บางคนอาจคิดว่าแว่นกันแดดไม่จำเป็นต่อชีวิต แต่คุณไหมว่า
แว่นกันแดดเป็นมากกว่าเครื่องประดับตามแฟชั่น ถ้าสายตาโดนแดดบ่อยๆ
อาจทำให้เกิดความเสื่อมในลูกตาและนำไปสู่โรคทางสายตามากมาย
กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : ข่าวชิ้นเล็กๆ
ชิ้นหนึ่งในออสเตรเลียเมื่อปลายปีที่แล้ว อาจจะไม่ค่อยสะดุดตาเท่าไหร่นัก
แต่ก็เป็นข่าวที่กระตุ้นให้หันมาเห็นถึงความสำคัญของอุปกรณ์ข้างกายอย่างแว่นกันแดด
นอกจากจะใส่เพื่อความสวยงามใส่คาดผมหรืออะไรก็ตาม
แต่ยังเป็นอุปกรณ์สำคัญในการถนอมดวงตา ควรฝึกให้ลูกหลานใส่ตั้งแต่ยังเล็ก
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า
ที่ออสเตรเลียมีการออกกฎให้เด็กนักเรียนสวมแว่นตากันแดดที่ชาวออสซี่เรียกกันว่า
'ซันนี่ส์' หนึ่งในเครื่องแบบของโรงเรียน
เนื่องจากฤดูร้อนที่ออสเตรเลียมีรังสียูวีสูงกว่าฤดูหนาวถึง 5 เท่า
ทางโรงเรียนได้มีคำสั่งให้เด็กอนุบาลไปจนถึงประถม 6
สวมแว่นกันแดดเมื่อออกไปเล่นที่สนาม
โดยมีโรงเรียนของรัฐนำร่องชื่อโรงเรียนอาร์นคลิฟฟ์ ที่ซิดนีย์
และต่อไปจะมีการขยายกฎไปถึงโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ
*แสงแดดกับดวงตา*
ถ้าจะถามว่า แว่นกันแดดจำเป็นแค่ไหนสำหรับบ้านเรา คงตอบได้ไม่ยาก
ถ้าดูจากสภาพอากาศและปริมาณแสงแดด
โดยเฉพาะแถบภาคเหนือและภาคกลางของประเทศขึ้นชื่อว่ามีปริมาณแสงแดดมากที่สุด
ทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตามมา
และยังช่วยให้พืชพันธ์อุดมสมบูรณ์มากกว่าในเขตหนาว
นอกจากประโยชน์นานัปการของแสงแดดแล้ว สำหรับเมืองร้อนอย่างบ้านเรา
แสงแดดยังมีภัยต่อร่างกาย หากได้รับมากเกินไป
อาจทำให้เกิดโรคทางผิวหนังอย่างมะเร็งผิวหนัง ผิวไหม้แดด โรคเอสแอลอี (SLE)
เริม ฝ้า-กระ โรคผิวด่างแดด ฯลฯ รวมไปถึงโรคทางสายตาที่มักพบบ่อย
โดยมีสาเหตุจากการได้รับแสงแดดมากเกินไป
"เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน สายตาโดนแดดบ่อย ทำให้เกิดความเสื่อมในลูกตา
ตั้งแต่เยื่อบุตาขาว เลนส์แก้วตา หรือแม้กระทั่งจอประสาทตา โรคที่พบบ่อยคือ
ต้อลม มีลักษณะเป็นเนื้อนูนๆ ข้างตาดำ แต่ยังไม่เข้ามาในตาดำ และ ต้อเนื้อ
จะเห็นเป็นลักษณะเนื้อพุ่งเข้าตาดำ อาการคือ ถ้าโดนแดด โดนลมมากเกินไป
ก็จะเคืองตา น้ำตาไหล ตาแดงง่าย" นพ.กีรติ พึ่งพาพงศ์ จักษุแพทย์ ประจำ รพ.
