1 ส.ค. 2553

ลานกีฬา - สวนสาธารณะ : อุทยานเบญจสิริ ปอดแห่งสุขุมวิท


ย่านสุขุมวิท ย่านแห่งธุรกิจการค้าใจกลางกรุง ที่เต็มไปด้วยป่าคอนกรีต การจราจรอันติดขัดพลุกพล่าน ผู้คนที่เดินทางไป-มาขวักไขว่เร่งรีบ

แต่ท่ามกลางความวุ่นวายและการแข่งขันเหล่านั้น มีสวนสาธารณะขนาดย่อมแทรกตัวอยู่ระหว่างศูนย์การค้าไฮโซชื่อดังกับโรงแรมหรูหลายดาวอย่างสันโดษ ร่มรื่น นั่นก็คือ "อุทยานเบญจสิริ" ปอดแห่งสุขุมวิทบนความเขียวขจีในพื้นที่ทำเลทองกลางกรุงประมาณ 29 ไร่ ซึ่งหากพูดไปแล้วเนื้อที่ 29 ไร่ อาจฟังดูไม่ใหญ่โตนักสำหรับการทำสวนสาธารณะ แต่สำหรับย่านธุรกิจใหญ่กลางเมืองหลวง ที่แวดล้อมด้วยศูนย์การค้าต่างๆ โรงแรมมากมาย รถไฟลอยฟ้า และสิ่งต่างๆที่เรียกได้ว่าเจริญที่สุดในสังคมเมือง ที่ดิน 29 ไร่แห่งนี้จึงดูใหญ่โตโอฬารเป็นอย่างมากในความคิดของฉัน



ก็คิดดูซิว่า ขนาดแค่คอนโดห้องเล็กๆไม่กี่สิบตารางวาบนถนนสุขุมวิทแห่งนี้ยังราคาหลายล้านบาท แล้วอุทยานเบญจสิริมีเนื้อที่เกือบ 30 ไร่ถ้าตีเป็นเงินแล้วคงจะมากโขเลยเชียว แต่ไม่ใช่เพียงจำนวนเม็ดเงินเท่านั้นที่มากโข คุณประโยชน์จากสวนแห่งนี้ก็มากมายจนไม่สามารถตีเป็นมูลค่าได้

เพราะพื้นที่สีเขียวของสวนแห่งนี้ช่วยดูดซับและฟอกมลพิษในอากาศ ให้ความร่มรื่นร่มเย็น ให้สุขภาพความบันเทิงและผ่อนคลาย ให้ความสมานฉันท์ผูกพัน ให้ชีวิตแก่สัตว์เล็กๆนานับประการ ซึ่งก่อนที่จะเข้าไปเดินเล่นทอดอารมณ์ด้านใน ฉันขอเล่าที่มาของอุทยานอันทรงประโยชน์ผืนนี้เสียหน่อย เพื่อเพิ่มอรรถรสในการชมสวนแห่งนี้ให้ซาบซึ้งถึงคุณค่าที่คนส่วนมากมักจะมองข้ามไป



"อุทยานเบญจสิริ" เป็นนามพระราชทานของสวนสาธารณะแห่งนี้ ซึ่งเดิมทีพื้นที่ส่วนนี้เป็นของกรมอุตุนิยมวิทยา แต่เนื่องจากการมีปัญหาด้านมลภาวะทางอากาศส่งผลให้การตรวจสอบสภาพอากาศทำได้ไม่เที่ยงตรง คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติให้ย้ายที่ทำการกรมอุตุนิยมวิทยาไปอยู่ยังถนนบางนาตราดเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ.2532

พร้อมทั้งมอบหมายให้กรมธนารักษ์สร้างสวนสาธารณะในบริเวณดังกล่าวแทน เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายในวันมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถครบ 5 รอบ ในวันที่ 12 สิงหาคม 2535 และเพื่อเป็นการระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวงต่อพระราชกรณียกิจของพระองค์เกี่ยวกับการเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสุขภาพชีวิตของพสกนิกรชาวไทย

