22 พ.ย. 2552

เตือนภัยนอนเต็นท์ ไรกัดที่ลับถึงตาย!

เตือนนักท่องเที่ยวเข้าป่าหน้าหนาวระวัง 2 โรคร้าย สครับไทฟัส เกิดจากตัวไรอ่อนกัดในร่มผ้า รวมทั้งไข้ป่าจากยุงก้นปล่อง รุนแรงถึงตาย ในรอบปีนี้ป่วยแล้วกว่า 3 หมื่นราย ตาย 47 คน

*นายแพทย์ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวเมื่อวันที่ 21 ธันวาคม นี้ว่า ในช่วงฤดูหนาว สภาพอากาศเย็น ฟ้าโปร่ง ประชาชนจำนวนมากมักเดินทางไปท่องเที่ยวชมธรรมชาติ สูดไอหนาวในภาคเหนือ และนิยมไปเที่ยวป่า เดินป่า หรือกางเต็นท์นอนตามป่า ขอให้ระมัดระวังตนเอง

* เนื่องจากในป่าจะมีตัวไรอ่อน เป็นพาหะนำโรคสครับไทฟัส และมียุงก้นปล่องตัวการก่อโรคไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย ซึ่งยุงชนิดนี้อยู่ในป่า ออกหากินเวลากลางคืน ทั้ง 2 โรคนี้มีอันตรายทำให้เสียชีวิต

*"จากรายงานโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศในปี 2551 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมจนถึงพฤศจิกายน พบคนป่วยจาก 2 โรคนี้แล้ว 31,214 ราย เสียชีวิตรวม 47 ราย โดยโรคสครับไทฟัสป่วย 3,916 ราย เสียชีวิต 4 ราย และโรคมาลาเรียป่วย 27,298 ราย เสียชีวิต 43 ราย" ปลัดสาธารณสุขระบุ

* นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคสครับไทฟัส พบมากสุดที่ภาคเหนือจำนวน 2,152 ราย อันดับ 1 คือเชียงราย แม่ฮ่องสอน ตาก เชียงใหม่ รองลงมาคือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 987 ราย ภาคใต้และภาคกลางพบได้น้อย ส่วนโรคมาลาเรียพบมากที่สุดที่ภาคใต้ 11,532 ราย รองลงมาภาคเหนือ 9,513 ราย ภาคกลาง 5,265 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 988 ราย จึงขอให้ประชาชนระมัดระวังควรใส่เสื้อผ้าให้มิดชิด ใส่กางเกงขายาว เสื้อแขนยาวป้องกัน ทั้ง 2 โรคนี้ไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่มียารักษาให้หายขาดได้

*ด้านนายแพทย์ หม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคสครัปไทฟัสเกิดจากตัวไรอ่อน (Chigger) กัด ซึ่งในตัวไรอ่อนจะมีเชื้อริกเกตเซีย (Rickettsia orientalis) เชื้อนี้อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหารของไรหลายชนิด เมื่อไรแก่ จะวางไข่ไว้บนดินและฟักเป็นตัวอ่อน ขนาดเท่าปลายเข็มหมุด มีสีส้มอมแดง มองเห็นด้วยตาเปล่า ไรอ่อนจะอยู่รวมกันเป็นกลุ่มๆ ตามทุ่งหญ้า หรือพื้นที่ทุ่งหญ้าชายป่า ป่าโปร่ง พุ่มไม้เตี้ยๆ หรือพื้นที่ป่าละเมาะ รวมทั้งพื้นที่ที่เป็นป่าทึบแสงแดดส่องไม่ถึง

*ไรอ่อนจะกินน้ำเหลืองของสัตว์เลือดอุ่น เช่น นก หนู สัตว์เลื้อยคลาน รวมทั้งคนที่เดินผ่านด้วย จุดที่ไรอ่อนมักชอบกัดคือในบริเวณร่มผ้า ได้แก่ อวัยวะสืบพันธุ์ ขาหนีบ เอว ลำตัว รักแร้ และคอ ผู้ที่ถูกไรอ่อนกัดร้อยละ 30 จะพบแผลบุ๋มคล้ายโดนบุหรี่จี้ (Eschar) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของโรคนี้ ตรงกลางรอยแผล จะเป็นสะเก็ดสีดำ ส่วนรอบๆ แผลจะแดง หลังถูกกัดประมาณ 10-12 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะมาก ปวดเมื่อยตามตัว ตาแดง อาจมีอาการทางปอดและสมองได้ ควรรีบไปพบแพทย์ หากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้ ในการรักษา ประชาชนควรต้องแจ้งประวัติการไปเที่ยวป่าให้แพทย์ทราบด้วย