บีเอ็นเอ็ช อธิบายให้ฟัง
ทั้ง 2 โรคนี้เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาวที่โดนแดดมากเกินไป
พบในคนไทยมากกว่าคนในประเทศแถบหนาวหรือแถบตะวันตก คนต่างจังหวัดที่ทำงานนอกบ้าน
โดยไม่ป้องกันก็จะพบมากกว่าคนที่ทำงานในออฟฟิศหรือคนที่ได้รับการป้องกัน
โรคเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายมากนัก นอกจากว่า ต้อเนื้อจะเข้าไปในตาดำ
ก็ต้องใช้วิธีลอกออกมา
"ส่วนอีกโรคหนึ่ง ก็คือ ต้อกระจก อาการของโรคนี้ก็คือ ตาจะค่อยๆ มัวลง
เลนส์ตาที่โดนแดดมากเกินไป ก็ทำให้เกิดโรคต้อกระจกเร็วขึ้น
ถ้ารู้และรักษาได้ทันเวลาก็จะไม่มีอันตรายมาก ส่วนมากจะเป็นในคนที่อายุ 60
ปีขึ้นไป
แต่จะเป็นเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปริมาณแสงแดดที่ได้รับและสะสมในร่างกายมากน้อยแค่ไหน
คนที่โดนแดดมากก็มีโอกาสเป็นมากกว่า
ส่วนใหญ่คนที่มีอายุมากมักจะเป็นโรคต้อกระจก
เพียงแต่แดดเป็นตัวกระตุ้นให้เร็วขึ้น แต่ก็มีปัจจัยอื่นๆ
อีกอย่างคนที่เป็นโรคเบาหวาน หรือคนที่เคยเกิดอุบัติเหตุกระแทกที่ตา
ก็จะทำให้เป็นโรคต้อกระจกเร็วขึ้น"
นพ. กีรติ อธิบายต่อว่า
การสวมใส่แว่นกันแดดจะช่วยกันแสงแดดไม่ให้เข้าไปทำลายเยื่อบุตาขาวหรือเลนส์แก้วตา
ถ้ากันยูวีได้มาก ก็จะช่วยป้องกันโรคพวกนี้ได้มากขึ้น
ดังนั้นแว่นกันแดดที่ดีจึงควรจะกันแสงยูวีได้ ใส่สบาย ใส่แล้วเข้ากับรูปหน้า
ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นยี่ห้อไหน สีทึบหรือไม่ทึบ
"ถ้าต้องออกแดดเป็นประจำใส่แว่นกันแดดตั้งแต่เด็กยิ่งดี
เพราะโรคเกี่ยวกับตาที่เกิดจากการโดนแดดนั้นเป็นการสะสมเรื่อยๆ
ไม่ใช่โดนแดดแล้วเป็นเลย ยิ่งถ้าเล่นกีฬากลางแจ้งตั้งแต่เด็ก
ยิ่งต้องใส่แว่นกันแดด เหมือนการทาซันบล็อกตั้งแต่เด็ก
ในอนาคตก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งผิวหนังน้อยลง"
การใส่แว่นกันแดดเพื่อช่วยลดความเสี่ยงจากโรคทางสายตา ถ้าจะให้มีประสิทธิภาพ
นพ.กีรติบอกว่า ต้องใส่อย่างสม่ำเสมอ
"ไม่ใช่ว่าใส่แว่นกันแดดแค่วันเดียว แล้วจะไม่เป็น ไม่ใช่อย่างนั้น
ต้องใส่เป็นประจำ จะได้ช่วยลดการสะสมของแสงยูวีในร่างกายให้น้อยลง"
ทุกวันนี้แว่นกันแดด ไม่ได้มีไว้แค่ปกป้องสายตาจากแสงยูวีเท่านั้น
เพราะมันได้กลายมาเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สร้างอิมเมจของเหล่าดารา