กรมธนารักษ์จึงได้เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 โดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆหลายหน่วยงานที่มีจุดมุ่งหมายร่วมกัน รวมถึงคุณค่ามหาศาลของพื้นที่สีเขียวใจกลางเมืองย่านธุรกิจการค้าที่สำคัญที่มีมูลค่าสูงถึง 4,000 ล้านบาทในขณะนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านจิตใจที่อ่อนล้า จากความเครียดในชีวิตประจำวันที่ไม่อาจทดแทนด้วยความเจริญทางวัตถุ



ด้านหน้าของสวนแห่งนี้มีป้ายเขียนไว้ว่า "อุทยานเบญจสิริ" ด้านบนของชื่อมีตราสัญลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตพระบรมราชินีนาถ มองผ่านป้ายไปเป็นบ่อน้ำพุที่มีประติมากรรมชื่อว่า "หรรษา" คล้ายผู้หญิงกำลังเต้นระบำบันเล่อย่างสนุกสนาน และยังมีการแสดงระบำน้ำพุประกอบจังหวะเพลง 3 รอบในทุกๆวัน คือรอบเวลา 06.00-07.00 น. , 12.00-13.00 น. และ 18.00-20.00 น.

มองผ่านบ่อระบำน้ำพุ จะพบกับประติมากรรมรูปปั้นเหรียญขนาดใหญ่สีทองอร่ามตา นั้นคือสัญลักษณ์แห่งการเฉลิมพระเกียรติ ที่ระลึกพระบรมรูปสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ประทับยืนเต็มพระองค์ ขนาดใหญ่ถึง 3 เมตร ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์และเอกลักษณ์ของสวนอุทยานเบญจสิริแห่งนี้ก็ว่าได้

เมื่อเดินเข้าสู่ประตูสวนด้านข้าง ฉันเจอกับประติมากรรมสีดำสนิทรูปลูกขี่คอแม่ท่าทางมีความสุขสนุกสนาน คล้ายกับบรรยากาศที่ฉันเห็นขณะนั้น ที่มีทั้งครอบครัว หนุ่มสาว คู่รัก เพื่อนฝูง ทุกเพศทุกวัยซึ้งล้วนแล้วแต่ดูมีความสุข สนุกสนานกันทุกคน



นอกจากประติมากรรมที่ฉันกล่าวถึงมาแล้ว ที่อุทยานแห่งนี้ยังมีประติมากรรมอีกมากมายกระจายอยู่ทั่วทั้งสวน อาทิ ประติมากรรมเด็ก ประติมากรรมชีวิตและศรัทธา ประติมากรรมพื้นพิภพและจักรวาล ประติมากรรมยอดสูงส่งฐานมั่นคง ประติมากรรมสัญลักษณ์แห่งเสรีภาพ เป็นต้น รวมทั้งสิ้นทั้งหมด 18 ชิ้นด้วยกัน ซึ่งแต่ละชิ้นล้วนมีความหมาย หากใครได้ไปเยือนก็อย่าลืมเข้าไปอ่านความหมายของประติมากรรมแต่ละชิ้นเพื่อเพิ่มความเข้าใจกันได้





อุทยานแห่งนี้จะมีลักษณะที่คล้ายๆกันทั้งสองฝั่งทั้งซ้ายและขวา ฉันคิดว่าอาจจะเพื่อให้ไม่ต้องไปแย่งกันใช้พื้นที่ก็เป็นได้ ซึ่งด้านหน้าภายในรั้วขอบเขตของอุทยานมี "ต้นประดู่แดง" อยู่ 2 ต้นด้วยกันทั้งด้านซ้ายและขวา ป้ายบอกไว้ว่า ต้นประดู่แดงทางฝั่งห้างสรรพสินค้าชื่อดังเป็นต้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงปลูกเนื่องในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินพิธีเปิดอุทยานเบญจสิริเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2535 และอีกหนึ่งต้นทางฝั่งตรงข้ามกันเป็นต้นที่สมเด็จพระบรมราชินีนาถทรงปลูกเนื่องในวโรกาสเดียวกัน




