13 มิ.ย. 2553

มะเร็งตับ โชคร้ายที่ไม่รวย


โดย : จุฑารัตน์ ทิพย์นำภา

หนังสือรอดตายจากมะเร็งยกขบวนกันออกมา ก็ใช่ว่าเป็นมะเร็งแล้วรอดทุกราย (หรือตายทุกราย) เพราะปัจจัยสำคัญแท้จริงคือ เงินน่ะมีไหม?


นายแพทย์วิโรจน์ เหล่าสุนทรศิริ หัวหน้าศูนย์วิจัยทางคลินิก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ตีโจทย์มะเร็งแตกกระจุย เขามองว่า ปัญหาของการรักษาโรคมะเร็งคือการเข้าไม่ถึงยา เนื่องจากต้องใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการรักษา เฉลี่ยสูงถึง 2 แสนบาทต่อเดือน

หากมองถึงระยะยาว คนรายน้อยถึงปานกลางโอกาสในการรักษาเรียกว่าน้อยมาก โดยเฉพาะมะเร็งที่ไม่แสดงอาการให้เห็นอย่าง มะเร็งตับ

อย่างที่รู้กันว่า หากพบก้อนมะเร็งตั้งแต่ระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก ซึ่งค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก แต่ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มาพบแพทย์ มักจะมาพร้อมกับก้อนมะเร็งในระยะลุกลาม การรักษาจึงรักษาไปตามไม่ช่วยให้หายขาด แต่สามารถยื้อชีวิตได้นานขึ้น

“หลังจากพบว่าเป็นมะเร็งจะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้ในลักษณะประคับประคอง ช่วง 3-6 เดือน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถในการรักษาพยาบาลหลักแสนบาทต่อเดือน” คุณหมอกล่าว

ค่าใช้จ่ายการวินิจฉัยรักษา เช่น การเอ็กซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ครั้งหนึ่งไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นบาท การตรวจเลือด ฉีดสี เพื่อดูการทำงานของตับ การผ่าตัดปลูกถ่ายตับใหม่ การจี้ทำลายเซลล์มะเร็ง การรักษาดัวยเคมีบำบัดซึ่งได้ผลเพียง10% และยารักษาชนิดเจาะจงเฉพาะจุด ความหวังใหม่ในการรักษา ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีการตามอาการที่ปรากฏ

ปัจจุบันอัตราการเกิดโรคมะเร็งตับอยู่ที่ 30-40% ส่วนมากเป็นเพศชาย ที่อายุ 40-50 ปี ขณะที่เพศหญิงพบเพียง 10% ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับมักมาพบแพทย์เมื่ออาการลุกลาม หรือเมื่อเกิดภาวะตับแข็งขึ้นแล้ว เนื่องจากมะเร็งตับมักจะไม่แสดงอาการเมื่อเริ่มเป็นในระยะแรก

เมื่อดูจากสถิติจะพบว่าผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ในระยะที่ปานกลางมีโอกาสรอดชีวิตที่ 3 ปี ประมาณ 50% แต่หากมาด้วยมะเร็งตับระยะลุกลาม อัตรารอดชีวิตที่ 3 ปี เพียง 8%

แม้ว่าการรักษาแบบใหม่โดยใช้ยารักษาแบบเฉพาะจุด หรือ targeted cancer treatment จะถูกคิดค้นขึ้นเพื่อแทนที่การรักษาแบบเดิม เช่น การฉายแสงหรือเคมีบำบัดช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วยได้ยาวนานขึ้น แต่ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงยาก็ไม่ได้ถูกลงไปกว่าการรักษาด้วยเคมี แถมยังแพงกว่าด้วยซ้ำ

“ยาดังกล่าวสามารถบล็อคหรือหยุดการทำงานของเซลล์มะเร็ง ไม่ทำลายเซลล์ข้างเคียงซึ่งเป็นเซลล์ปกติ เริ่มใช้รักษามะเร็งปอด และไต ประมาณ 8 ปี พิสูจน์แล้วว่าช่วยให้ผู้ป่วยมีอายุการอยู่รอดนานขึ้น จนกระทั่งเริ่มใช้กับมะเร็งตับใน ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศไทยยาชนิดนี้พึ่งขึ้นทะเบียนโดย อย. เมื่อต้นปี” คุณหมออธิบาย

สำหรับประเทศไทยแล้วการรักษามะเร็งสำหรับผู้ป่วยรายได้น้อย คนฐานะปานกลาง หรือแม้แต่ข้าราชการ ที่มีสวัสดิการคุ้มครองเป็นหลักประกันสุขภาพยังติดขัดในหลายด้าน ทันทีที่งบประมาณด้านการรักษาพยาบาลถูกกระจายให้ครอบคลุมทุกโรคผ่านทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำให้การเข้าถึงยารักษามะเร็งราคาแพงที่ยากอยู่แล้วแคบเข้าไปอีก

นั่นเป็นเรื่องที่ทำให้แพทย์ที่คลุกคลีกับอยู่กับผู้ป่วยโรงมะเร็งเกิดความหวั่นใจ จากจำนวนผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ หน้าใหม่ที่เข้ามายังสถาบันมะเร็ง ราว 4-5 รายต่อวัน ไม่รวมหน้าเก่าใช่ว่าจะรักษาได้หายขาย

"ในเมื่อมะเร็งยังคงเป็นสาเหตุการตายของประชากรทั่วโลก ขณะที่มะเร็งตับแม้จะครองอัน 3 รองจาก มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหาร จากจำนวนผู้ป่วยราว 6 แสน คนต่อปี เราต้องพยายามหากลไกช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีรายได้น้อย ไม่เกิน 2 ล้าน 5 แสนบาทต่อปี ให้สามารถเข้าถึงยาได้มากขึ้น"

หนทางที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งมีโอกาสเข้าถึงยาได้ในนาทีนี้ มีอยู่หนทางเดียวคือขอความร่วมมือจากบริษัทยา สนับสนุนการเข้าถึงยารักษาแบบใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มคน เอเชียตะวันออก จีนฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี ที่พบเป็นโรคมะเร็งตับสูงกว่าคนยุโรป

มูลนิธิสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้หารือกับบริษัท ไบเออร์ ผู้ผลิตยาดังกล่าว ริเริ่มโครงการ N-PAP เพื่อเพิ่มการเข้าถึงยาแบบเฉพาะจุดได้เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ที่มีปัญหาในลักษณะเดียวกัน

สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งตับที่เข้าร่วมโครงการ สามารถทดลองใช้ยาเฉพาะจุดได้ หากสามารถแบกรับค่าใช้จ่ายใน 3 เดือนแรก หรือราว 5-6 แสนบาท หากยาที่ได้รับช่วยให้ผู้ป่วยดีขึ้นจริง บริษัทยาจะยอมให้ใช้ยาฟรีตลอดการรักษา

ยาตัวนี้ไม่สามารถใช้ได้กับผู้ป่วยทุกคน ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับยา ยอมรับว่าเป็นวิธีการรักษาแบบเรื้อรัง อายุยืนยาวขึ้น 3 เดือน ถึง 1 ปี

มะเร็งตับที่เกิดจากเชื้อไวรัสตับอักเสบบีมักจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยเริ่มแสดงอาการปรากฏเมื่อเข้าสู่วัยกลางคน หรือ 35-65 ปี กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวัง และควรเข้าถึงยาให้มากที่สุด ถ่ายทอดทางพันธุกรรมระหว่างคลอด ปรากฏการณ์ของโรคเกิดในวัยทำงาน

แน่นอนโครงการดังกล่าวมีเงื่อนไข โดยจำกัดเฉพาะผู้รายได้น้อย และมีความสามารถในการรับยา ซึ่งไทยนับเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว และเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชีย รองจากจีน ที่เริ่มต้นการรักษาในรูปแบบนี้ไปแล้ว ตั้งแต่ยาดังกล่าวได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศ

คุณหมอมองว่า ประเทศไทยยังมีผู้ป่วยโรคมะเร็งอยู่เป็นจำนวนมาก หากแนวทางดังกล่าวได้ผลอาจนำไปสู่การผลักดันการรักษามะเร็งชนิดอื่นตามมา โดยเขาคาดว่าการเข้าถึงยาที่มากขึ้นในผู้ป่วยโรคมะเร็งตับ 200-500 คน จะสามารถลดอัตราการตายด้วยดังกล่าวได้ถึง 10% ภายในอีก 4-5 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น