30 พ.ค. 2554

อิชิตันชาเขียว - การย้อนเกล็ดโออิชิที่เจ็บแสบ ภาค1

ทุกคนมีข้อดีและข้อเสีย ไม่มีใครสมบูรณ์แบบทั้งหมด แต่เรามักจะดูคนที่ประสบความสำเร็จไว้เป็นแรงบันดาลใจ ให้สู้ต่อไป ให้มุ่งมั่นกับความฝัน

คุณตัน (โออิชิ) หรือภาสกรนที ก็เป็นหนึ่งในไอดอลของผมมาตลอด เพราะเขาเริ่มมาจากศูนย์ มีเงินเป็นสิบล้าน ติดลบเป็นร้อยล้าน แล้วก็กลับมามีอีกเป็นพันล้านได้ ด้วยความสามารถและการตัดสินใจที่เฉียบคมของเขาล้วนๆ

จุดหักเหที่ทำให้ตันต้องมาเปิดตัวเองเป็นแบรนด์ใหม่ โดยใช้ตัวเองเป็นพรีเซนเตอร์นั้นก็ต้องย้อนกลับไปที่ “การเข้ามาถือซื้อหุ้นโออิชิของเบียร์ช้างในปี 2006”

ตอนเข้าตลาดมูลค่าของโออิชิประมาณ 300 ล้านบาทเท่านั้น แต่เมื่อเจ้าสัวเจริญยื่นข้อเสนอที่ปฎิเสธไม่ได้ด้วยดีล 3000 ล้านบาท กำไรถึง 10 เท่าภายในเวลาไม่ถึง 3 ปี ที่สำคัญกว่านั้นคือการยอมให้ตันบริหารต่อไปในฐานะCEOโดยคงหุ้นไว้ 10%เท่านั้น โดยที่เจ้าสัวก็จะไม่เข้ามายุ่ง หรือแทรกแซงอะไร ให้ตันบริหารไปเต็มที่

“ข้อเสนอแบบนี้จะมีคนสักกี่คนที่จะปฎิเสธ”

เป้าหมายของเบียร์ช้าง มี2ประการคือ

1. ลงทุนในธุรกิจส่วนอื่นที่เป็น Non-Alcohol ซึ่งได้โออิชิซึ่งมีส่วนแบ่งของชาเขียวสูงที่สุดในประเทศไทย แถมยังมีธุรกิจเชนร้านอาหารที่มีคนรู้จักทั้งประเทศ เรียกได้ว่าเป็นแบรนด์ที่คนไทยให้การยอมรับในเรื่องอาหารและเครื่องดื่มในระดับต้นๆของเมืองไทยเลยทีเดียว

2. การเข้าตลาดหลักทรัพย์แบบ BACK DOOR หรือว่าประตูหลัง หากจะย้อนกลับไปเบียร์ช้างพยายามลองเชิงในการเข้าตลาดหุ้นไทยมาหลายครั้ง ในสมัยที่ กิตติรัตน์ ณ ระนองยังเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่

แต่จะพิจารณาทีไรก็โดนม็อบมาประท้วงทุกที สุดท้ายเมื่อเข้าไปเทรดตลาดที่สิงค์โปร์ กิตติรัตน์ก็ลาออก เพราะตามสัจจะวาจาที่เคยให้ไว้ ว่าอยากให้เบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้นไทย มันไม่ได้มีผลต่อการที่จะทำให้คนไทยทานเหล้ามากขึ้นหรือน้อยลง แต่มันจะเป็นโอกาสที่นักลงทุนไทยจะมีทางเลือกมากขึ้น

ว่ากันว่า สาเหตุที่เบียร์ช้างไม่สามารถเข้าเทรดในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้นั้น เป็นเพราะการตกลงผลประโยชน์ทางการเมืองไม่ได้มากกว่า ฝ่ายการเมืองอาจจะเรียกร้องสูงเกินกว่าที่เจ้าสัวจะรับได้ ซึ่งก็พอจะมีความเป็นไปได้อยู่บ้าง เพราะรัฐบาลสมัยนั้นมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด หากจะผลักดันให้เบียร์ช้างหรือไทยเบพฯ เข้าตลาดนั้นเป็นเรื่องที่ไม่เกินความสามารถแน่นอน

เมื่อคุณเจริญถอดใจไปเข้าตลาดสิงค์โปร์เสร็จแล้ว ก็ซื้อกิจการของโออิชิ ก็เปรียบเสมือนการเข้าตลาดหุ้นไทยทางประตูหลัง (BACK DOOR) ถึงจะไม่ใช่เป้าหมายแบบที่หวังไว้ตอนแรก แต่การมีหุ้นเทรดในตลาดไทยในชื่อบริษัทที่มีมูลค่าน้อยกว่าไทยเบฟ แถมยังได้โออิชิที่ธุรกิจที่มีกระแสเงินสดดีมากๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่เลวร้ายอะไรนัก

ดีลที่หอมหวานนี้จึงเกิดขึ้น ตันได้เงินมา 3000 ล้าน เจ้าสัวได้โออิชิไปทั้งแบรนด์ ได้เข้าตลาดหุ้นทันที ทุกฝ่ายจึงดูน่าจะWIN WIN แต่ตันโออิชิในวันนั้นก็ไม่ประมาท และเจ้าสัวเจริญก็รู้ว่าวันหนึ่งตันต้องไป แต่คงไม่นึกว่าจะโดนย้อนเกล็ดแบบเจ็บแสบที่สุดขนาดนี้




ที่มา www.blogger.com โดย assuming

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น