14 ก.พ. 2552

สังกะสี...ธาตุอาหารปริมาณน้อยที่ขาดไม่ได้

ผู้ใหญ่บางคนจะหลอกให้เด็กกินอาหารหลากหลายโดยบอกว่าจะได้วิตามิน A ถึง Z ทั้งๆ ที่ไม่มีวิตามิน Z แต่จะมีแร่ธาตุชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นต้นด้วยตัว Z คือ สังกะสี (Zinc) สังกะสีได้รับการยอมรับว่าเป็นสารอาหารที่จำเป็นในสัตว์ในช่วงต้นทศวรรษ 1900 และในช่วงต้นทศวรรษ 1960 (พ.ศ. 2503) พบภาวะการขาดสังกะสีในวัยรุ่นชาวอียิปต์และอิหร่าน วัยรุ่นเหล่านี้จะตัวเตี้ย แคระ การเจริญพันธุ์ทางเพศช้า ซึ่งเกิดจากการได้รับอาหารที่มีสังกะสีค่อนข้างต่ำ แต่มีใยอาหารและไฟเตท (เป็นสารที่พบมากในผักและธัญพืชทั้งเมล็ด) สูง ซึ่งใยอาหาร และไฟเตทนี้จะลดการดูดซึมสังกะสีเข้าสู่ร่างกาย สังกะสี เป็นแร่ธาตุที่คนเราต้องการในปริมาณเพียงเล็กน้อย

ในร่างกายมีสังกะสีประมาณ 1-2.5 กรัม ซึ่งจะพบได้มากในกระดูก ฟัน เส้นผม ผิวหนัง ตับ กล้ามเนื้อ และอัณฑะ สังกะสีเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ในร่างกายมากกว่า 300 ชนิด ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการทำงานของระบบต่างๆ ในร่างกายที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต การสร้างโปรตีน การสร้างภูมิคุ้มกันโรค การเจริญของระบบสืบพันธุ์ การมองเห็น การหายของบาดแผล และป้องกันเซลล์จากการทำลายโดยอนุมูลอิสระ

สังกะสีทำงานร่วมกับเอนไซม์ในการสร้างโปรตีน การย่อยอาหาร การเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน จึงมีความสำคัญในกระบวนการเจริญเติบโตและการพัฒนาการในเด็ก การขาดสังกะสีทำให้การเจริญเติบโตหยุดชะงัก การเจริญพันธุ์ทางเพศช้า ซึ่งจะเห็นได้ชัดในเด็กผู้ชาย เช่น การมีหนวดเครา เสียงแตก เป็นต้น

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่จำเป็นในการเปลี่ยนวิตามินเอ (ซึ่งอยู่ในรงควัตถุที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น) ให้อยู่ในรูปที่ทำงานได้ การขาดสังกะสีจะทำให้มีอาการตาฟางหรือตาบอดกลางคืนเหมือนกับการขาดวิตามินเอ นอกจากนี้สังกะสียังจำเป็นสำหรับการหายของบาดแผล การรับรส และการสร้างสเปิร์ม

ในต้นทศวรรษ 1970 พบการขาดสังกะสีในสหรัฐอเมริกาในผู้ที่ได้รับอาหารทางหลอดเลือดเท่านั้น เนื่องจากอาหารที่ให้มีสังกะสีน้อยมาก ปัจจุบันอาหารที่ให้ทางหลอดเลือดจะเติมสังกะสีเพื่อป้องกันภาวะการขาดสังกะสี

โดยปกติคนเราจะได้รับสังกะสีจากอาหาร ซึ่งจะพบได้มากในอาหารที่มีโปรตีนสูง เช่น ในหอยนางรม เนื้อ ตับ ไข่ นม ไก่ และปลา เนื้อสัตว์ที่มีไขมันมากจะมีสังกะสีน้อย เนื่องจากในส่วนไขมันจะมีสังกะสีน้อย เนื้อสัตว์ที่มีสีแดงจะมีสังกะสีสูงกว่าเนื้อสัตว์ที่มีสีขาว ธัญญาหารเป็นแหล่งสังกะสีเช่นกัน ปริมาณสังกะสีในธัญญาหารขึ้นกับการขัดสี สังกะสีจะมีมากบริเวณเปลือกนอกของเมล็ด ดังนั้นเมล็ดพืชที่ผ่านการขัดสีน้อย เช่น ข้าวซ้อมมือจะมีสังกะสีมากกว่าข้าวที่ขัดสีจนขาว แต่ในพืชจะมีสารไฟเตทซึ่งจะยับยั้งการดูดซึมสังกะสีในลำไส้ ทำให้ร่างกายได้รับสังกะสีจากอาหารเหล่านี้น้อยลง สังกะสีเมื่อถูกดูดซึมแล้วจะรวมกับโปรตีนอัลบูมินเพื่อขนส่งไปในกระแสเลือดไปยังตับและเนื้อเยื่ออื่นๆ โดยไม่มีการเก็บสะสมไว้เฉพาะในอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง

ภาวะการขาดสังกะสีอาจเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีสังกะสีน้อย แต่ส่วนใหญ่มักพบร่วมกับการท้องเสียเรื้อรัง เป็นโรคที่ทำให้การดูดซึมน้อยลง ได้รับอาหารที่มีสารไฟเตทสูง หรือร่างกายมีความต้องการเพิ่มขึ้น เช่น ในทารกและสตรีตั้งครรภ์ นอกจากนี้ในกลุ่มคนที่ได้รับอาหารจำกัดก็เสี่ยงต่อการขาดสังกะสีได้ เช่น คนที่ควบคุมอาหารเพื่อลดน้ำหนักตัว คนเหล่านี้จะได้รับสังกะสีจากอาหารน้อยลง ขณะเดียวกันจะสูญเสียสังกะสีออกจากร่างกาย เนื่องจากร่างกายนำเนื้อเยื่อบางส่วนออกมาใช้เป็นพลังงาน ในคนสูงอายุที่รับประทานอาหารน้อยลงก็อาจได้รับสังกะสีไม่เพียงพอ ปริมาณสังกะสีที่คนเราควรได้รับประจำวันแสดงไว้ในตารางด้านขวามือ

สังกะสีเป็นแร่ธาตุที่จัดว่าไม่มีพิษ แต่การได้รับสังกะสีในปริมาณสูง (เกินกว่า 1.5 เท่าของปริมาณที่แนะนำให้ควรได้รับ) เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดทองแดงได้ และถ้าได้รับสังกะสีในปริมาณมาก (225-450 มิลลิกรัม) จะทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย มีไข้ อ่อนเพลีย นอกจากนี้การได้รับสังกะสีมากว่า 100 มิลลิกรัมต่อวัน จะมีผลเพิ่มระดับโคเลสเตอรอล ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด และถ้าได้รับปริมาณสูงมาก (4-8 กรัม) อาจทำให้ถึงแก่ชีวิตได้

การเสริมสังกะสี ในคนที่มีภาวะเสี่ยงต่อการขาดสังกะสี การเสริมสังกะสีให้กับเด็กในช่วงเข้าสู่วัยรุ่น พบว่าช่วยเพิ่มความสูงและน้ำหนักตัวได้ นอกจากนี้ได้มีการทดลองให้สังกะสีในรูปแบบยาอมเพื่อดูผลต่อการลดลงของอาการหวัด แต่ผลการทดลองก็ยังขัดแย้งกันอยู่บ้าง

สำหรับนักกีฬา หากนักกีฬาได้รับสังกะสีน้อย (0.3 มิลลิกรัมต่อวัน) จะมีผลทำให้ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลดลงได้บ้าง ส่วนผลของการเสริมสังกะสีในนักกีฬาเชื่อว่าน่าจะช่วยให้กล้ามเนื้อทำงานได้ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงที่กล้ามเนื้อมีการหดตัวอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสังกะสีมีความเกี่ยวข้องกับเอนไซม์ที่ทำลายกรดแลคติก ซึ่งเป็นกรดที่เกิดขึ้นใน กล้ามเนื้อในระหว่างการออกกำลังกาย ถ้ามีกรดนี้สะสมในกล้ามเนื้อมากจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แต่ผลนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยยืนยันต่อไป

ได้มีการทดลองใช้สังกะสีในรูปยากินและยาทาสำหรับการรักษาสิว ซึ่งพบว่าการเสริมสังกะสีจะลดการอักเสบของสิวลงได้ แต่ปริมาณที่ใช้จะค่อนข้างสูง (30 มิลลิกรัมต่อวัน) และการใช้สังกะสีในการรักษาสิวยังเป็นที่ถกเถียงกันว่ามิได้ดีกว่าการรักษาโดยวิธีอื่น แต่การให้สังกะสีในขนาดสูงนี้อาจทำให้เกิดภาวะการขาดทองแดงได้

เนื่องจากผลดีจากการเสริมสังกะสียังไม่ชัดเจน การเสริมสังกะสีจึงควรกระทำด้วยความระมัดระวัง และคำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น