นักร้องและศิลปินชื่อดัง สำหรับผู้บริโภคแล้ว (ถ้าไม่อยากเชย)
ควรจะพิจารณาดีไซน์และรูปทรงก่อนหามาใส่
สำหรับดีเจอย่าง มิตรารุณ บ่อจักรพันธ์ หรือ มิตตี้
แว่นกันแดดดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ บางวันเขาพกแว่นกันแดดติดตัวถึง 5
อัน ด้วยเหตุผลส่วนตัวที่ว่า
"รู้สึกว่าเวลาใส่แว่นแต่ละอันแล้วคาแรคเตอร์จะเปลี่ยนไปตามแว่น
มันทำให้เราได้สนุกกับการแต่งตัว"
มิตตี้เริ่มใส่แว่นกันแดดตั้งแต่สมัยมัธยมปลาย
ด้วยการใส่แว่นตามแฟชั่นของศิลปินที่ตัวเองชื่นชอบ
พร้อมกับศึกษาความสำคัญของแว่นตาในฐานะแฟชั่นที่มาพร้อมกับวงดนตรีในแต่ละยุค
"ถ้าเป็นแว่นกันแดดทรงคลาสสิคอย่าง Aviators ซึ่งเป็นดีไซน์ของเรย์แบน
ก็จะเป็นแว่นที่พวกร็อคสตาร์ชอบใส่มาก บางคนอาจจะรู้จักว่าเป็นแว่นสิบล้อ
หรือแว่นตี๋ใหญ่ ลองสังเกตในประวัติศาสตร์วงร็อค
ส่วนใหญ่ไม่น่าจะพลาดแว่นทรงนี้ เสก โลโซยังใส่เลย หรืออย่าง Wayfarer
นิยมมากในยุค 80's ซึ่งเป็นยุคของดนตรีอิเล็กโทรพ๊อพ สีสันแบบนีออนไลท์
ซึ่งปัจจุบันกลับมานิยมอีกครั้งกับกระแสดนตรีนิวเรฟ และแฟชั่นแบบยุค 80
จากฝั่งตะวันตก วงอินดี้ไทยอย่างวงเสลอก็ใส่แว่นแนวนี้"
ส่วน ธวิศรุต บุรพัฒน์ หรือ ไปป์ เจ้าของ SuperrZaaap
ร้านขายเสื้อผ้าและเครื่องประดับแนวเรโทร ฟิวเจอร์ริสติกย่านสยามสแควร์
บอกเสริมถึงความนิยมแว่นกันแดดจากยอดขายภายในร้านว่า
ปัจจุบันแว่นกันแดดเป็นที่นิยมมากในหมู่เด็กวัยรุ่น
"แว่นกันแดดที่ร้านขายดีมาก บางคนมาซื้อเพราะอยากได้แว่นหน้าตาแปลกๆ
เอาไว้ใส่ตามงานปาร์ตี้ บางคนก็มาซื้อเพราะเห็นศิลปินที่ตัวเองชอบใส่
เมื่อวานนี้ยังมีเด็กบางคนมาซื้อเพราะเห็นนักร้องนำวงซิลลี่ ฟูส์ใส่แว่นทรงนี้"
เขายังได้อธิบายต่อว่า แว่นตากับแฟชั่นนั้นเป็นสิ่งที่มาคู่กัน
บางครั้งแค่เห็นความนิยมของคนในการเลือกใส่แว่นกันแดด
เขาก็สามารถบอกได้แล้วว่าแฟชั่นแบบไหนกำลังมา หรือกำลังไป
"ถ้าเป็นทรง Aviators ก็จะเป็นที่นิยมมากในยุค 60 - 70 แต่ถ้าเป็น Wayfarer
ก็จะเป็นแฟชั่นยุค 80 ซึ่งถ้าเราเห็นคนใส่แว่นทรงนี้ เราก็จะรู้เลยว่าแฟชั่นยุค
80 กำลังกลับมาแล้ว"
แต่ก็ไม่ใช่ว่าแว่นกันแดดจะเป็นเพียงเครื่องประดับเท่านั้น ในฐานะนักสะสมแว่น
มิตตี้บอกว่า แว่นแต่ละอันที่พก ไม่ได้มีไว้ใส่ตามแฟชั่นอย่างเดียว
แต่ยังมีประโยชน์ใช้สอยแตกต่างกันไปตามสถานการณ์
"แล้วแต่สถานที่ครับ ถ้าไปคลับหรือเดินสยามก็ขอแว่นเปรี้ยวๆหน่อย
ออกกำลังกายก็เป็นแว่นอีกแบบ ที่ใส่แว่นในคลับนี่ไม่ใช่เหตุผลอะไร
เอาไว้กันแฟลช กับแสงไฟ เพราะปกติต้องทำงานอยู่ในคลับนานๆ
ไม่ใช่เมายาหรือโดนใครชกมานะครับ (หัวเราะ)"
ประกอบกับไลฟ์สไตล์ที่ชอบปั่นจักรยานในเมือง
แว่นกันแดดจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการดูแลสุขภาพสายตาของดีเจนักปั่นคนนี้
"ปกติผมจะเป็นคนชอบปั่นจักรยาน แว่นต้องใส่แล้วสบายตา เน้นฟังชั่นที่บอกไป
น้ำหนักเบา แล้ว ก็ใสแล้วไม่รู้สึกเกะกะ กันแดด กันลมกันฝุ่น"
สอดคล้องกับความเห็นของไปป์ที่บอกว่าใส่แว่นกันแดดจนติด
เหมือนคนที่ติดใส่แหวนไปแล้ว และสิ่งที่ได้ก็ไม่ใช่แค่ความเท่เท่านั้น
แต่ยังช่วยป้องกันความร้อนจากแสงแดดอันรุนแรงของบ้านเราอีกด้วย
*วิธีเลือกแว่นกันแดด*
หนึ่งในคำถามยอดนิยมสำหรับผู้บริโภคที่อยากจะซื้อหาแว่นกันแดดมาใส่ก็คือ
แว่นตาราคา 199 บาท ต่างจากแว่นราคาหลักหมื่นอย่างไร
ถ้ามองในแง่ของคุณภาพในการกรองแสงยูวีแล้ว
ผลจากงานศึกษาหลายชิ้นให้คำตอบที่ใกล้เคียงกันว่า
ราคาไม่ใช่ตัวกำหนดคุณภาพของการกรองแสงยูวีแต่อย่างใด
ข่าวจากสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสชิ้นหนึ่งเมื่อ 2 ปีที่แล้วในอเมริกา
รายงานถึงการทดสอบคุณภาพแว่นกันแดดในการกรองแสงยูวี
โดยนำแว่นกันแดดทั้งแบรนด์เนมและราคาถูกมาทดสอบ โดย แครอล แคร์บ จักษุแพทย์
ซึ่งผลการตรวจสอบออกมาว่า แบรนด์ดังๆ อย่าง ไมเคิล คอร์ส สามารถกันยูวีได้ 98.2
เปอร์เซ็นต์ เฟอร์รากาโม่ส์ สามารถกันยูวีได้ 98.7 เปอร์เซ็นต์
ส่วนแว่นราคาประมาณ 200 บาท ที่วางขายทั่วไปในชื่อว่า ซัน รันเนอร์ส
กลับสามารถกันยูวีได้ถึง 99 เปอร์เซ็นต์
แม้แว่นกันแดดแต่ละราคาจะกันแสงยูวีได้ไม่เท่ากัน
แต่ทั้งหมดก็สามารถผ่านมาตรฐานความปลอดภัยของสหรัฐฯ ที่มีชื่อว่า The American
National Standards Institute (ANSI) ซึ่งกำหนดไว้ว่า
แว่นที่เหมาะสำหรับกิจกรรมกลางแจ้งควรจะสามารถป้องกันยูวีได้ 95 เปอร์เซ็นต์
และกรองแสงได้ 60-90เปอร์เซ็นต์
ส่วนแว่นกันแดดที่ไม่ผ่านมาตรฐาน ส่วนมากมักมาจากแสงที่ผ่านเลนส์มากเกินไป
แต่ไม่ใช่เพราะป้องกันยูวีได้น้อยกว่ามาตรฐาน
สำหรับนักกีฬากลางแจ้งอาจจะต้องการคุณสมบัติมากกว่านี้คือ ป้องกันยูวีได้ 99
เปอร์เซ็นต์ และกรองแสงได้ 97เปอร์เซ็นต์
ในเมืองไทยเองก็เคยมีการทดสอบคุณภาพของแว่นกันแดดด้วยเช่นกัน พญ. ภัทนี สามเสน
