1 ส.ค. 2553
ลานกีฬา - สวนสาธารณะ : สวนหลวง ร. ๙
ที่ตั้ง : ถนนสุขุมวิท 103 แขวงหนองบอน เขตประเวศ กทม. 10250
ขนาดพื้นที่ : 500 ไร่
เวลาทำการ : 05.00 -18.00 น. ทุกวัน
ประเภทของสวน : สวนสาธารณะขนาดใหญ่ หรือสวนระดับเมือง
หน่วยงานรับผิดชอบ : สำนักงานสวนสาธารณะ สำนักสิ่งแวดล้อม
รถประจำทาง : ถนนศรีนครินทร์ สาย 145 133 207 ปอ145 ปอ.พ 15
ประชาชนผู้มาใช้บริการ: วันธรรมดา ประมาณ 10,000-25,000 คน / วันหยุดราชการ ประมาณ 30,000 คน
ประวัติความเป็นมา
สวนหลวง ร.๙ สร้างขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของกรุงเทพมหานคร มูลนิธิสวนหลวง ร.๙ องค์กรภาครัฐและเอกชน รวมถึงปวงชนชาวไทยเพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในศุภมงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ ในพ.ศ. 2530 โดยสร้างบนที่ดินของกรุงเทพมหานครบริเวณหนองบอน ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์แต่มีศักยภาพในการเป็นพื้นที่รับน้ำก่อนระบายสู่แหล่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตามพระราชดำริ
โครงการเริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 ตามความมุ่งหวังร่วมกันที่จะสร้างสวนสาธารณะระดับนคร ให้เป็นหน้าตาของประเทศ และสร้างพื้นที่สีเขียวเพื่อให้ประชาชน ได้มาเที่ยวพักผ่อน ด้วยที่ดินผืนนี้ไม่ได้ต่อเนื่องกันเป็นผืนเดียว แต่มีหลายสิบโฉนด และหลายแปลงปะปนในที่ดินเอกชน จึงต้องแลกที่ดินกับเอกชน และได้รับบริจาคเพิ่ม ทำให้มีพื้นที่รวมถึง 500 ไร่ เหมาะสมกับการเป็นสวนระดับนคร และการแปรสภาพจากพื้นที่ลุ่ม รกร้าง เต็มไปด้วยหลุมบ่อ และทุ่งนา ดงหญ้าสูงท่วม
กลายเป็นสวนสาธารณะสมบูรณ์แบบที่งามสง่าจับตาดังเนรมิต แสดงถึง พลังศรัทธา ความสมานสามัคคี และความจงรักภักดีต่อองค์พระประมุขของชาติ และเป็น อนุสรณ์แห่งสายสัมพันธ์อันลึกซึ้งระหว่างพระมหากษัตริย์ และราษฎรชาวไทย ผลงานยิ่งใหญ่นี้จะสืบทอดเป็น มรดกล้ำค่าสู่ชนรุ่นต่อไป
ลักษณะเด่นและจุดที่น่าสนใจของสวน
โครงสร้างหลักของสวนหลวง ร.๙ ได้รับการกำหนดให้สอดคล้องกับหลัก 5 ประการ คือเฉลิมพระเกียรติส่งเสริมวิชาการรวบรวมพันธู์ไม้ท้องถิ่น อนุรักษ์สิ่งมีชีวิต และพักผ่อนหย่อนใจแฝงด้วยการปลูกฝังทัศนคติการจัดภูมิทัศน์ภายในสวนจึงสอดคล้องกับหลักดังกล่าวและลักษณะของสวนระดับเมือง ซึ่งแบ่งออกเป็น 6 บริเวณ
บริเวณที่ 1 บริเวณเฉลิมพระเกียรติ 21 ไร่ ส่วนนี้เรียก "อุทยานมหาราช" มีหอรัชมงคล ซึ่งเป็นอาคาร 9 เหลี่ยมศิลปไทยประยุกต์ ตั้งอยู่กลางพื้นที่ล้อมรอบ 3 ด้านด้วย "ตระพังแก้ว" มีสวนราชพฤกษ์ที่เป็นไม้มงคล และสีของดอกเป็นสีประจำวันพระบรมราชสมภพแต่งบริเวณด้วยสระน้ำพุ 3 สระเพิ่มความสง่างาม
