โรคหัวใจอื่นเราเฝ้าระวังดูแลสุขภาพก็ลดเสี่ยงได้ ต่างจากโรคลิ้นหัวใจรั่ว ที่สาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิด
เรียนกันมาตั้งแต่ประถม รู้กันดีว่าหัวใจมีสี่ห้อง แต่ละห้องจะมีลิ้นหัวใจคล้ายกลีบดอกทิวลิปคอยหุบคอยบานทำหน้าที่เหมือนวาล์วน้ำอัตโนมัติเปิดปิดให้เลือดไหลผ่านจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่งส่งไปให้ปอดฟอกออกซิเจนกลับมาไหลเวียนสู่ระบบโลหิตอีกครั้ง
ลิ้นหัวใจบางคนโชคร้าย ใช้งานไปนานวันเกิดอาการลักปิดลักเปิดทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ รบกวนชีวิตประจำวันทำอะไรนิดหน่อยก็เหนื่อย อาบน้ำยังเหนื่อยเลย ทางที่ดีควรไปให้แพทย์ตรวจอย่างละเอียด เล่าอาการให้หมดเปลือก พบเร็วรักษาเร็วไม่ต้องเสียเงินทองมากมาย
โรคหัวใจอื่นเราเฝ้าระวังดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ไม่บริโภคอาหารเสี่ยงได้ ต่างจากโรคลิ้นหัวใจรั่วที่มักมีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิด ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวกว่าคนทั่วไป โรคลิ้นหัวใจรั่วที่พบบ่อยในคนไทยคือ ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบนและห้องล่างด้านซ้าย
“โรคลิ้นหัวใจรั่วที่เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด มักไม่แสดงอาการในวัยเด็ก แต่จะเริ่มเหนื่อยง่าย ใจสั่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยมีผลให้การออกกำลังกายได้น้อย หรือบางคนเดินขึ้นบันได 1-2 ชั้น ก็เหนื่อย นอนราบไม่ได้หายใจไม่ออก เป็นต้น
” นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต ผู้อำนวยการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบาย
การดำเนินอาการของโรคลิ้นหัวใจรั่วไม่รุนแรง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจยาวนานจนกระทั่ง 40 ปีผ่านไป จึงเริ่มแสดงอาการรุนแรง จากการที่ลิ้นหัวใจเสื่อมมากขึ้น จนทำให้ร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลียง่ายกับทุกอิริยาบถการเคลื่อนไหว บางรายที่เป็นมากอาจเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว
ปัจจัยที่ทำให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวที่อายุประมาณ 40-50 คือ การติดเชื้อที่ผิวของเนื้อเยื่อจากกระแสโลหิตนั่นเอง เช่น จากการทำฟัน ในขณะที่ช่องปากมีแผลอักเสบอยู่ ซึ่งภูมิต้านทานร่างกายที่ต่ำจะทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่แผลและกระแสเลือด และทำให้ลิ้นหัวใจติดเชื้อได้ด้วย
ผู้อำนวยการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ บอกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการทำสถิติว่ามีคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคลิ้นหัวใจรั่วมากน้อยแค่ไหน แต่จากสถิติการวิจัยของต่างประเทศพบว่า 5-10% ของประชากร สามารถเกิดโรคลิ้นหัวใจผิดปกติได้ เพราะเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจมีความผิดปกติแต่กำเนิดเป็นหลัก หรือเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจเสื่อมเร็วกว่าปกติ โดยลักษณะความเสื่อมจะแสดงในรูปของสภาพหย่อน ยาว หรือลิ้นหัวใจหนากว่าคนปกติ
มาตรฐานการวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่ว คือ การใช้คลื่นเสียงสะท้อน หรือเครื่องอัลตราซาวนด์ ใช้เวลาตรวจเพียง 30 นาทีก็สามารถรู้ผลการวินิจฉัยได้แล้วว่า หัวใจมีความผิดปกติอย่างที่สงสัยหรือไม่ และสภาพการทำงานของหัวใจปัจจุบันเป็นอย่างไร ด้วยค่าบริการตรวจประมาณ 2,500-4,000 บาทต่อคน
การวินิจฉัย แพทย์จะดูการทำงานของหัวใจทุกอย่าง เช่น ทิศทางการไหลเวียนของเลือด จังหวะการสูบฉีดเลือดของหัวใจเมื่อมีการหายใจเข้าออก การปิดเปิดของลิ้นหัวใจเมื่อเลือดสูบฉีดว่ามีการรั่ว หย่อนยาน หรือปูดขึ้นหรือไม่ เพื่อแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การรักษาในช่วงที่ลิ้นหัวใจรั่วไม่รุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำวิธีการป้องกันการติดเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด เช่น การหลีกเลี่ยงทำฟันเมื่อมีแผลอักเสบในช่องปาก หรือควรบอกแพทย์ก่อนที่จะรับการรักษาหากจำเป็นจริง เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยรายที่ลิ้นหัวใจรั่วมากจนกระทั่งกล้ามเนื้อที่พยุงการปิดเปิดลิ้นหัวใจเกิดการหย่อนยาน ปูด หรือหนา ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยแพทย์ ว่าสมควรได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่เกิดการชำรุดหรือไม่
“การผ่าตัดซ่อมแซมสำหรับโรงพยาบาลเอกชนจะมีราคาสูงประมาณ 4-5 แสนบาทต่อครั้ง โดยรวมทั้งค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการหลังการผ่าตัดเบ็ดเสร็จ โดยผลการรักษาในบางรายอาจดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติได้ตลอดชีวิต และบางรายก็อาจมีการซ่อมแซมซ้ำก็ได้”ผู้อำนวยการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ กล่าว
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมบางราย หากเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกตัว หรือไตวายซึ่งพบได้น้อย แพทย์ก็จะแนะนำให้เปลี่ยนลิ้นหัวใจทันที การรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ลิ้นหัวใจเสื่อม หรือเสียมาก แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบจากธรรมชาติที่ได้จากเนื้อเยื่อของหัวใจวัว หรือเนื้อเยื่อหัวใจหมู และลิ้นหัวใจเทียมจากสารสังเคราะห์
วิธีการรักษาดังกล่าวจะมีราคาค่ารักษาอยู่ที่ 5-6 แสนเป็นอย่างต่ำ และสามารถรักษาให้กับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย และผลการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายคนไข้ต่อลิ้นหัวใจใหม่ด้วย การรักษาด้วยวิธีนี้คนไข้จะต้องกินยาป้องกันไม่ให้ลิ่มเลือดเกาะกับเนื้อเยื่อลิ้นเทียมไปตลอด
นพ.วิสุทธิ์ บอกอีกว่า แม้โรคลิ้นหัวใจรั่วจะพบในผู้ใหญ่วัย 40-50 ได้มาก แต่เด็กแรกเกิดบางรายก็เป็นได้เหมือนกัน และมักมีสาเหตุจากความผิดปกติตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ เช่น พัฒนาเด็กที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งการพยากรณ์โรคทำได้ยาก เพราะเนื้อเยื่อของเด็กยังไม่แข็งแรง ทำให้การรักษายาก และโอกาสในการรอดชีวิตน้อยไปด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น