ภาควิชาจักษุวิทยา มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งได้ทดลองซื้อแว่นกันแดดตั้งแต่ราคา 199
บาทไปจนถึงแว่นแบรนด์เนมราคาแพงมาทำการตรวจหาการกรองแสงยูวี โดยพบว่า
แว่นทั้งหมดสามารถผ่านมาตรฐานของ ANSI กล่าวคือ
ถึงแม้จะป้องกันแสงยูวีได้ไม่ถึง 100 เปอร์เซ็นต์
แต่ก็อยู่ในระดับที่ช่วยปกป้องสายตาจากแสงแดดได้
โดยคุณภาพของการป้องกันแสงยูวีนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับราคา
ยี่ห้อและความหนาทึบของสีเลนส์แต่อย่างใด
นพ. กีรติ อธิบายถึงขั้นตอนการตรวจวัดหาคุณภาพของการกรองแสงยูวีในแว่นกันแดด
เอาไว้ว่า
ถ้าอยากวัดว่าเลนส์ป้องกันแสงยูวีได้มากน้อยแค่ไหนก็จะมีเครื่องทดสอบอยู่
แต่ไม่ใช่ว่ามีทุกร้าน มีบางร้านเท่านั้น ร้านใหญ่ๆ บางร้านอาจไม่มีก็ได้
ถ้าถามว่ามีวิธีรู้ได้อย่างไรว่า แว่นกันแดดแต่ละอันมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน
ก็ตอบไม่ได้เหมือนกันว่าจะรู้ได้ยังไง เวลาเลือกซื้อ ถ้าแว่นราคาแพงมีแบรนด์
ก็จะต้องมีระบบตรวจสอบคุณภาพที่ดี แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า
แว่นราคาถูกจะไม่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน"
ดังนั้น วิธีการเลือกซื้อแว่นกันแดดขั้นพื้นฐาน อย่างน้อยๆ
ต้องดูป้ายบอกคุณสมบัติของแว่นมากกว่าป้ายราคา นั่นก็คือ
ควรเลือกแว่นที่สามารถป้องกันยูวีได้ 100 เปอร์เซ็นต์ หรือที่เขียนว่า 400 UV
protection และที่สำคัญก็คือว่า แว่นที่สามารถกรองแสงยูวีได้นั้น
ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสีเข้มหรืออ่อนของเลนส์
เพราะแสงยูวีนั้นเป็นแสงที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตามนุษย์
แว่นใสจึงสามารถกรองแสงยูวีได้เช่นกัน
ถ้ามองในแง่ของคุณภาพวัสดุ ดีไซน์ ความคงทน หรือแม้แต่ความชอบส่วนบุคคลแล้ว
ราคาอาจจะเข้ามามีความสำคัญ กล่าวคือ
ถ้าแว่นราคาแพงก็มีแนวโน้มที่จะใช้วัสดุที่คงทนและสวยงามกว่า
แต่ถ้ามองในแง่การป้องกันแสงยูวีแล้ว แว่นกันแดดทั่วๆ ไปต่างก็มีคุณสมบัตินี้
เพียงแต่แว่นราคาถูกอาจจะไม่ทนทานและไม่สวยงามเหมือนแว่นของดีไซเนอร์ชื่อดัง
ชอบแบบไหน ซื้อแบบนั้น ขอเพียงสวมใส่ให้ติดเป็นนิสัย
เพราะแว่นกันแดดไม่ใช่แค่ที่คาดผมหรือเครื่องประดับ
แต่ช่วยให้คุณมีดวงตาคู่นี้ไว้ใช้ตราบนานเท่านาน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น