หูคนเรานั้นมีรูปร่าง และขนาดแตกต่างกันไป มีทั้งแบบรูปร่างสมส่วน แบบที่กางยื่นออกมาเหมือนหูถ้วยกาแฟ สำหรับคุณผู้หญิงใบหูยังมีบทบาทพิเศษเพิ่มขึ้นมาอีก คือเป็นตำแหน่งสำหรับประดับเพชรพลอยเพื่อแสดงฐานะ ส่วนคุณผู้ชายที่เจาะหูเพื่อเป็น สัญลักษณ์แสดงความซ่า แต่สำหรับคนทั่วไปแล้ว ใบหูก็อยู่เฉยๆ ของมันที่ด้านข้างของศีรษะ โดย ที่เราไม่ได้สนใจ อะไรมันมากมายจนกว่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้น
โดยทั่วไปแทบทุกคนจะมีปัญหาเรื่องหูอย่างน้อยก็หนึ่งครั้งในชีวิตโดยอาจเป็นเพียงปัญหาการติดเชื้อเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงที่รุนแรงถึงกับไม่ได้ยินเสียงไประยะหนึ่งก็ได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการทะนุถนอมอวัยวะสำคัญนี้ไว้ คุณจึงควรให้ ความสนใจกับหูของคุณตั้งแต่วินาทีนี้เป็นต้นไป
โครงสร้างของหู
หูส่วนนอกนั้นประกอบไปด้วยใบหูเป็นส่วนที่ยื่นออกมาจากศีรษะ และส่วนของช่องหูที่เป็นทางให้เสียงผ่านเข้าไปสู่เยื่อแก้วหู ส่วนของใบหูนั้นประกอบด้วยกระดูกอ่อนมีลักษณะยืดหยุ่นเป็นแกนอยู่ตรงกลาง ถูกห่อหุ้มด้วยผิวหนังบางๆ โดยมีกล้ามเนื้อมัดหนึ่งทำหน้าที่ยึดทางด้านหลังของใบหูไว้กับศีรษะการที่ใบหูมีลักษณะอย่างที่เห็นก็เพื่อช่วยในการหาทิศทางของเสียงที่ได้ยิน โดยเสียงที่มาจากด้านหน้าจะเป็นเสียงที่ได้ยินชัดและดังที่สุด ใบหูนั้นมีโอกาสได้รับอันตรายจากอุบัติเหตุต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อหลายชนิดที่อาจเกิดกับใบหูด้วย
ช่องหูมีลักษณะเป็นท่อที่มีความยาวประมาณหนึ่งนิ้ว โดยจะไปสิ้นสุดที่เยื่อแก้วหู ส่วนนอกของช่องหูนั้นจะมีโครงสร้างเป็นกระดูกอ่อนที่มีผิวหนังบางๆ หุ้มอยู่ ขณะที่ส่วนในจะเป็นโครงสร้างของกระโหลกศีรษะที่มีลักษณะเป็นช่องเข้าไป และในช่องหูนี้ยังมีต่อมเล็กๆ จำนวนมากที่คอยผลิตสาร ลักษณะคล้ายขี้ผึ้งเรียกว่า "ขี้หู" ทำหน้าที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อให้กับหูชั้นนอก โดยปกติขี้หูจะหลุดร่วงไปเองตามธรรมชาติ คุณจึงไม่ควรใช้ไม้พันสำลีเข้าไปแคะหรือเขี่ยขี้หู เพราะอาจทำให้ขี้หูถูกดัน ลึกเข้าไปมากขึ้น และยังอาจทำให้เกิดการอักเสบขึ้นได้ถ้าแคะแรงเกินไป
การอักเสบของหู
หู จมูก และคอ เป็นโครงสร้างที่ต่อเชื่อมถึงกันได้ โดยผ่านทางท่อเล็กๆ ที่มีชื่อว่าท่อยูสเตเชียน(Eustachian tube) ทำให้การติดเชื้อ สามารถลุกลามจากหูสู่จมูก และเข้าสู่คอได้ หรือในทางกลับกันคือลามจากคอไปสู่จมูก และหูก็ได้เหมือนกัน ในเด็กๆ ที่เป็นหวัดนั้นจะมีโอกาสเกิดการติดเชื้อที่หูด้วย ได้ง่าย เนื่องจากการสั่งน้ำมูกแรงๆ อาจดันน้ำมูกผ่านท่อยูสเตเชียนเข้าสู่หู เมื่อมีปริมาณเชื้อโรคในหู มากขึ้นก็เกิดการอักเสบตามมา ทำให้มีอาการปวดและบวม และไม่ได้ยินเสียง แต่การลามของโรคในลักษณะนี้จะไม่ค่อยเกิดในผู้ใหญ่ เพราะท่อยูสเตเชียนของผู้ใหญ่นั้นยาวกว่า ทำให้น้ำมูกจากจมูกไปไม่ถึง
