15 พ.ค. 2551

วิตามินบี 12

วิตามินบี 12 เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำ การปรุงอาหารโดยทั่วๆ ไปจะไม่ทำลายวิตามินบี 12 มากนัก แต่จะถูกทำลายได้ง่ายโดยกรด ด่างแก่ และแสงสว่าง

ประโยชน์ต่อร่างกาย
- วิตามินบี 12 ช่วยในการสังเคราะห์ DNA และการเจริญเติบโตตามปกติของเซลล์เม็ดเลือดแดง
- เป็นส่วนสำคัญในการทำงานของระบบประสาท
- เป็นสิ่งจำเป็นในการเผาผลาญโปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรต

แหล่งที่พบ
อาหารที่มีวิตามินบี 12 ได้แก่ เนื้อสัตว์ ปลา ไข่ นมและผลิตภัณฑ์นม

ปริมาณที่แนะนำ

เด็ก แรกเกิด - 3 ปี 0.3-0.7 ไมโครกรัมต่อวัน
4 - 6 ปี 1.0 ไมโครกรัมต่อวัน
7 - 10 ปี 1.4 ไมโครกรัมต่อวัน
วัยรุ่นและผู้ใหญ่ 10 ปีขึ้นไป 2.0 ไมโครกรัมต่อวัน
หญิงตั้งครรภ์ 2.2 ไมโครกรัมต่อวัน
หญิงให้นมบุตร 2.6 ไมโครกรัมต่อวัน

ผลของการขาด
การขาดวิตามินบี 12 จะทำให้ไขกระดูกไม่สามารถผลิตเม็ดเลือดแดงให้เจริญเต็มที่ได้ เม็ดเลือดแดงจึงไม่แบ่งตัว และจะมีขนาดใหญ่ เมื่อเข้าสู่กระแสเลือด จึงนำฮีโมโกลบินไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้น้อยลง ทำให้เกิดโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง อาการคือผิวหนังมีสีเหลืองอ่อนๆ คลื่นไส้ หายใจขัด ท้องอืด น้ำหนักลด ลิ้นอักเสบ มีความผิดปกติของระบบประสาท และเดินไม่ตรงหรือเสียความสมดุลของร่างกาย เป็นต้น

ปัจจัยที่ทำให้ขาดวิตามินบี 12
สาเหตุของการขาดวิตามินส่วนใหญ่จะเนื่องมาจากการที่ร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินได้ ปัจจัยทางพันธุกรรมก็มีผลต่อการขนส่งและการดูดซึมวิตามิน

การเป็นโรคโลหิตจางชนิดร้ายแรง การติดสุรา โรคตับ โรคไต โรคต่อมธัยรอยด์ เป็นไข้เรื้อรัง การติดเชื้อ และมีความเครียดแบบต่อเนื่อง ก็ทำให้ขาดวิตามินบี 12 ได้
การตัดกระเพาะอาหารออกบางส่วน ท้องเสียเรื้อรัง หรือเซลล์เยื่อบุกระเพาะอาหารและลำไส้เสื่อม ทำให้การดูดซึมผิดปกติได้
ในผู้สูงอายุจะขาดวิตามินเนื่องจากความผิดปกติของระบบน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร ทำให้การดูดซึมวิตามินจากอาหารเป็นไปได้ไม่สมบูรณ์

คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดโดยไม่รับประทานไข่ นม และผลิตภัณฑ์นม จะทำให้ขาดวิตามินบี 12 กรณีนี้ควรรับประทานวิตามินเสริม

ผลของการได้รับมากเกินไป
อาการข้างเคียงของการใช้อาหารเสริมวิตามินบี ถ้าใช้แบบรับประทานจะไม่ค่อยปรากฏ หากไม่เกินวันละ 100 มิลลิกรัม นอกจากการใช้แบบฉีด อาจมีอาการแพ้บ้างแต่น้อยราย คืออาจทำให้ผิวหนังแดงหรือคัน หายใจมีเสียงดังฮืดๆ นอกจากนี้ยังมีอาการบางอย่างที่พบได้ คือ ท้องร่วง หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์
มีรายงานว่าการได้รับวิตามินบี 12 มากเกินไป อาจจะกระตุ้นการสลายตัวของกรดนิวคลีอิก ทำให้กรดยูริกเพิ่มขึ้น จึงควรระวังในผู้ป่วยโรคเก๊าต์

สารหรืออาหารเสริมฤทธิ์ ได้แก่ วิตามินบีรวม กรดโฟลิก
วิตามินบี 6 และเหล็ก ช่วยในการดูดซึมวิตามินบี 12

สารหรืออาหารต้านฤทธิ์ ได้แก่ ยากันชัก และยาเม็ดคุมกำเนิด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น