณ 2 กิโลเมตร นับเป็นหาดหนึ่งที่สงบเงียบ มีสถานที่พักไม่มากนัก

สถานที่น่าสนใจ ในเขตอำเภอถลาง

อนุสาวรีย์วีรสตรี
อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์และท้าวศรีสุนทร ตั้งอยู่ที่สี่แยกท่าเรือ เขตอำเภอถลาง ก่อนถึงตัวเมืองภูเก็ต 12 กิโลเมตร

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติถลาง
ตั้งอยู่ห่างจากอนุสาวรีย์วีรสตรีประมาณ 50 เมตร ตัวอาคารได้รับการออกแบบให้มีรูปทรงเป็นบ้านท้องถิ่นของชาวภูเก็ต มี 2 หลัง อาคารหลังแรกจัดแสดงเรื่องก่อนประวัติศาสตร์ชายฝั่งทะเลตะวันตก สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์เมื่ออารยธรรมอินเดียเผยแพร่เข้ามาประวัติและวิธีการทำเหมืองแร่ดีบุก และสวนยางพารา ศิลปะพื้นบ้านและชาติพันธุ์วิทยาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่บริเวณคาบสมุทรมลายู สำหรับอาคารหลังที่สองจัดแสดงฉากและเรื่องราวของศึกถลาง ชีวิตความเป็นอยู่และประเพณีที่น่าสนใจของชาวจีนในภูเก็ต และเรื่องราวความเป็นมาและถิ่นอาศัยของชาวเลในภูเก็ต

วัดพระทอง (วัดพระผุด)
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 20 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตเลยที่ว่าการอำเภอถลางไปเล็กน้อยจะมีทางแยกขวามือเข้าวัดพระทอง วัดนี้มีพระพุทธรูปผุดขึ้นจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ เมื่อคราวศึกพระเจ้าปะดุง ยกพลมาตีเมืองถลาง พ.ศ. 2328 ทหารพม่าพยายามขุดพระผุดเพื่อนำกลับไปพม่า แต่ขุดลงไปคราวใดก็มีฝูงแตนไล่ต่อยจนต้องละความพยายาม ต่อมาชาวบ้านได้นำทองหุ้มพระพุทธรูปที่ผุดจากพื้นดินเพียงครึ่งองค์ ดังปรากฎอยู่จนถึงปัจจุบัน

วัดพระนาง
สร้างอยู่ห่างจากตัวเมือง 20 กิโลเมตร ไปตามเส้นทางถนนเทพกษัตรีย์ ถึงสี่แยกอำเภอถลาง ตั้งอยู่ทางด้านซ้ายเป็นวัดที่เก่าแก่ และเป็นแหล่งประวัติศาสตร์เมืองถลางที่สำคัญแห่งหนึ่ง เพราะเคยเป็นค่ายสู้รบกับพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2328 นอกจากนี้ภายในอุโบสถเก่าแก่ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปดีบุกที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลก 3 องค์เรียกว่า “พระในพุง” หรือ “พระสามกษัตริย์” ซึ่งอยู่ในพระอุทรของพระพุทธรูปหล่อองค์ใหญ่ 3 องค์อีกชั้นหนึ่ง

อุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 20 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตไปอำเภอถลาง เมื่อถึงสี่แยกในเขตเมืองถลางซึ่งอยู่ห่างจากตัวภูเก็ต 18 กิโลเมตร แยกไปทางซ้ายมืออีกประมาณ 2 กิโลเมตร ได้รับการจัดตั้งเป็นอุทยานสัตว์ป่า เมื่อเดือนกรกฎาคม 2512 มีเนื้อที่ 13,925 ไร่ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีสัตว์ป่าหลายชนิดอยู่ตามธรรมชาติ และมีพันธุ์ไม้หายากคือ “ปาล์มหลังขาว” โดยมีแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ดังนี้

น้ำตกโตนไทร
อยู่ห่างจากตัวเมือง 22 กิโลเมตร ไปตามถนนเทพกษัตรีย์ถึงสี่แยกอำเภอถลางแล้วเลี้ยวขวาไป 3 กิโลเมตร ก็จะถึงบริเวณน้ำตกโตนไทร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก น้ำจะไหลแรงในช่วงฤดูฝน มีต้นไม้ใหญ่น้อยร่มรื่นเหมาะแก่การพักผ่อน

น้ำตกบางแป
ไปจากตัวเมืองถึงอนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์ท้าวศรีสุนทรแล้วเลี้ยวขวาไปทางตำบลป่าคลอก 7 กิโลเมตร เป็นน้ำตกขนาดเล็ก มีสวนรุกขชาติร่มรื่น และสถานอนุบาลชะนี ซึ่งเป็นโครงการเพื่อฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจของชะนีที่ถูกจับมาเลี้ยง ให้พร้อมที่จะกลับคืนสู่ป่าต่อไป

สำหรับผู้ที่ต้องการเดินป่าสัมผัสธรรมชาติ ทางอุทยานฯ ได้จัดทำทางเดินเท้าไว้ 3 เส้นทาง ขอคำแนะนำได้จากเจ้าหน้าที่ศูนย์ศึกษาธรรมชาติในเขตอุทยานฯ

นักท่องเที่ยวผู้ที่ประสงค์จะเข้าพักแรมที่อุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว ต้องทำหนังสือขออนุญาตถึงผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ บางเขน กรุงเทพฯ โทร. 579-4847 หรือติดต่อโดยตรงที่หัวหน้าอุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว ที่ทำการอุทยานสัตว์ป่าเขาพระแทว ถนนเทพกษัตรีย์ อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต 83100

หาดสุรินทร์
ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 24 กิโลเมตร จากตัวเมืองภูเก็ตใช้เส้นทาง 402 เมื่อถึงอนุสาวรีย์วีรสตรีแล้วไปทางซ้ายมืออีก 12 กิโลเมตร เป็นหาดที่อยู่ริมเชิงเขา บริเวณเหนือหาดมีต้นสนทะเลต้นใหญ่ๆ อยู่เรียงราย และบริเวณเหนือหาดด้านขวามือเป็นสนามกอล์ฟ หาดสุรินทร์ชายหาดไม่เหมาะแก่การเล่นน้ำ เพราะมีลักษณะลาดชัน และในฤดูมรสุมจะมีคลื่นลมจัดมาก

แหลมสิงห์
จากหาดสุรินทร์ประมาณ 1 กิโลเมตร จะมีทางแยกซึ่งเป็นถนนส่วนบุคคลเข้าสู่หาดแหลมสิงห์ อาจจะขออนุญาตผ่านถนนส่วนบุคคล หรือเดินเลี่ยงไปอีกทางหนึ่งซึ่งเป็นทางเดินไปตามลาดเขาลงสู่ชายหาด หาดทรายแหลมสิงห์เป็นหาดเล็กๆ ทรายขาวสะอาด ทางซ้ายมือของหาดเป็นแหลมเล็กๆ ที่มีโขดหินสวยงาม เรียกว่า แหลมสิงห์

อ่าวบางเทา
อยู่ห่างจากตัวเมืองภูเก็ตประมาณ 24 กิโลเมตร ตามถนนเทพกษัตรีย์ไปทางเหนือสู่อนุสาวรีย์ท้าวเทพกษัตรีย์ท้าวศรีสุนทร จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนศรีสุนทรไปอีก 12 กิโลเมตร จนถึงหาดสุรินทร์เลี้ยวขวาไปอีก 2 กิโลเมตร ถึงอ่าวบางเทา เป็นหาดทรายทอดตัวยาวเหมาะสำหรับการเล่นน้ำและกีฬาทางน้ำต่างๆ

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมาก ๆ นะครับ