13 มิ.ย. 2553
ใช้ชีวิตนั่งนาน คอพาลเสื่อม
โดย : กานต์ดา บุญเถื่อน
หลายคนที่เคยปวดคอ อยากให้คุณอ่านเรื่องนี้ให้จบก่อนจะเปิดหน้าถัดไปเพราะคุณอาจเป็นรายต่อไปที่จะเป็นเหยื่อของโรคกระดูกคอเสื่อมอย่างไม่ทันรู้ตัว
มันไม่ใช่แค่อาการปวดคอเพราะนอนตกหมอน หรือคอเคล็ดธรรมดาที่ทายาวันสองวันก็หาย แต่มันเป็นอาการเสื่อมตามวัยตามสังขาร ยิ่งอาชีพที่พฤติกรรมนั่งแปะอยู่กับที่เป็นเวลายิ่งพึงสังวร
นพ.พุทธิพร เธียรประสิทธิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส สถาบันโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกรุงเทพ เกริ่นให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพกระดูกคอเสื่อมว่าเป็นอาการแบบค่อยเป็นค่อยไป และแสดงตัวชัดเจนในวัย 35-40 ปี โดยความสามารถเคลื่อนตัวของข้อกระดูกคอทำได้ไม่เต็มที่ ไม่เหมือนสมัยเป็นหนุ่มสาว แต่มักรู้สึกถึงอาการฝืดเคืองเมื่อพยายามจะเหลียวเต็มที่
“โรคกระดูกคอเสื่อม พบในคนสูงวัยมากกว่าเด็ก เนื่องจากกระดูกที่เสื่อมตามอายุที่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา ประกอบกับการบาดเจ็บขณะปฏิบัติงาน หรือเคยประสบอุบัติเหตุเกี่ยวกับข้อบริเวณคอมาก่อน แต่สำหรับในเด็กหรือคนวัยทำงานอาการปวดคอที่พบมักเป็นเพียงการปวดที่มาจากการอักเสบมากกว่าไม่ใช่กระดูกคอเสื่อม” ผอ.สถาบันโรคกระดูกสันหลัง กล่าว
สำหรับคนที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองเข้าข่ายอยู่ในกลุ่มเสี่ยงเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมหรือไม่ ให้ลองสังเกตได้ด้วยตัวเองว่า มีการปวดคอจนถึงขั้นต้องกินยาเพื่อรักษาอาการเกินเดือนละ 2 หนหรือเปล่า รวมถึงรุนแรงถึงขั้นงดกิจกรรมที่ทำเป็นประจำมากกว่า 2 ครั้งต่อเดือนหรือไม่
อาการข้างต้นเป็นสัญญาณเตือนเริ่มแรกที่ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจคัดกรองความเสี่ยงการเกิดโรคให้เร็วที่สุด เพื่อการรักษาที่ทันท่วงที โดยแพทย์ที่พบควรเป็นแพทย์เฉพาะทางโดยตรงอาทิ แพทย์ออโธปิดิกส์ แพทย์ประสาทวิทยา หรือแพทย์กายภาพบำบัด เป็นต้น
กลุ่มเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคข้อคอเสื่อมในคนไทยได้แก่กลุ่มอาชีพคนขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ต่างจากคนในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากต้องมองกระจกทั้งซ้ายและขวาขณะที่ขับ และต้องนั่งขับต่อเนื่องเป็นเวลานานกว่า 10 ชั่วโมง และอาชีพรองมาจะเป็นคนขับแท็กซี่เนื่องจากต้องมองทั้งกระจกด้านข้างทั้งสองเพื่อป้องกันการเฉี่ยวชน และขี่เป็นเวลานานเช่นกัน
ข้อคอที่มักพบว่ามีอุบัติการณ์เสื่อมมากที่สุด จะเป็นข้อคอระหว่างข้อ 5 และ 6 เนื่องจากเป็นข้อที่มีการใช้งานมาก และบอบบางมากที่สุดจากข้อคอทั้งหมดที่มีอยู่ 7 ข้อ โดยอาการที่เกิดอาจเริ่มจากการปวดข้อเดียว หรือสองข้อร่วมกันก็ได้ และมีผลกระทบไปถึงเส้นประสาทสั่งการทำให้อาการปวดอาจร้าวลงแขน มือ และนิ้วได้ด้วย
การรักษาเบื้องต้นของอาการปวดจากข้อคออักเสบ หรือข้อคอเสื่อม แพทย์จะใช้ยาระงับอาการปวดที่เกิดจากการอักเสบ ร่วมกับการทำกายภาพบำบัด เพื่อช่วยรักษาอาการหมุนและเงยคอให้สามารถใช้งานได้ปกติ แต่แพทย์จะหลีกเลี่ยงการกินยาระงับอาการแบบระยะยาวเพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อร่างกายได้
การออกกำลังเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับโรคดังกล่าว นพ.พุทธิพร แนะนำว่า กิจกรรมที่เหมาะจะเป็นการเดิน และว่ายน้ำ อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30-60 นาที เพราะผู้ป่วยจะได้ใช้อวัยวะทุกส่วนของร่างกาย นอกจากนี้ยังสามารถพึ่งพาหมอนวดแผนโบราณได้เช่นกัน
“การพึ่งพาหมอนวด เป็นวิธีรักษาที่ใช้ได้ผลอีกวิธี แต่ควรสัมภาษณ์หมอนวดก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริการ เพราะหมอที่จะได้ผลจริงควรเป็นหมอนวดที่เรียน และมีใบประกาศที่เรียนและผ่านการสอบแสดงให้ผู้ใช้บริการดู"
หมอยังแนะนำ หมอนวดที่เรียนมาจากกรมแพทย์แผนไทย หลักสูตรวัดโพธิ์ และหลักสูตรจากสถาบันประสาทที่น่าจะช่วยบรรเทาอาการปวดข้อคอได้
ถึงแม้โรคข้อคอเสื่อมสามารถรักษาได้ แต่โอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกหากไม่ดูแลตัวเองต่อเนื่อง และไม่ว่าจะเป็นคนที่เคยรับการรักษามาก่อน หรือไม่เคยรับการรักษาเลยก็ตามมีโอกาสเป็นซ้ำได้ถึง 20%
ผู้เชี่ยวชาญจากสถาบันโรคกระดูกสันหลัง รพ.กรุงเทพ บอกอีกว่า วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะข้อคอเสื่อมทำได้ง่ายมาก คือต้องไม่สูบบุหรี่ และใช้ชีวิตอย่างระวังตัวเองจากการประกอบอาชีพมากที่สุด
อาหารเสริมที่ใช้กินสำหรับป้องกันการเกิดโรคข้อคอเสื่อม ยังไม่มีรายงานวิจัยว่ามีอาหารเสริมประเภทไหนที่ใช้ได้ผลด้านการป้องกันเกิดโรค และหมอนนอนที่ถูกสุขลักษณะเอง แพทย์แผนปัจจุบันบอกได้เพียงว่าไม่ควรนุ่มหรือแข็งเกินไป ยังไม่มีหมอนวิเศษที่แก้ข้อกระดูกคอเสื่อม การเลือกหมอนที่เหมาะสม เลือกให้ตัวเองนอนแล้วไม่เจ็บศีรษะและหู นอนหลับสบายตื่นมามีแรงกระชุ่มกระชวยเท่านั้นเป็นใช้ได้
ทราบแล้วเปลี่ยน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น