9 ต.ค. 2553

ระวังจุลินทรีย์เชื้อก่อโรคในแหนม


"แหนม" เป็นอาหารพื้นเมืองที่เกิดขึ้นจากภูมิปัญญาชาวบ้านโดยแท้ ต้นกำเนิดของแหนมเกิดจากการดัดแปลงเนื้อหมู ที่เป็นวัตถุดิบที่เหลือจากการบริโภค แล้วนำมาผสมนั่นนิดนี่หน่อย จนกลายมาเป็นแหนมที่ทุกคนรู้จักและชอบรับประทาน

และจากภูมิปัญญาของชาวบ้าน ปัจจุบันได้ถูกดัดแปลงให้เข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเป็นระบบ มีกรรมวิธีการผลิตที่มีคุณภาพ เริ่มจากการคัดเลือกเนื้อหมูสด ที่ผ่านการตรวจสอบตั้งแต่โรงฆ่าสัตว์ไม่มีโรค

จากนั้นเข้าสู่กระบวนการลอกเนื้อเยื่อและเอา ไขมันที่ไม่ต้องการออก แล้วนำมาบดผสมกับส่วนประกอบต่างๆ เช่น เกลือ ดินประสิว ข้าวเจ้าสุก และเครื่องเทศ

หลังจากผสมแล้วจึงนำมาบรรจุลงในภาชนะบรรจุที่มีอยู่หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกรูปทรงกระบอก ถุงพลาสติกลักษณะเป็นตุ้ม หรือบรรจุในพลาสติกธรรมดาแล้วหุ้มด้วยใบตอง ทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องปกติเพื่อให้เกิดการหมัก ประมาณ 3-5 วัน ก็นำมารับประทานได้

อย่างไรก็ตาม คงต้องระวัง! ในเรื่องของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคที่อาจปนเปื้อนเข้ามาในแหนมได้

จุลินทรีย์ชนิดที่พบมาก เห็นจะเป็นเชื้ออี.โคไล มักปนเปื้อนจากการประกอบอาหารด้วยการใช้มือสัมผัส ถ้าคนปรุงและคลุกเคล้าส่วนผสมของแหนม มีสุขลักษณะที่ไม่ดีเพียงพอ ไม่ล้างมือก่อนทำ และภาชนะที่ใช้สัมผัสแหนมระหว่างการผลิตไม่สะอาดพอ อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอาการท้องเสียได้... นอกจากนี้ยังมีเชื้อซาลโมเนลลาอีกชนิด ที่อาจปนเปื้อนมาอันตรายของเชื้อชนิดนี้คือเมื่อผู้บริโภครับเชื้อเข้าไปแล้วจะทำให้เกิด อาหารเป็นพิษ หลังจากร่างกายได้รับเชื้อนี้เข้าไปเป็นเวลาประมาณ 6-24 ชั่วโมง

คอลัมน์ "มันมากับอาหาร" จึงได้ทำการวิเคราะห์เชื้อก่อโรคทั้ง 2 ชนิด ในแหนม 5 ยี่ห้อ ผลวิเคราะห์แสดงดังตารางข้างล่าง

ใครที่ชอบทานแหนมต้องเลือกดูสินค้าด้วย เช่น ห่อบรรจุมีรอยฉีกขาดไม่ควรซื้อ หรือถ้าอยากทานจริงๆ ก็เอามา ผ่านความร้อนในระดับจุดเดือดก่อน เพื่อความปลอดภัยของตัวคุณเอง


ข้อมูลภายใต้ความร่วมมือของสสส. และ วิชาการดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น