ไฟฟ้านาโน
น้ำมันหรือเชื้อเพลิงแบบฟอสซิลมีราคาแพงขึ้นทุกวัน หลายๆ คนเริ่มคิดหาทางใช้พลังงานไฟฟ้าจากเซลแสงอาทิตย์ ติดที่ว่าแผ่นเซลแสงอาทิตย์มีราคาแพงจนไม่คุ้มทุน อาร์เธอร์ โนซิก (Arthur Nozik) นักวิจัยแห่งห้องทดลองสถาบันพลังงานเชื่อว่านาโนเทคโนโลยีอาจมีคำตอบ
เซลแสงอาทิตย์ที่มีขายอยู่ทุกวันนี้ทำจากสารกึ่งตัวนำแบบซิลิกอน สามารถเปลี่ยนแสงแดดเป็นไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพดีพอสมควร แต่มีขั้นตอนการผลิตที่มีราคาแพง สารกึ่งตัวนำชนิดอื่นๆ แม้จะมีราคาถูกกว่าแต่ก็มีประสิทธิภาพสู้ซิลิกอนไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า จุดควอนตัม (Quantum dots) ซึ่งทำจากผลึกสารกึ่งตัวนำเล็กๆ มีขนาดเพียงไม่กี่นาโนเมตรอาจกลายเป็นสิ่งที่ให้พลังไฟฟ้าได้ในราคาต่ำกว่าพลังงานฟอสซิล
เซลแสงอาทิตย์ที่สร้างจากสารซิลิกอนผลิตไฟฟ้าได้เพราะโฟตอนจากแสงกระทบกับอิเล็กตรอนทำให้มันกระเด็นหลุดจากวงโคจรของอะตอม ตอนปลายทศวรรษ 1990 โนซิก ชี้ว่าเมื่อปล่อยแสงที่มีความเข้มสูงใส่จุดควอนตัม จะทำให้อิเล็กตรอนหลุดจากวงโคจรได้มากกว่าหนึ่งตัว เมื่อถึงปี 2004 วิกเตอร์ คลิมอฟ (Victor Klimov) แห่งห้องทดลอง ลอส อลามอส ทำการทดลองที่พิสูจน์ว่าทฤษฏีของ โนซิก ถูกต้อง และในปีที่แล้วได้พัฒนาให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น คือสามารถทำให้อิเล็กตรอนหลุดจากวงโคจรได้มากถึงเจ็ดตัว
การผลิตเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์โดยใช้จุดควอนตัมในเชิงพานิชย์ยังห่างจากความเป็นจริง เพราะพลังงานที่ผลิตได้ไม่สูงพอที่จะใช้ในงานจริง และแสงที่ต้องใช้เป็นแสงแบบความเข้มสูงในย่านเหนือม่วง แต่เมื่อดูจากแนวโน้มในการพัฒนาแล้วมีความเป็นไปได้สูงที่โครงการนี้จะสำเร็จได้ในอนาคต เมื่อถึงวันนั้นการใช้พลังงานจากฟอสซิลอาจจะกลายเป็นเพียงอดีต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น