*การป้องกันไม่ให้ไรอ่อนกัด ผู้ที่จะไปเดินป่าหรือกางเต็นท์นอนในป่า ควรใส่รองเท้า สวมถุงเท้ายาวหุ้มปลายขากางเกงไว้ และเหน็บปลายเสื้อเข้าในกางเกง ใส่เสื้อแขนยาวปิดคอ ใช้ยาทากันแมลงกัดตามแขนขา แต่ไม่แนะนำให้ใช้ในรายที่ผิวหนังมีรอยถลอกหรือมีแผล และไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ขวบ เพราะเด็กอาจเผลอขยี้ตาหรือหยิบจับอาหารและสิ่งของใส่ปาก ทำให้รับสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย เป็นอันตรายได้ การทาครั้งหนึ่งจะออกฤทธิ์นาน 4 ชั่วโมง หลังออกจากป่าให้อาบน้ำให้สะอาด พร้อมนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซักให้สะอาดทันที เพราะตัวไรอาจติดมากับเสื้อผ้าได้ ส่วนการตั้งค่ายพักในป่า ควรทำบริเวณค่ายพักให้โล่งเตียน หลีกเลี่ยงการนั่งและนอนบริเวณพุ่มไม้ ป่าละเมาะ หรือหญ้าขึ้นรก

*สำหรับโรคมาลาเรีย เกิดจากเชื้อพลาสโมเดียม (Plasmodium) มี 4 ชนิด ที่พบบ่อยส่วนใหญ่เป็นชนิด พีฟัลซิพารัม (P.falciparum) ซึ่งเป็นชนิดที่รุนแรง และพีไวแว็กซ์ (P.vivax) มีระยะฟักตัวประมาณ 7-14 วัน มียุงก้นปล่องเป็นตัวแพร่เชื้อ* อาการของโรคคือ ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ พบผู้ป่วยได้ตลอดทั้งปี ทุกกลุ่มอายุ ลักษณะของอาการไข้ หากเป็นเชื้อฟัลซิพารัม จับไข้ทุก 36-48 ชั่วโมง หรือทุกวันก็ได้ และอาจมีภาวะแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น มาลาเรียขึ้นสมอง ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ปัสสาวะสีดำ ไตวาย ปอดบวมน้ำ ทำให้เสียชีวิตได้ ส่วนเชื้อไวแว็ก จับไข้ทุก 48 ชั่วโมงหรือจับวันเว้นวัน

*นพ.ม.ล.สมชาย กล่าวว่า การป้องกันโรคนี้ ไม่แนะนำให้กินยาป้องกันก่อนเข้าป่า เนื่องจากจะทำให้เข้าใจผิดว่ากินยาแล้วจะไม่ป่วยเป็นไข้มาลาเรีย และหากป่วยเป็นไข้มาลาเรียจริง ก็จะตรวจไม่พบเชื้อ ดังนั้น นักท่องเที่ยวที่จะเข้าไปนอนแคมป์ตามป่าเขา ควรเตรียมมุ้งหรือเต้นท์ชนิดที่มีตาข่ายกันยุง และสวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว แนะนำให้ใช้สีอ่อนๆ เพราะการใส่เสื้อผ้าสีดำ มักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก* รวมทั้งควรจุดยากันยุง ทายากันยุงหรือยาทาไล่ยุงที่ แขน ขา ใบหู หลังคอ และ ส่วนที่อยู่นอกเสื้อผ้า เพื่อป้องกันยุงกัด ทั้งนี้ ภายหลังกลับจากเที่ยวป่าแล้ว หากมีไข้ ต้องรีบพบแพทย์ และต้องแจ้งประวัติแก่แพทย์ที่ตรวจรักษาด้วยว่ามีประวัติการเข้าป่า เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงที

ไม่มีความคิดเห็น: