30 ส.ค. 2552

โรคแพนิค (Panic Disorder)

โรคแพนิค เป็นโรคชนิดหนึ่งที่มีคนเป็นกันมากและเป็นกันมานานแล้ว แต่ประชาชนทั่วไปมักไม่ค่อยรู้จักและยังไม่มีชื่อโรคอย่างเป็นทางการในภาษาไทย บางคนอาจเรียกโรคนี้ว่า "หัวใจอ่อน" หรือ " ประสาทลงหัวใจ" แต่จริงๆ แล้วโรคนี้ไม่มีปัญหาอะไรที่หัวใจ และ ไม่มีอันตราย เวลามีอาการผู้ป่วย จะรู้สึกใจสั่นหัวใจเต้นแรง อึดอัด แน่นหน้าอก หายใจไม่ทัน หรือหายไม่เต็มอิ่ม ขาสั่น มือสั่น มือเย็น บางคนจะมีอาการวิงเวียนหรือมึนศีรษะ ท้องไส้ปั่นป่วน ขณะมีอาการผู้ป่วยมักจะรู้สึกกลัวด้วย

โดยที่ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะกลัวว่าตัวเองกำลังจะตาย กลัวเป็นโรคหัวใจ บางคนกลัวว่าตนกำลังจะเสียสติหรือเป็นบ้า อาการต่างๆมักเกิดขึ้นทันทีและค่อยๆ รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเต็มที่ในเวลาประมาณ 10 นาที คงอยู่สักระยะหนึ่ง แล้วค่อยๆ ทุเลาลง อาการมักจะหายหรือเกือบหายในเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง หลังจากอาการแพนิคหายผู้ป่วยมักจะเพลีย และในช่วงที่ไม่มีอาการผู้ป่วยมักจะกังวลกลัวว่าจะเป็นอีก

อาการ แพนิค จะเกิดที่ไหนเมื่อไรก็ได้และคาดเดาได้ยากแต่ผู้ป่วยมักพยายามสังเกตุ และเชื่อมโยงหาเหตุที่กระตุ้นให้เกิดอาการเพื่อที่ตนจะได้หลีกเลี่ยงและ รู้สึกว่าสามารถควบคุมมันได้บ้าง เช่น ผู้ป่วยบางราย ไปเกิดอาการขณะขับรถก็จะไม่กล้าขับรถ บางรายเกิดอาการขณะกำลังเดินข้ามสะพานลอยก็จะไม่กล้าขึ้นสะพานลอย ผู้ป่วยบางรายไม่กล้าไปไหนคนเดียวหรือไม่กล้าอยู่คนเดียวเพราะกลัวว่าถ้าเกิดอาการขึ้นมาอีกจะไม่มีใครช่วย ในบางรายอาจมีเหตุกระตุ้นจริงๆบางอย่างได้ เช่น การออกกำลังหนักๆ หรือเครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำโคล่า ในกรณีแบบนี้ควรหลีกเลี่ยงสิ่งต่างๆ เหล่านี้

ขณะเกิดอาการผู้ป่วยมักกลัวและรีบไปโรงพยาบาลซึ่งแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินมักตรวจ ไม่พบความผิดปกติและมักได้รับการสรุปว่าเป็นอาการเครียดหรือคิดมาก ซึ่งผู้ป่วยก็มักยอมรับไม่ได้และปฏิเสธว่าไม่ได้เครียด เมื่อเกิดอาการอีกในครั้งต่อมาผู้ป่วยก็จะไปโรงพยาบาลอื่นและมักได้คำตอบแบบเดียวกัน ผู้ป่วยหลายๆ รายไปปรึกษาแพทย์เพื่อเช็คสุขภาพ โดยเฉพาะหัวใจซึ่งก็มักได้รับการตรวจเช็ค ร่างกายอย่างละเอียดและไม่พบความผิดปกติอะไรที่สามารถอธิบายอาการดังกล่าวได้