การดูแลสุขภาพหู (Ear care)
มีหลายวิธีที่คุณสามารถปฏิบัติตนเพื่อหลีกเลี่ยงโรคต่างๆ ของหูได้ เช่นการใส่หมวกคลุมหูระหว่างว่ายน้ำ และพยายามซับช่องหูให้แห้งหลังอาบน้ำและว่ายน้ำ
เพื่อสุขภาพหูที่ดี คุณไม่ควรแคะหู เพียงแต่ซับช่องหูส่วนนอกด้วยผ้าขนหนูก็พอแล้ว แต่ ถ้าคุณต้องแคะให้ได้ ก็ต้องใช้ความนุ่มนวลอย่างที่สุด ถ้าขี้หูแข็งหรือแห้งมาก ก็ต้องใช้ยาหยอดที่ช่วยทำให้ขี้หูนุ่มขึ้น แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องหูจะไม่แนะนำให้ใช้ไม้พันสำลีเข้าไปทำความสะอาดช่องหู เนื่องจากมีโอกาสที่จะเกิดอันตรายต่อโครงสร้างของหูได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยื่อแก้วหู
การป้องกันภาวะหูหนวก (Preventing hearing loss)
การได้ยินเสียงของคนเราจะเสื่อมถอยลงเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น แต่ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการได้ยินเสียงแวดล้อมที่ดังอย่างต่อเนื่องยาวนาน ความดังของเสียงนั้นวัดกันเป็นเดซิเบล (Decibels) ประมาณกันว่าเสียงที่ดังกว่า 90 เดซิเบลนั้นจะทำลายการได้ยินของประสาทหูของเรา
เสียงวิ้งๆ หรือหึ่งๆ ในหูที่ดังอย่างต่อเนื่องนั้นเป็นอาการของหูชั้นในถูกทำลาย เรียกว่าทินนิทัส(Tinnitus) ซึ่งถ้าหากมีการทำลายที่หูชั้นในแล้ว การได้ยินจะไม่สามารถกลับคืนมาได้ ดังนั้นคุณจึงควรหลีกเลี่ยงเสียงดังทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นคอนเสิร์ตเฮฟวี่ เมทัล เสียงเพลงในดิสโกเธค หรือแม้แต่เสียงดังจากเครื่องเสียงของคุณเอง หูคนเรานั้นไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นเพลงร็อก หรือเพลงคลาสสิก ไม่ว่าเป็นเพลงแบบใด ถ้าเสียงดังล่ะก็ ล้วนแล้วแต่ทำลายการได้ยินอย่างถาวรได้เท่าเทียมกัน
ปัจจุบันนี้มีเครื่องช่วยฟังหลายชนิดสำหรับผู้ที่มีปัญหา การได้ยินบางชนิดก็สามารถปรับแต่งความถี่ให้เหมาะกับ ปัญหาของแต่ละคนได้ แต่กระนั้นก็ต้องทำใจเผื่อไว้ด้วยว่าเครื่องช่วยฟังไม่สามารถช่วยให้คุณได้ยินเสียงที่เป็นธรรมชาติ เหมือนที่คุณเคยได้ยินดังนั้นทางที่ดีคือการถนอมรักษาหูของ คุณให้ดีเสียแต่วันนี้ เพื่อยึดอายุการได้ยินเมื่อเราอายุมากขึ้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น