6 มี.ค. 2554
7 เทคนิคทำสมาธิบำบัดโรค
การฝึกสมาธิกำลังกลายเป็นศาสตร์ใหม่ที่ชาวตะวันตกให้ความสนใจนำไปใช้รักษาอาการป่วยกายหลายอย่าง โดยไม่ต้องพึ่งยาเคมีปัจจุบัน มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกานำเอาการปฏิบัติสมาธิวิปัสสนาไปรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ อาการซึมเศร้า รวมถึงภาวะทางจิตของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์สะเทือนจิตใจ (พีทีเอสดี)
รศ.ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้หนึ่งที่สนใจนำการฝึกสมาธิมาประยุกต์ใช้รักษาโรค หลังจากทำการศึกษาจนค้นพบท่วงท่าการฝึกสมาธิสำหรับบำบัดภาวะเบาหวาน และโรคอื่น
จากผลวิจัยในคนไข้ ทำให้ได้เทคนิคบำบัดโรคที่พร้อมนำไปปฏิบัติได้จริงถึง 7 เทคนิค เพื่อประโยชน์ด้านการเยียวยาโรคที่เรื้อรังและการป้องกันการเกิดโรคในระยะยาว ที่สามารถประยุกต์ใช้งานได้เองไม่ยาก
ท่าแรกคือ ท่านั่งผ่อนคลาย
ประสานกายประสานจิต มีผลดีในด้านการลดความดันโลหิต การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานได้ดีสามารถฝึกได้ทั้งท่านั่งด้วยการขัดสมาธิ หงายฝ่ามือทั้งสองข้างวางบนหัวเข่า หรือฝึกท่านอนให้วางแขนหงายมือไว้ข้างลำตัว หรือคว่ำฝ่ามือวางบนหน้าท้องก็ได้ จากนั้นหลับตาลงช้าๆ สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ พร้อมนับ 1-5 กลั้นหายใจนับ 1-3 ช้า ช้า เช่นกัน แล้วเป่าลมหายใจออกทางปากช้าๆ พร้อมกับนับ 1-5 เช่นกัน โดยทำซ้ำ 30-40 ครั้งวันละ 3 รอบก่อนหรือหลังอาหารประมาณ 30 นาที
ท่าที่ 2 เป็นท่ายืนผ่อนกายประสานการประสานจิต
ท่านี้จะช่วยลดความดันโลหิต ลดน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน และควบคุมการทำงานของไขสันหลังให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ วิธีปฏิบัติให้ผู้ฝึกยืนตรงในท่าที่สบายวางฝ่ามือซ้ายทาบที่หน้าอกแล้วนำฝ่ามือขวาวางทาบทับฝ่ามือซ้าย พร้อมกับค่อยๆ หลับตาจากนั้นสูดลมหายใจเข้าและออกเหมือนกับท่าแรก แต่เทคนิคนี้จะทำซ้ำ 120-150ครั้ง จึงลืมตาขึ้นช้าๆ และทำวันละ 3รอบโดยเพิ่มเวลาให้มากกว่าเดิมทุกครั้ง
ท่าที่ 3 การนั่ง เหยียด ผ่อนคลายประสานกาย ประสานจิต
ท่านี้จะช่วยลดไขมันหน้าท้องลดพุง และลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เป็นอย่างดี การปฏิบัติท่านี้ให้ผู้ฝึกนั่งราบกับพื้นในท่าที่สบาย เหยียดขาและเข่าให้ตึง หลังตึง เท้าชิด คว่ำฝ่ามือบนต้นขาทั้ง 2ข้างค่อยๆ หลับตาลงจากนั้นหายใจเข้าออกและนับเหมือนกับท่าแรก 3 ครั้ง จากนั้นต่อด้วยการหายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ พร้อมกับค่อยๆ โน้มตัวไปข้างหน้าผลักฝ่ามือทั้งสองข้างไปด้านหน้าจนปลายมือจรดนิ้วเท้า หยุดหายใจชั่วครู่ และหายใจออกช้าๆ พร้อมกับค่อยๆ ดึงตัวและแขนเอนไปข้างหลังให้ได้มากที่สุดและนับเป็น 1 รอบ ทำซ้ำ 30 ครั้งแล้วค่อยๆ ลืมตา
ท่าที่ 4 การก้าวย่างอย่างไทย
เจ้าของท่าบอกว่า ในท่านี้ความยากของการฝึกจะมีมากขึ้น เริ่มจากยืนตรงในท่าที่สบายลืมตา มือสองข้างไขว้หลัง สูดลมหายใจเข้าออกลึกๆ และทำเหมือนท่าแรก จนครบ 5รอบ จากนั้นให้ยืนตัวตรงมองต่ำไปข้างหน้าหายใจเข้าช้าๆ พร้อมค่อยๆ ยกเท้าขวาสูงจากพื้นเล็กน้อยหายใจออกช้าๆ พร้อมกับก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าจรดปลายเท้าแตะพื้น ตามด้วยส้นเท้าวางลงบนพื้น ส่วนเท้าซ้ายให้วางชิดเท้าขวาในช่วงหายใจออกทำซ้ำให้ได้ 20ครั้ง โดยที่เวลากลับตัวให้หมุนทางขวาโดยขยับเท้าให้เอียง 60องศาและ 90องศาในท่ายืนตรง ทำซ้ำด้วยการเดินกลับไปมา 2เที่ยว จะใช้เวลาประมาณ 45-60นาที หลังการฝึกวิธีดังกล่าวมีผลในเรื่องเพิ่มภูมิต้านทานโรคเรื้อรังทุกประเภท คล้ายกับการเดินจงกรม