ระหว่างทางที่นำพาฉันเดินวนไปรอบๆอุทยานแห่งนี้ มีต้นไม้ใหญ่ให้ร่มเงาร่มรื่น มีต้นไม้ต้นเล็กๆรวมถึงดอกไม้ให้ความสดชื่นสวยงาม มีผู้คนเดินบ้าง วิ่งบ้าง บ้างก็ออกกำลังกายตามสถานีออกกำลังกายต่างๆหลายสถานี อาทิ ดันข้อ ลุกนั่ง หกตัวข้ามขอน กระโดดแยกขา ดึงข้อ กระโดดข้าขอน นั่งและยืดตัว ย่อเขายืดตัว ยกเข่า แตะข้อเท้า กระโดดตบ แล้วแต่ความพึงพอใจ

และไม่เพียงแต่คนไทยหัวดำเท่านั้นที่มาใช้ประโยชน์จากอุทยานแห่งนี้ ฝรั่งมังค่าตาน้ำข้าวก็มีไม่น้อยบ้างก็เป็นคุณแม่พาลูกมาเล่นที่สนามเด็กเล่นภายในอุทยาน บ้างก็เป็นชายมาดนักธุรกิจเดินทอดน่องบ้างก็นั่งอ่านหนังสือพิมพ์ตามม้านั่งที่มีอยู่เรียงราย

หรือจะเป็นกลุ่มนักเรียนที่มักอาศัยอุทยานแห่งนี้เป็นสถานที่เล่นกีฬา ทั้งวอลเลย์บอล บาสเก็ตบอล ตระกร้อ หรือจะเป็นกลุ่มเด็กแนวสเก็ตบอร์ดก็มีสนามให้ได้ฝึกฝนกันตามความถนัดของแต่ละคน




ตรงกลางของอุทยานเบญจสิริแห่งนี้เป็นสวนน้ำกว้างใหญ่ ให้ความรู้สึกที่ชุ่มเย็น ตามริมน้ำช่วงเย็นๆมักจะมีครอบครัวพาลูกหลานมาวิ่งเล่น บางกลุ่มเป็นเพื่อนฝูงที่มานั่งพูดคุยหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน บางแนวเป็นคู่รักที่จูงมือกันมานั่งชื่นชมบรรยากาศธรรมชาติที่หาไม่ได้อีกแล้วในย่านธุรกิจแห่งนี้

ฉันเดินทอดน่องอย่างสบายใจรอบสวน บางครั้งก็หยุดดูผู้คนทำกิจกรรมต่างๆกันอย่างเพลิดเพลิน แม้ภาพที่ฉันเห็น จะไม่ได้เกิดขึ้นกับตนเอง แต่ก็ทำให้ฉันรู้สึกมีความสุข จนอดที่จะอมยิ้มตามพวกเขาไปไม่ได้ นี่ฉันคงจะไม่ได้เป็นพวกถ้ำมอง แต่หากฉันรู้สึกอิ่มใจที่เห็นเพื่อนร่วมสังคมมีความสุขสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของอุทยานเบญจสิริแห่งนี้อย่างลงตัว

* * * * * * * * * * * * * * * * *

"อุทยานเบญจสิริ"ตั้งอยู่บนถนนสุขุมวิท ระหว่างซอยสุขุมวิท22-24 แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา 05.00-21.00 น. และในวันที่ 1-2 ธันวาคม 2550 ตั้งแต่เวลา 16.00 น. เป็นต้นไปจะมี "มหกรรมดนตรีของคนเมือง" (Bangkok City Music Festival 2007) ที่นั่งพิเศษจำนวน 100 ที่นั่งต่อวัน ราคา 5,000 บาท รายได้ส่วนหนึ่งนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เพื่อมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง(ภาฯ)ยามยาก สภากาชาดไทย จำหน่ายบัตรที่ Thaiticket Major ทุกสาขา หรือติดต่อขอรับบัตรฟรีที่ โทร. 0-2717-0222

ไม่มีความคิดเห็น: