วิธีการเรียนภาษาอังกฤษให้ประสบความสำเร็จด้วยตนเอง* ต้องประกอบด้วย *การฟัง การอ่าน การพูด การเขียน*
การฟังอาศัยการฝึกทั้ง 2 รูปแบบควบคู่กันไป ได้แก่ การฝึกฟังแบบจับใจความทั้งหมด และการฝึกฟังแบบลงรายละเอียด หมั่นอ่านหนังสือเป็นประจำ
*เพื่อฝึกฝนการสร้างมโนภาพและฝึกความเร็วในการอ่าน
*ศึกษาไวยากรณ์และคำศัพท์
*เพื่อใช้ในการถ่ายทอดกระบวนความคิดออกมาเป็นคำพูด
*การจดจำไวยากรณ์ได้อย่างแม่นยำจะทำให้เราพูดออกมาได้อย่างเป็นระบบ ฝึกเขียนบ่อย ๆ
*เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว ทั้งยังเป็นการฝึกคิดอย่างมีเหตุมีผลและเป็นระบบอีกด้วย
*วิธีการเรียนภาษาอังกฤษให้ประสบความสำเร็จด้วยตนเอง***
1. การฟัง (Listening) อาศัยการฝึกทั้ง 2 รูปแบบควบคู่กันไป ได้แก่
1) การฝึกฟังแบบจับใจความทั้งหมด
- ในขณะที่ฟัง ให้ฝึกจับใจความโดยการสร้างมโนภาพตาม โดยเราจะต้องพยายามจับคำหลัก (key words) และแปลงเป็นภาพให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ท่องจำคำศัพท์ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจและนำไปแปลงเป็นมโนภาพได้อย่างรวดเร็ว
- อ่านหนังสือภาษาอังกฤษมาก ๆ เพื่อเรียนรู้ว่าเจ้าของภาษาเขาเลือกใช้คำศัพท์อย่างไร ในแต่ละสถานการณ์
2) การฝึกฟังแบบลงรายละเอียด
- ฝึกฟังอย่างตั้งใจและพยายามสังเกตว่า เจ้าของภาษาออกเสียงอย่างไรและให้ฝึกออกเสียงตามโดยการพูดเลียนเสียงแบบคำต่อคำ
- หัดสังเกตว่า เจ้าของภาษาเขาใช้ไวยากรณ์และคำศัพท์อย่างไรในบริบทหนึ่ง ๆ และเขาพูดเป็นจังหวะจะโคน (intonation) อย่างไร
- ฝึกฟังภาษาอังกฤษบ่อย ๆ จากการชมภาพยนตร์ต่างประเทศ ฟังเพลง หรือฟังข่าวจากอินเตอร์เน็ต เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การดูหนังภาษาต่างประเทศนั้น เราควรฝึกฟังภาษาอังกฤษโดยไม่อ่านบทบรรยาย (subtitle) และให้จับสีหน้าและความรู้สึกของตัวละคร พร้อมกับให้ลองจินตนาการว่า เราเป็นตัวละครตัวหนึ่งในหนังเรื่องนั้น ๆ ด้วย จะทำให้ดูหนังอย่างสนุกสนานและเป็นการฝึกสมองข้างขวาทำให้เข้าใจภาษาอังกฤษได้ง่ายยิ่งขึ้น
2. การอ่าน (Reading)
1) สร้างฉันทะในการอ่าน โดยพยายามตระหนักถึงประโยชน์ของการอ่าน เช่น การอ่านจะทำให้เราฉลาดขึ้น ช่วยเปิดโลกทัศน์ให้กว้างขวางยิ่งขึ้น และช่วยพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้อีกด้วย เป็นต้น
2) รู้จักเปรียบเทียบข้อมูลที่เรากำลังอ่านกับข้อมูลเดิมที่เราเคยรับรู้มาว่ามีความเหมือนหรือแตกต่างกันหรือ ไม่อย่างไร และเรามีความคิดอย่างไรกับข้อมูลใหม่ ๆ เหล่านั้น โดยให้เราเขียนความคิดเห็นกำกับไว้ในหนังสือด้วย เพื่อฝึกการคิดอย่างมีเหตุมีผล และช่วยให้เราจดจำข้อมูลได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น
3) ขีดเขียนหรือทำสัญลักษณ์ตรงประเด็นที่สำคัญ เพื่อช่วยให้ง่ายต่อการจดจำ
4) แปลงคำหลักเป็นมโนภาพจะช่วยให้อ่านได้เร็ว เข้าใจง่าย และอ่านได้นานโดยไม่เหนื่อย
5) จดประเด็นที่ได้จากการอ่าน โดยเลือกจดจากมโนภาพ เฉพาะภาพที่สำคัญและชัดเจนเท่านั้น และในกรณีที่เราจะต้องอธิบายประเด็นต่าง ๆ ให้ผู้อื่นฟัง ให้เราแปลงประเด็นต่าง ๆ ที่เราจดไว้เป็นภาพอีกที และพูดอธิบายไปตามมโนภาพนั้น ๆ วิธีนี้นอกจากจะช่วยประหยัดเวลาในการจดแล้วยังช่วยให้เราอธิบายสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างตรงประเด็นและชัดเจนอีกด้วย
6) หมั่นอ่านหนังสือเป็นประจำ เพื่อฝึกฝนการสร้างมโนภาพและฝึกความเร็วในการอ่าน
3. การพูด (Speaking)
1) ก่อนพูดทุกครั้ง ผู้พูดจะต้องรู้ก่อนว่า ตนเองกำลังจะพูดอะไร พูดไปทำไม และพูดแล้วจะเกิดอะไรขึ้น
และในกรณีที่จะต้องพูดโน้มน้าวจิตใจคน ตัวผู้พูดเองจะต้องเชื่อในสิ่งที่จะพูดก่อน จึงจะสามารถพูดจูงใจให้ผู้อื่นคล้อยตามได้ ฉะนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ประเด็นที่จะพูดซึ่งจะต้องมีความชัดเจนที่สุดโดยให้คิดประเด็นต่าง ๆ เป็นภาษาไทยก่อนแล้วจึงค่อยแปลงเป็นภาษาอังกฤษอีกที
2) พยายามฝึกพูดจากไวยากรณ์ง่าย ๆ ก่อน เช่น ใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไร และอย่างไร เป็นต้น
3) ศึกษาไวยากรณ์และคำศัพท์ เพื่อใช้ในการถ่ายทอดกระบวนความคิดออกมาเป็นคำพูด การจดจำ
ไวยากรณ์ได้อย่างแม่นยำจะทำให้เราพูดออกมาได้อย่างเป็นระบบ ไม่วกวน และยิ่งเรามีคำศัพท์มาก
เท่าไร ยิ่งช่วยให้เราพูดจาตรงประเด็น ชัดเจน และไม่เยิ่นเย้อ
4) ฝึกเลียนเสียงและสำเนียงของเจ้าของภาษาชนิดคำต่อคำ เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีไวยากรณ์ คำศัพท์ และ
ประเด็นที่เฉียบคมขนาดแค่ไหนก็ตาม แต่ถ้าเราพูดคนละสำเนียง พูดออกเสียงไม่ถูกต้อง พูดไม่ชัด หรือ
พูดเร็วเกินไป อีกฝ่ายก็ไม่เข้าใจอยู่ดี ฉะนั้น เราจึงต้องพยายามจดจำสำเนียงและวิธีการออกเสียงของ
เจ้าของภาษาเสียตั้งแต่วันนี้ เพื่อพัฒนาทักษะในการพูดให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น
5) ฝึกพูดภาษาอังกฤษกับตัวเองจนเกิดความเคยชิน เพราะการพูดตะกุกตะกักนั้นก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เจ้าของภาษาฟังเราไม่รู้เรื่อง ฉะนั้น การฝึกฝนจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะช่วยให้เราพูดภาษาอังกฤษได้ อย่างคล่องแคล่วและชัดเจนมากยิ่งขึ้น