ท่าที่ 5 ชื่อว่ายืดเหยียดอย่างไทย
ผู้ฝึกต้องเคลื่อนไหวอย่างช้า นับเลขอย่างช้าจะได้ประโยชน์สูงที่สุด โดยเริ่มฝึกจากวันละ 60 รอบและเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในวันต่อๆ ไป ช่วยป้องกันโรคและเสริมสร้างสุขภาพๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มจากท่ายืนตรงที่สบาย เข่าตึงและค่อยๆ หลับตาลงช้าๆ สูดลมหายใจเหมือนกับท่าแรก จนครบ 5 รอบ จากนั้นต่อด้วยการค่อยๆ ยกมือทั้งสองข้างขึ้นเหนือศีรษะให้ฝ่ามือประกบกัน แขนตึงแนบใบหู หายใจเข้าและออก 1 ครั้ง และค่อยๆ ก้มตัวลง โดยศีรษะ ตัวและแขนก้มลงพร้อมๆ กันอย่างเป็นจังหวะช้าๆ ไปเรื่อยๆ ให้ได้ 30 จังหวะเมื่อปลายนิ้วกลางจรดพื้นพอดี ตามด้วยหายใจเข้าและออกช้าๆ ลึกๆ 1 ครั้งและค่อยๆ ยกตัวกลับ ในท่าเดิมศีรษะตั้งตรงใน 30 จังหวะเช่นกัน
ท่าที่ 6 เป็นเทคนิคการฝึกสมาธิการเยียวยาไทยจินตภาพ
เทคนิคนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้มีปัญหาระบบไหลเวียนอัมพาต ซึ่งประสาทการรับรู้ทั้งร่างกายไม่สามารถทำงานได้สะดวก แต่ประสาทการได้ยินยังทำงาน ผู้ดูแลจะต้องเป็นผู้ช่วยในการบอกให้เขาได้ยินและคิดตามตั้งแต่เริ่มนอนบนพื้นเรียบ แขนทั้งสองข้างวางแนบลำตัว และให้เขาหลับตาลงช้าๆ สูดลมหายใจเหมือนท่าแรก 3รอบด้วยกัน แล้วให้เขาท่องในใจว่า
"ศีรษะเรากำลังเริ่มผ่อนคลาย ผ่อนคลายลงเรื่อยๆ" และกำหนดความรู้สึกไปที่อวัยวะที่เราจดจ่อไล่จากศีรษะ หน้าผาก ขมับ หนังตา แก้ม คาง ริมฝีปาก คอ ไหล่ ต้นแขน แขน มือ หน้าอก หลัง หน้าท้อง ก้น ต้นขา เข่า น่อง เท้าและตัวเราทั้งตัว (ขณะที่ไล่มาถึงมือและเท้าให้ท่องว่า มือเรากำลังเริ่มหนักขึ้น หนักขึ้น เท้าเรากำลังเริ่มหนักขึ้น หนักขึ้น) เมื่อทำครบเช่นนี้แล้วให้หายใจเข้า กลั้นใจ หายใจออก เหมือนเริ่มต้นอีก 3 รอบ
ส่วนท่าสุดท้าย เป็นเทคนิคสมาธิการเคลื่อนไหวไทยชี่กง
เริ่มด้วยการยืนตัวตรงแยกเท้าทั้งสองข้างพอประมาณ ค่อยๆ หลับตาลงช้าๆ สูดลมหายใจเหมือนท่าแรกให้ครบ 5 รอบ จากนั้นค่อยๆ ยกมือขึ้น แขน ข้อศอกทั้งสองข้างอยู่ในระดับเอว โดยหันฝ่ามือทั้งสองข้างเข้าหากัน ขยับฝ่ามือเข้าหากันช้าๆ นับ 1-3 และขยับมือออกช้าๆ นับ 1-3 ทำทั้งหมด 36-40 รอบ และยืนอยู่ในท่าเดิม หายใจเข้าลึกๆ นับ 1-5 ค่อยๆ ยกมือขึ้นเหนือศีรษะ คล้ายกับกำลังประคองหรืออุ้มแจกันใบใหญ่ แล้วค่อยๆ ยกมือลงในท่าประคองแจกันเช่นกันนับเป็น 1รอบ โดยทำซ้ำ 36-40 รอบแล้วยืนในท่าเดิม ท่านี้จะช่วยลดอาการท้องผูก นอนไม่หลับ อาการปวดเรื้อรัง หรือเฉียบพลัน และภูมิแพ้
"การฝึกสมาธิเพื่อบำบัดโรค แต่ละท่ามีความยากง่ายต่างกัน สำหรับคนที่ยังไม่เคยฝึกควรเริ่มจากท่าที่ 1เพื่อเตรียมความพร้อมในเรื่องการหายใจให้ร่างกายก่อนที่จะเริ่มฝึกปฏิบัติในท่าที่ยาก เพราะหากร่างกายไม่พร้อมแล้วฝืนอาจเกิดผลเสียมากกว่าผลดีได้เช่นกัน" หัวหน้าภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข ม.มหิดล กล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น