บริเวณที่ 2 "สวนพฤษศาสตร์" สมบูรณ์แบบ 150 ไร่ ตามหลักอนุกรมวิธานและนิเวศวิทยาแห่งแรกของไทย แบ่งเป็น 4 เกาะมีน้ำล้อมรอบ มีอาคารแสดงพันธุ์ไม้ในร่มและในทะเลทราย สวนสมุนไพร ห้องสมุด หอพรรณไม้ และห้องปฏิบัติการ
บริเวณที่ 3 "ตระพังแก้ว" 40 ไร่ เป็นที่รับน้ำชานเมืองตามแนวพระราชดำริ ใช้จัดกิจกรรมทางน้ำ มีบริการเช่าเรือพาย และ จักรยานน้ำบริเวณที่ 4 "สวนรมณีย์" 50 ไร่ เป็นสวนเลียนแบบธรรมชาติ ท้องถิ่นแต่ละภาคของประเทศ จำลองป่าเขา ลำธาร น้ำตก ตกแต่งด้วยหินธรรมชาติจากภูมิภาค เป็นการนำความงามชนบทมาให้ชมในเมือง
บริเวณที่ 5 "สวนน้ำ" 40 ไร่ จำลองธรรมชาติจากป่าพรุใน จ.นราธิวาสเป็นแหล่งอนุรักษ์สัตว์น้ำ สร้างธรรมชาติที่เงียบสงบ ชุ่มชื่นร่มเย็น
บริเวณที่ 6 "สนามราษฎร์" 70 ไร่ เป็นลานอเนกประสงค์ใช้เป็นสนามกีฬา หรือจัดกิจกรรมตามเทศกาล มีศูนย์กีฬาเอกชนให้บริการ และมีบริการเช่าสถานที่จัดประชุมสัมมนา นอกจากนี้ยังมีจุดที่น่าสนใจแทรกในบริเวณหลักของสวน เช่น สวนนานาชาติ สวนขนาดเล็กแสดงเอกลักษณ์การจัดภูมิทัศน์ของสวน 7 ชาติ คือ จีน ญี่ปุ่น สเปน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และอเมริกา มีที่มาจากความร่วมมือของสถานเอกอัครราชทูตแต่ละประเทศ
- สวนเชิงผา ตกแต่งด้วยหินขนาดต่าง ๆ ประดับด้วยกลุ่มไม้ประดับ
- สวนกำแพงหิน ตกแต่งจากหินสีชมพูในลักษณะเชิงชั้น แทรกด้วยไม้ดอกสวยงามน่าชม
- สวนบัวเบญจพันธุ์ รวบรวมบัวหลากหลายพันธุ์ให้ศึกษา
- มุมแมกโนเลีย รวบพันธุ์ไม้ตระกูล Magnolia ที่มีเสน่ห์ด้วยความหอมของดอกไว้ให้ชม
- สวนไม้เมืองหนาวน้อมเกล้าฯ ถวายพ่อหลวง ในช่วงวันที่ 1- 31 ธันวาคมทุกปี สวนสาธารณะ ของกรุงเทพมหานครจะงดงามไปด้วยการจัดภูมิทัศน์แปลงไม้ดอกเมืองหนาวสีสันสะดุดตา
- เทศกาลปทุมมาเฉลิมพระเกียรติ ในช่วงวันที่ 1- 31 สิงหาคมทุกปี ปทุมมา ไม้ดอกท้องถิ่น สีม่วงอมชมพูอ่อนหวานของไทย จะปรากฎ ความงามสะพรั่งให้ชมได้ในสวนสาธารณะของกรุงเทพมหานคร เพื่อเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหามหาราชินี
- งานพรรณไม้งามอร่ามสวนหลวง ร. ๙ จัดร่วมกับมูลนิธิสวนหลวงร.๙ มีกิจกรรมมากมาย เช่น ประกวดพันธุ์ไม้ นิทรรศการ การแสดงดนตรี การแสดงวัฒนธรรม งานออกร้าน ตลาดน้ำ และดึงดูดผู้มาเที่ยวงานด้วยการตกแต่งสวนให้สวยงามเป็นพิเศษ สร้างบรรยากาศที่ตื่นตาตื่นใจ
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น