6) พูดจากใจ โดยเวลาพูดให้สร้างมโนภาพก่อน และพูดตามภาพจะทำให้คำพูดที่ออกมาเข้าใจง่าย ชัดเจน และมีพลัง
4. การเขียน (Writing)
1) สร้างอารมณ์ก่อนเขียน และหากต้องการเขียนเพื่อโน้มน้าวจิตใจผู้อื่น ตัวเราเองจะต้องเชื่อในสิ่งที่ตนเองกำลังจะเขียนเสียก่อน จึงจะทำให้ผู้อ่านคล้อยตามได้
2) เข้าใจในสิ่งที่ตนเองกำลังจะเขียนอย่างถ่องแท้ ในทุกด้านและทุกประเด็น
3) เขียนอย่างมีประเด็น น่าสนใจ และสามารถดึงดูดความสนใจของผู้อ่านได้ตั้งแต่ต้นจนจบ แต่การจะเขียนเช่นนั้นได้ ก่อนอื่นเราจะต้องถามตัวเองเสียก่อนว่า ถ้าเป็นตัวเราเอง งานเขียนอย่างไรจึงจะทำให้เรายอมเสียสละเวลาอันมีค่า ยอมอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ และถ้าเป็นตัวเรา เราอยากได้อะไรจากสิ่งที่เราอ่าน เป็นต้น หากเราตอบประเด็นเหล่านี้ได้ทั้งหมด งานเขียนของเราย่อมมีคุณภาพ ควรค่าแก่การอ่านและทำความเข้าใจ
4) เขียนแต่ละประโยคอย่างชัดเจน อ่านแล้วเข้าใจได้ทันที มีเหตุมีผลที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงมาสนับสนุนในทุก ๆ ประเด็นไม่มีการเขียนขึ้นมาลอย ๆ โดยเด็ดขาด
5) เลิกนิสัยบังคับโลกและเลิกหลงตัวเองว่า ทุกคนจะต้องเชื่อในสิ่งที่เราพูดเสมอ แต่ให้เปิดใจให้กว้างและให้มองอีกมุมว่า คนอื่นอาจจะเชื่อหรือไม่เชื่อเราก็เป็นได้ แต่เราจะไม่ยอมแพ้และจะพยายามหาเหตุหาผลทุกวิถีทางให้อีกฝ่ายเชื่อให้จงได้ เมื่อเราคิดได้เช่นนี้งานเขียนของเราก็จะไม่ถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบของกำปั้นทุบดิน แต่จะเต็มไปด้วยประเด็นสนับสนุนมากมาย อ่านแล้วมีน้ำหนัก และน่าเชื่อถือ
6) เขียนจากใจไม่ใช่เขียนจากสมอง เพราะการเขียนจากสมองหรือจากความคิดนั้นจะทำให้มีประเด็นมากมายแต่ไม่ชัดซักประเด็น อ่านแล้วเหนื่อยและสับสน แต่การเขียนจากใจ จะทำให้งานเขียนน่าสนใจ น่าติดตาม และสามารถโน้มน้าวจิตใจของผู้อ่านได้ เพราะการเขียนจากใจจะต้องอาศัยมโนภาพเข้ามาช่วย เมื่อมีภาพย่อมมีความรู้สึก ความรู้สึกย่อมมาจากหัวใจไม่ใช่จากความคิด ฉะนั้น งานเขียนที่ถ่ายทอดออกมาจากหัวใจย่อมเข้าถึงจิตใจของผู้อ่านได้อย่างง่ายดาย
7) ศึกษาไวยากรณ์และฝึกท่องคำศัพท์ ไวยากรณ์ที่ชัดเจนและคำศัพท์ที่หลากหลายจะช่วยให้งานเขียนมีความกระชับ ตรงประเด็น และเข้าใจง่ายมากยิ่งขึ้น
8) ฝึกเขียนบ่อย ๆ เพื่อให้เกิดความคล่องแคล่ว ทั้งยังเป็นการฝึกคิดอย่างมีเหตุมีผลและเป็นระบบอีกด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น