9 ธ.ค. 2551

อาหารสุขภาพแนว Raw Food

รอว์ฟู้ดหากแปลตรงตามความหมายคืออาหารดิบ แต่ตามทฤษฎีรอว์ฟู้ดหมายถึงอาหารที่ไม่ผ่านความร้อนหรือดัดแปลงด้วยความร้อนที่สูงกว่า 42-47 องศาเซลเซียส หรือ 108-118 องศาฟาเรนไฮต์ เพราะหากใช้ความร้อนที่สูงเกินกว่านี้จะทำให้คุณค่าอาหารสูญเสียไปเมื่อนำอาหารนั้นมาผ่านความร้อน ความร้อนไม่เพียงแต่ทำให้สารอาหารสูญเสียไปเท่านั้น เอนไซม์ (enzyme) หรือโปรตีนอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งมีความซับซ้อนสร้างขึ้นในเซลล์ของพืชและสัตว์ก็ถือเป็นอีกสิ่งที่จะเหือดหายไป ซึ่งเอนไซม์นี้เองจะทำให้เกิดการย่อยอาหารอย่างมีประสิทธิภาพ ร่างกายก็จะได้รับคุณค่าประโยชน์แท้จริง

เอนไซม์มีอยู่ทั้งในของสดและของแห้ง ในผักผลไม้ล้วนแต่มีเอนไซม์ในตัวของมันเอง และพร้อมที่จะสลายไปทุกเมื่อหากผ่านความร้อน หรือกระทั่งถั่ว หรือเมล็ดพืชแห้งก็ยังคงมีเอนไซม์เหมือนกัน แม้ว่าถั่วกับเมล็ดพืชจะแห้ง แต่เป็นการทำให้แห้งที่อุณหภูมิต่ำ หรือเป็นการทำแห้งตามธรรมชาติภายใต้การทำงานของแสงอาทิตย์ รวมทั้งยังมีกลไกตามธรรมชาติที่ช่วยปกป้องเอนไซม์ไม่ให้สูญสลายไปโดยจะมีชั้นเคลือบที่เป็นตัวยับยั้งการทำงานของเอนไซม์

เอนไซม์ไม่เพียงแต่มีในพืช ผัก ผลไม้เท่านั้น ยังมีในเนื้อสัตว์ด้วย จึงทำให้บางตำราอาหารรอว์ฟู้ดถือว่าซาชิมิ เนื้อสัตว์อื่นๆ หากรับประทานดิบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อาหารจากสัตว์ที่ไม่ผ่านความร้อน เช่น ชีสที่ได้จากนมที่ไม่ผ่านกระบวนการพาสเจอไรเซชั่น ก็ถือเป็นอาหารรอว์ฟู้ดเพราะไม่ได้ผ่านความร้อนด้วย

นอกจากเอนไซม์จะมีคุณค่าอย่างมากในอาหารแนวรอว์ฟู้ด คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) ยังเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มองข้ามไปไม่ได้เลย จากคุณสมบัติพิเศษของคลอโรฟิลล์ที่ช่วยสังเคราะห์แสงในพืชนี่เองจึงทำให้นักทฤษฎีรอว์ฟู้ดเชื่อว่าหลักการดังกล่าวก็สามารถนำมาใช้ในระบบร่างกายมนุษย์ โดยคลอโรฟิลล์จะถูกดูดซึมทันทีที่เข้าสู่ร่างกายและทำหน้าที่เป็นเหมือนเซลล์เม็ดเลือดแดง ช่วยให้อัวยวะต่างๆ ในร่างกายได้รับออกซิเจนได้ดี ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นคลอโรฟิลล์ยังช่วยสร้างสภาวะที่ไม่เป็นมิตรต่อการทำงานของแบคทีเรียอันเป็นบ่อเกิดโรคร้าย ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อต่างๆและแผลสดก็จะหายเร็ว สามารถล้างพิษออกจากตับซึ่งเป็นแหล่งสะสมของน้ำมันที่เป็นพิษต่อร่างกาย

อาหารที่มากไปด้วยคลอโรฟิลล์ก็ได้แก่ พืชต้นอ่อนกับเมล็ดที่เพิ่งงอก ไม่เพียงแต่พืชเหล่านี้จะเต็มไปด้วยมีคลอโรฟิลล์เท่านั้น เอนไซม์นานาชนิดและวิตามินบีที่จำเป็นต่อร่างกายก็มีอยู่อย่างไม่อั้น และแทบไม่น่าแปลกใจเลยที่น้ำสกัดจากต้นอ่อนของพืช โดยเฉพาะจากต้นอ่อนของข้าวสาลีพันธุ์ฤดูหนาว (Hard Winter Wheat) หรือ วีทกลาส (Wheat Grass) จะเป็นเครื่องดื่มที่ชาวรอว์ฟู้ดโปรดปรานสุดเช่นกัน

โดยทั่วไปมนุษย์กินอาหารหลักอยู่ 5 หมู่ ซึ่งประกอบด้วย คาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน แต่สำหรับชาวรอว์ฟู้ดแล้ว อาหารที่พวกเขากินกันหลักก็ได้แก่ คลอโรฟิลล์ จากพืชใบเขียวที่จะทำหน้าที่ไม่ต่างจากโปรตีน แต่เป็นแหล่งโปรตีนที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่ น้ำตาล จากพืชที่มีรสหวาน ไขมัน จากพืชที่มีไขมันสูง ถั่วเมล็ดต่างๆ รวมทั้งมะพร้าว สุดท้ายคือ น้ำธรรมชาติบริสุทธิ์ จากพืชที่รสไม่หวาน เพียงเท่านี้ร่างกายของชาวรอว์ฟู้ดก็สุขีอักโขอย่างไม่น่าเชื่อ

การกินอาหารรอว์ฟู้ดแบ่งได้ 4 ทาง ได้แก่ พืชผักสด (Fresh Food) เป็นอาหารที่พร้อมกินได้ทันทีไม่ต้องดัดแปลงอะไรอีกเลย เช่น สลัด ผลไม้สด น้ำผลไม้สกัด นอกจากพืชผักที่เรารับประทานได้สดๆ แล้วยังสามารถนำมาหมักด้วยจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติให้เกิดเป็น อาหารหมัก (Cultured Food) ได้ด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดอาหารประเภทนี้ คือกิมจิของชาวเกาหลี เต้าหู้บางชนิดของชาวจีน มิโซของชาวญี่ปุ่น โดยอาหารหมักนี้จะมีเชื้อแบคทีเรีย สายพันธุ์อซิโดฟิลลัสที่เจริญเติบโตในธรรมชาติ มีประโยชน์กับระบบย่อยอาหารของมนุษย์อย่างมาก เพราะจะเข้าไปช่วยย่อยอาหารในร่างกาย ทำให้ร่างกายสามารถดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้อย่างเต็มร้อย การเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่มีประโยชน์เหล่านี้ยังมีผลให้แบคเรียที่เป็นพิษต่อระบบย่อยอาหารไม่สามารถเจริญเติบโตได้ โอกาสในการเกิดโรคอาหารเป็นพิษจึงลดลง

ถั่วและเมล็ดพืชแห้งก็ถือเป็นแหล่งอาหารสำคัญของรอว์ฟู้ด โดยการเปลี่ยนให้อยู่ในกลุ่มอาหารที่เรียกว่า พืชต้นอ่อน (Sprouted Food) ก่อน ถั่วและพืชเมล็ดแห้งเมื่อนำมาแช่น้ำ เปลือกหุ้มเมล็ดจะนิ่มขึ้น ชั้นเคลือบยับยั้งเอนไซม์จะละลายออกมา เอนไซม์ต่างๆ ในเมล็ดก็จะกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง พร้อมที่จะทำงาน จากเมล็ดแห้งก็กลายเป็นเมล็ดนุ่มๆ และเป็นแหล่งอาหารชั้นดีที่เต็มไปด้วยเอนไซม์ เช่น ซูชิที่ใช้ลูกเดือยที่ผ่านการแช่น้ำจนนุ่มแทนข้าวสุก ซุปถั่วอัลมอนด์ที่ผ่านการแช่น้ำจนนุ่มก่อนที่จะนำไปบดละเอียด หากมีอากาศ แสงแดดและให้น้ำไหลเวียน เมล็ดเหล่านั้นก็จะกลายเป็นต้นอ่อนของพืชที่เต็มไปด้วยคลอโรฟิลล์อีกด้วย ตัวอย่างอาหารในกลุ่มนี้คือ ถั่วงอก อัลฟัลฟาสเปราท์ วีทกลาส สุดท้ายเป็นกลุ่ม อาหารแห้ง (Dehydrated Food) อาหารกลุ่มนี้จะอาศัยการระเหยน้ำที่อุณหภูมิต่ำๆ อย่างช้าเพื่อหยุดการทำงานของเอนไซม์ชั่วขณะ โดยที่ไม่ทำให้คุณค่าทางอาหารเสียไป ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ ใช้ความร้อนตามธรรมชาติจากแสงอาทิตย์ หรือใช้เครื่องมือเรียกว่า dehydrator เป็นเครื่องอบลมร้อนที่ให้อุณหภูมิในการทำแห้งไม่เกิน 108 องศาฟาเรนไฮต์ เมื่อน้ำระเหยไปน้ำหนักของอาหารย่อมลดลงมีผลให้สัดส่วนของสารอาหารที่มีในอาหารแห้งนั้นเข้มข้นขึ้น เมื่อกินเข้าไปก็จะได้รับสารอาหารในปริมาณที่สูงกว่าอาหารสดที่น้ำหนักเท่ากัน รวมถึงสารอาหารบางชนิดก็จะคงคุณค่าเหมือนเดิม ด้วยเพราะปริมาณน้ำในเซลลดลงนั่นเอง นอกจากประโยชน์ด้านคุณค่าสารอาหารแล้ว การทำแห้งอาหารยังทำให้เนื้อสัมผัสของอาหารเปลี่ยนไปด้วย นับเป็นเทคนิคหนึ่งที่เชฟรอว์ฟู้ดนิยมนำมาใช้เพื่อทำให้เกิดอาหารนานาชนิด ไม่ว่าจะเป็น ทาร์โก้ ลาซานญ่า แกรโนล่า หรือแม้กระทั่งคุ้กกี้บาร์ ซึ่งส่งผลให้ชาวรอว์ฟู้ดมีอาหารหลากหลาย อิ่มอร่อยได้ทุกวัน เฉกเช่นเดียวกับการกินอาหารปกติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น