30 พ.ค. 2554

อิชิตันชาเขียว - การย้อนเกล็ดโออิชิที่เจ็บแสบ ภาค2

ยามรักกันใหม่ๆ น้ำต้มผักก็ยังว่าหวาน ไม่ต่างอะไรกับตันโออิชิ และเจ้าสัวเจริญแห่งเบียร์ช้าง

ตัน ภาสกรนที ไม่ใช่ผู้บุกเบิกในตลาดใด แต่ตั้งแต่เขาเข้าสู่วงการอาหารและเครื่องดื่ม ก็ได้สร้างปรากฎการณ์ที่สามารถ “เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคของคนไทยให้ไปตลอดกาล” ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

เริ่มตั้งแต่การทำบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นราคา500บาทให้เป็น “ Talk of the Town” ในช่วงที่ผู้ใช้อินเทอร์เนตในเมืองไทยยังอยู่แค่ระดับแสนกว่าคนเท่านั้นเอง เหตุการณ์นั้นสร้างให้รับประทานอาหารญี่ปุ่นกลายเป็น “แฟชั่น” และกลืนเป็นวัฒนธรรมการกินของคนไทยในที่สุด

ถ้าลองย้อนกลับไปดูเมื่อ15ปีที่แล้ว ห้างสรรพสินค้าทั่้วไปยังไม่มีร้านอาหารญี่ปุ่นไว้คอยบริการลูกค้าเท่าใดนัก เหมือนที่ตอนนี้ห้างส่วนใหญ่ก็ไม่มีอาหารอิตาเลียนแท้เลย (ถ้าไม่นับพิซซ่า) จะทานแต่ละทีต้องไปตามโรงแรม หรือสุขุมวิทเท่านั้น

แต่พอปัจจุบันหากห้างสรรพสินค้าใดไม่มีร้านอาหารญี่ปุ่นกลับเป็นเรื่องแปลก อย่างน้อยก็ต้องมี 3 ร้านขึ้นไปในแต่ละห้างแน่นอน จนลามไปถึงตลาดนัดต่างๆ ที่มีซูชิคำละ 5 บาทให้เห็น ก็เป็นผลมาจากการเริ่มต้นของโออิชิบุฟเฟ่ต์ทั้งสิ้น

พอเข้าสู่ธุรกิจชาเขียว ตันก็ไม่ใช่เจ้าแรก และเจ้าใหญ่ที่สุด ณ ตอนนั้น คนที่บุกเบิกตลาดก็คือยูนิฟ (UNIF) คนไทยฮือฮากับโฆษณาหนอนพ่อลูก และวลีติดปากที่ว่า “ชิมเมะโจได๋” โออิชิเข้ามาเป็นรายหลัง แต่ตันมีเพื่อนซี้คนหนึ่งเป็นคนไต้หวัน ผู้อยู่เบื้องหลังการปรุงรสชาเขียวและเครื่องดื่มหลากหลายชนิดของโออิชิในตอนนั้น มาทำรสชาติให้ถูกปากคนไทย

และความกล้าทำตลาดของตันที่สร้างปรากฎการณ์อีกครั้งหนึ่งด้วยการแจก “30 ฝา 30 ล้าน” แจกถึงที่สดๆทันที

แม้ว่าตอนแรกๆคนที่ได้ไปจะเป็นคนเก็บขยะก็ตามที แต่พอการแจกจริง เงินสดๆ ลงข่าวไปทั่วทุกสื่อ พี่ไทยก็ต้องหามาลองให้ได้

ทำให้ตอนนั้นชาเขียวโออิชิขาดตลาดขึ้นมาทั่วประเทศทันที ใครๆก็อยากซื้อมาลอง โชคดีที่มีโรงงานที่เป็นพาร์ทเนอร์ต่างๆของคุณตันช่วยดูแล และผลิตให้เพียงพอกับความต้องการในเวลานั้น คุณตันก็ยังซึ้งถึงน้ำใจกันมาถึงทุกวันนี้

หลังจากปรากฎการณ์ 30 ฝา 30 ล้านสักพัก ก็เกิดดีล 3000 ล้านขึ้นมา เมื่อได้เข้าสู่การทำงานที่ต้องมีเป้าหมายชัดเจน คือต้องคิดถึงกำไรของผู้ถือหุ้นเป็นหลัก คือกำไรมากขึ้นในทุกๆปี คุณตันก็เริ่มออกผลิตภัณฑ์ใหม่มาหลายตัว ดีบ้าง แป๊กบ้าง ไม่ว่าจะเป็น น้ำส้มเซกิ ชาเขียวรสใหม่ๆ อามิโนโอเค คอฟฟี่โอ หรือไลน์ร้านอาหารชาบูชิ และเปิดโออิชิสาขาใหม่ๆ

ปรากฎการณ์ความแตกร้าวเริ่มมาจากไหน ก็คงเริ่มมาจากความระแวงจากทั้งสองฝ่ายนั้นเอง

คุณตันก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้นานแค่ไหน เพราะเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อยแล้ว สถานะตอนนั้นก็เป็นแค่ลูกจ้างรับบริหารให้เท่านั้น เจ้าของตัวจริงจะเตะกระเด็นเมื่อไหร่ก็ได้ หากมีผลประกอบการไม่น่าพอใจ

เจ้าสัวเจริญเองก็เป็นเจ้าของบริษัท ถึงปากจะพูดว่าให้ตันดูแล แต่เขาก็กลัวตันดูแลให้เขาไม่เต็มที่ หรือตันเป็นตัวเองมากเกินไปจนเขาควบคุมไม่ได้

จากฝั่งเจ้าสัวที่เริ่มปรับโครงสร้างก็คือการส่งคนเข้ามาเป็นกรรมการบริษัท ดูแลเรื่องการเงิน เซ็นเช็คสำคัญๆ แต่เหตุผลที่สำคัญคือน่าจะเป็นคนที่รายการเหตุการณ์ในบริษัทสายตรงมากกว่า

ส่วนตัน โออิชิ เปลี่ยนไปอย่างชัดเจนมาก นามบัตรของเขาไม่ใช่CEO ของโออิชิ แต่เป็น ตัน ภาสกรนที ในฐานะที่เขาเป็นเจ้าของบริษัทที่เขาจดทะเบียนขึ้นมาใหม่ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทกล้วย กล้วย ทำธุรกิจห้างสรรพสินค้าที่ลพบุรี)

โฆษณาของโออิชิใช้ตันเป็นพรีเซนต์เตอร์แทบทุกอย่าง ทั้งน้ำส้มเซกิ อามิโนโอเค แคมเปญไปแต่ตัวทัวร์ยกแก๊งค์ ฯลฯ ที่หากในมุมมองของคนทำธุรกิจแบบรุ่นเก่าเช่น คุณเจริญ เจ้าของขนมปังเซี่ยงไฮ้ เจ้าของกระทิงแดง เจ้าของเอ็มเค ฯลฯ เขาจะไม่ออกหน้าออกตาในสื่อใดๆทั้งสิ้่น

ทีมงานเจ้าสัวมีสิทธิ์คิดได้ว่า ตัน กำลังเริ่มใช้ทรัพยากรในบริษัทโออิชิเพื่อโปรโมตตัวเอง เพื่อรองรับเหตุการณ์ที่จะเปลี่ยนแปลงขึ้นในอนาคต หรืออาจจะมองในแง่ดีว่า ช่วยประหยัดค่าพรีเซนต์เตอร์ ซึ่งถือเป็นต้นทุนที่มหาศาลในการโฆษณา ถ้าบริษัทมีสินค้าใหม่ปีละ 6 รายการ จ้างดาราเกรด A เฉลี่ยก็ไม่ต่ำกว่าคนละ 5 ล้านบาท ปีหนึ่งก็ต้องใช้เงินถึง 30 ล้านบาททีเดียว

การใช้ผู้บริหารเป็นพรีเซนเตอร์สินค้าก็เป็นเรื่องที่มีมาแล้วในเมืองไทย ซึ่งขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ยกตัวอย่างเช่น DTAC ก็เคยทำมาแล้ว แม้จะรู้ว่าCEOจะบริหารงานในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น การตัดสินใจเวลานั้นเพราะคนขาดความเชื่อมั่นในแบรนด์DTAC จึงไม่มีใครจะมาทำให้ผู้บริโภคเชื่อได้นอกจากCEOมาพูดเอง แต่กับโออิชิน่าจะมีทางเลือกมากกว่าให้ตันเป็นพรีเซนเตอร์มากมายนัก

อีกเรื่องคือการทำหนังสือ “ชีวิตนี้ไม่มีทางตัน” ซึ่งมีการทั้งพิมพ์เพื่อจำหน่าย ทั้งแจก ทั้งแถม ไปหลักแสนเล่ม ถึงหนังสือจะมีก่อนขายบริษัทให้เบียร์ช้าง

การเดินสายพูดบรรยายไปตามสถาบันการศึกษาต่างๆ อาจจะเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เพื่อเป็นการสร้างแบรนด์โออิชิให้แข็งแรงขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่

หากมองกลับกันหากจะคิดในแง่ร้ายว่าตันวางแผนสร้างตัวเองเป็นแบรนด์ก็ย่อมได้ อะไรๆที่มากไปย่อมไม่ดี ถ้าคุณเป็นเจ้าของบริษัท แต่กรรมการผู้จัดการเดินสายไปทั่วประเทศ เน้นการตลาด ไม่ค่อยอยู่ออฟฟิศ มันก็อาจจะก่อให้เกิดความไม่พอใจอยู่ลึกๆได้

ถ้าถามว่าตันเริ่มสร้างตัวเองเป็นแบรนด์ตั้งแต่เมื่อไหร่ “ก็ตั้งแต่ใส่หมวก” นั่นแหละครับ

เรื่องอื่นๆก็พออลุ่มอลวยกันได้ ตราบใดที่บริษัทยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โออิชิเป็นยังเป็นเจ้าตลาดขอชาเขียว ระดับคนที่มีเงินเป็นพันล้าน และแสนล้าน เขาคงไม่มาทะเลาะกันด้วยเรื่องหยุมหยิม แต่ฟางเส้นสุดท้ายก็ขาดสะบั้นลง เพราะการมาของผู้ชายที่ชื่อ แมทธิว กิจโอธาน หรือว่ากรรมการผู้จัดการบริษัทโออิชิในปัจจุบันนั้นเอง



ที่มา www.blogger.com โดย assuming

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น