ซึ่งก็ยิ่งทำให้ผู้ป่วยกังวลมากขึ้นไปอีก อาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นเรียกว่า อาการแพนิค (panic attack) ซึ่งแปลว่า "ตื่นตระหนก" เราจะสังเกตุได้ว่าอาการต่างๆ จะคล้ายกับอาการของคนที่กำลังตื่นตระหนก ในโรคแพนิคผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิคนี้ขึ้นมาเอง โดยไม่มีเหตุกระตุ้น และคาดเดาไม่ถูกว่าเมื่อไรจะเป็นเมื่อไรจะไม่เป็น การไม่รู้ว่าตนกำลังเป็นอะไรจะยิ่งเพิ่มความตื่นตระหนกให้รุนแรงขึ้น อาการแพนิค ไม่มีอันตราย อาการนี้ทำให้เกิดความไม่สบายเท่านั้นแต่ ไม่มีอันตราย สังเกตุได้จากการที่ผู้ป่วยมักจะ มีอาการมานาน บางคนเป็นมาหลายปี เกิดอาการแพนิคมาเป็นร้อยครั้ง แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไรสักที บางคนเป็นทีไรต้องรีบไปโรงพยาบาล "แทบไม่ทัน" แต่ไม่ว่ารถจะติดอย่างไรก็ไป "ทัน" ทุกครั้งเพราะอาการ แพนิค ไม่มีอันตราย ในปัจจุบันเราพอจะทราบว่าผู้ป่วยโรคแพนิคมีปัญหาในการทำงานของสมองส่วนที่ทำให้เกิดอาการ “ตื่นตระหนก” โดยเป็น ความผิดปกติของสารสื่อนำประสาท บางอย่างเราจึงสามารถรักษาโรคนี้ได้ด้วยยา

ยาที่ใช้รักษาโรคนี้จะมี 2 กลุ่ม คือ

1. ยาป้องกัน เป็นยาที่ออกฤทธิ์ช้า ปรับยาครั้งหนึ่งต้องรอ 2-3 สัปดาห์ จึงจะเริ่มเห็นผลคืออาการแพนิคจะห่างลง และเมื่อเป็นขึ้นมาอาการก็จะเบาลงด้วย เมื่อยาออกฤทธิ์เต็มที่ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแพนิคเกิดขึ้นเลย ยากลุ่มนี้จะเป็นยาที่ใช้รักษาโรคซึมเศร้าบางตัว เช่น เล็กซาโปร (lexapro) โปรแซก (prozac) โซลอฟ (zoloft) ยากลุ่มนี้ไม่ทำให้เกิดการติดยาและสามารถหยุดยาได้เมื่อโรคหาย ในการรักษาด้วยยาเราจะจ่ายทั้งยาป้องกันและยาแก้

เพราะในช่วงแรกๆ ยาป้องกันยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจะยังมีอาการจึงยังต้องใช้ยาแก้อยู่ เมื่อยาป้องกันเริ่มออกฤทธิ์ผู้ป่วยจะกินยาแก้น้อยลงเอง แพทย์จะค่อยๆเพิ่มยาป้องกันจนผู้ป่วย "หายสนิท" คือไม่มีอาการเลย แล้วให้ผู้ป่วยรับประทานยาต่อไปเป็นเวลา 8-12 เดือน หลังจากนั้นจะให้ผู้ป่วยค่อยๆ หยุดยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถหยุดยาได้โดยไม่มีอาการกลับมาอีก แต่ก็มีบางรายที่มีอาการอีกเมื่อลดยาลง ในกรณีแบบนี้เราจะเพิ่มยากลับขึ้นไปใหม่แล้วค่อยๆ ลดยาลงช้าๆ

2. ยาแก้ เป็นยาที่ออกฤทธิ์เร็ว ใช้เฉพาะเมื่อเกิดอาการขึ้นมา เป็นทีกินที กินแล้วหายเร็ว ได้แก่ยาที่คนทั่วไปรู้จักกันในนามของยา “กล่อมประสาท” หรือยา “คลายกังวล” เช่น แวเลี่ยม (valium) แซแนก (xanax) อะติแวน (ativan) ยาประเภทนี้มีความปลอดภัยสูง (แปลว่าไม่มีพิษ ไม่ทำลายตับ ไม่ทำลายไต) แต่ถ้ารับประทาน ติดต่อกันนานๆ (2-3 สัปดาห์ขึ้นไป) จะเกิดการติดยาและเลิกยากและเมื่อหยุดยากระทันหันจะเกิดอาการขาดยา ซึ่งจะมีอาการเหมือนอาการแพนิค ทำให้แยกแยะไม่ได้ว่าหายหรือยัง ดังนั้นแพทย์จะเน้นกับผู้ป่วยว่าให้กินเฉพาะเมื่อมีอาการเท่านั้น ยังไม่เป็นห้ามกิน รอให้เริ่มมีอาการแล้วค่อยกินก็ทันเพราะมันออกฤทธิ์เร็ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น