31 ม.ค. 2551

การแพทย์แผนไทย กับโรคมะเร็ง

[ คัดลอก จากหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤษภาคม พ.ศ.2541 ] *การแพทย์แผนไทย กับโรคมะเร็ง *
*พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ *

------------------------------
การแพทย์แผนไทยเป็นทางเลือกหนึ่งที่ผู้ป่วยส่วนมากเลือกใช้ในการรักษาโรค สถาบันการแพทย์ แผนไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่ง ที่ศึกษาหาแนวทาง ในการดูแล รักษาโรค มีบทบาทในการส่งเสริม ให้มีการใช้ สมุนไพร เป็นทางเลือกหนึ่ง ของผู้ป่วยทั่ว ๆ ไป รวมทั้งโรคเรื้อรังต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็ง ปัจจุบัน เป็นที่ยอมรับกันว่า การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง มีความสำคัญ มากกว่าการเน้นไปที่ การรักษา เพราะเชื่อว่า มะเร็งเป็นโรค ที่สามารถป้องกันได้ ด้วยการมีพฤติกรรม ที่ถูกต้อง เหมาะสม ดังนั้น การแพทย์แผนไทย จึงได้พัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย การเผยแพร่ความรู้ ด้านการใช้สมุนไพร และการรักษ าด้วยแพทย์แผนไทย โดยการให้ความรู้ แก่ประชาชน ในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม การบริโภค การปฏิบัติตัว เพื่อป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง โดยเฉพาะการมีพฤติกรรม การบริโภคที่ถูกต้อง เหมาะสม

ทั้งนี้ เนื่องจาก สาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง ที่สำคัญ เกิดจากการมีโภชนาการ ที่ไม่ถูกต้อง เต็มไปด้วยสารพิษ ไม่ออกกำลังกาย อยู่ในสิ่งแวดล้อม ที่เป็นพิษ และอื่น ๆ เพราะฉะนั้น การมีพฤติกรรม ด้านสุขภาพ ที่ถูกต้อง เหมาะสม ในการบริโภคอาหาร จะช่วยให้สามารถ ป้องกันโรคนี้ได้ เช่น การรับประทานอาหาร ที่มีเส้นใย (Fiber) อาหารที่มีวิตามิน เอ ซี, อี, สูง ลด อาหารไขมันจากสัตว์ อาหารกระป๋อง อาหารที่มีสีสังเคราะห์ และสารเคมี เช่น สารกันบูด เจือปน เลี่ยง อาหารปิ้ง ย่าง อบ รมควัน เลือก รับประทานอาหารที่สด สะอาด รับประทานผัก ผลไม้ อาหารสมุนไพร ที่ปลอดสารพิษ

การรับประทานผัก ผลไม้ มีประโยชน์สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง เพราะผัก ผลไม้หลายชนิด จะมีคุณสมบัติ เป็นแอนตี้ออกซิแดนท์ และสารที่ฆ่าเซลล์มะเร็งได้ ในวันหนึ่งควรได้ผัก 25- 30% ผลไม้ 10 % เนื้อปลา หรือถั่ว 10% อีก 50% ควรเป็นข้าวกล้อง หรือเผือก พืชผัก ผลไม้ โดยการปรุงด้วยวิธีธรรมดา เช่น ต้ม ลวก แกง หรือ รับประทานดิบ ไม่ควรเติมน้ำตาล น้ำผึ้ง เกินความจำเป็น เพราะจะทำให้ร่างกาย ได้รับน้ำตาล มากเกินไป *ผักและผลไม้ ซึ่งเป็นพืช สมุนไพร ที่มีสารต้านเซลล์มะเร็ง ได้แก่ มะกรูด ผักแขยง คื่นฉ่าย บัวบก ผักชีฝรั่ง กระชาย ข่าใหญ่ มันเทศ ใบมะม่วง มะกอก เบญจมาศ แขนงกะหล่ำ แตงกวา พริกไทย ดีปลี โหระพา กระเพรา ใบตะไคร้ ถั่ว ผักแว่น ผักขวง เพกา ชะพูล ลูกผักชี เร่ว เหงือก ปลาหมอ ขมิ้นอ้อย หัวหอมแดง หอมใหญ่ กระเทียม *ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็ง ควรใช้หลายวิธีรวมกัน ทั้งการรักษา โดยการแพทย์แผนปัจจุบัน และการแพทย์แผนไทย รวมทั้งคำนึงถึงสภาพจิตใจ ของผู้ป่วย และญาติด้วย เมื่อทราบแน่ชัด จากการตรวจของแพทย์แผนปัจจุบันว่า ผู้ป่วยเป็นมะเร็งแล้ว ไม่ควรปิดกั้น หนทางเลือกในการรักษา ของผู้ป่วย หากผู้ป่วยจะเลือก รักษาแผนปัจจุบัน ร่วมกับแผนไทย แต่วิธี ที่จะเป็นประโยชน์สูงสุด กับผู้ป่วยคือ การรักษากับแพทย์ แผนปัจจุบันก่อน เพราะมะเร็งระยะแรก ๆ สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่วนการเลือกรักษา โดยแผนไทยนั้น ควรพิจารณาศึกษา หรือถามผู้ที่รู้จริง ให้ถ่องแท้ก่อนตัดสินใจ และควรรักษา ควบคู่กันกับ แผนปัจจุบัน

ในขณะเดียวกัน ก็ให้แพทย์แผนปัจจุบัน ตรวจรักษา อย่างสม่ำเสมอ ส่วนการใช้สมุนไพร และการใช้ทางเลือกอื่นนั้น จะเป็นการประคับประคอง ดูแลด้านสุขภาพจิต ของผู้ป่วย และญาติ และเพื่อเพิ่มภูมิต้านทาน ทางด้านร่างกาย และด้านจิตใจ เช่น การใช้สมาธิ เป็นต้น นอกจากนี้ ควรต้องรักษาสุขภาพ ให้แข็งแรง โดการออกกำลังกาย สม่ำเสมอ การรับประทานอาหาร ที่มีประโยชน์ ได้สารอาหารครบถ้วน การพักผ่อนอย่างเพียงพอ ก็เป็นการช่วยป้องกันโรคได้ทางหนึ่ง

*พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์*

ไม่มีความคิดเห็น: