15 พ.ค. 2551

อย่าปล่อยให้รังแค รังควานใจ

รังแค คือ สะเก็ดสีขาวบนหนังศีรษะ เกิดจากเซลล์ชั้นบนสุดของหนังศีรษะลอกหลุดออกอย่างผิดปกติ ตามปกติแล้วเซลล์หนังศีรษะของคนเราจะลอกหลุดไปโดยใช้เวลาประมาณ 28 วัน เซลล์ที่หลุดออกไปจะเป็นชิ้นเล็กๆ สังเกตไม่เห็น

แต่ถ้ามีสาเหตุใดก็ตามที่ทำให้การหลุดลอกของเซลล์เร็วกว่าปกติ เช่น จาก 28 วัน เหลือเพียง 7-21 วัน โดยเซลล์ที่หลุดออกมาแทนที่จะเป็นชิ้นเล็กๆ กลับมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นขุยสีขาวหรือเทา มองเห็นได้ชัด และมีอาการคันศีรษะร่วมด้วย แสดงว่า มีรังแคเกิดขึ้น รังแคสามารถรักษาให้หายได้ แต่ก็มักจะกลับเป็นซ้ำได้อีก

ส่วนใหญ่รังแคมักจะเกิดกับผู้ที่มีผมแห้ง โดยมีลักษณะเป็นขุยเล็กๆ แห้งๆ แต่ก็อาจเกิดได้กับผู้ที่มีผิวมัน โดยมีลักษณะเป็นขุยที่มีไขมันเคลือบอยู่ หรือมีลักษณะเป็นสะเก็ดมันสีเหลืองหรือขาว

รังแคพบมากในช่วงอายุประมาณ 20 ปี เชื่อว่า อาจเกิดจากการกระตุ้นของฮอร์โมนแอนโดรเจน และการทำงานของต่อมไขมัน รวมทั้งอาจเกี่ยวข้องกับกรรมพันธุ์ นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ที่มีรังแคมาก จะมีปริมาณเชื้อยีสต์ pityrosporum ovale มากกว่าคนทั่วไป แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นสาเหตุของการเกิดรังแคหรือไม่

สาเหตุของการเกิดรังแคยังไม่ทราบแน่ชัด เดิมเชื่อกันว่าสาเหตุและการกำเริบของรังแคเกิดจากผิวหนังแห้งหรือมันเกินไป การสระผมด้วยแชมพูบ่อยเกินไปหรือน้อยเกินไป ภาวะโภชนาการไม่ดี ร่างกายอ่อนเพลีย ความเครียด หรือใช้ผลิตภัณฑ์ตกแต่งทรงผมมากเกินไป แต่ปัจจุบันพบว่าสาเหตุจากเชื้อดังกล่าวมีความสำคัญที่สุด

เชื้อ pityrosporum ovale เป็นเชื้อที่อาศัยอยู่ในรูขุมขนของคนทั่วไป และใช้ไขมันที่ผลิตจากต่อมไขมันเป็นอาหาร ผู้ที่มีปัญหารังแค มักจะมีจำนวนเชื้อนี้มากกว่าคนทั่วไป

การรักษาจึงมุ่งไปที่การลดจำนวนเชื้อนี้ให้น้อยลง โดยใช้ยาสระผมซึ่งมีส่วนผสมของ คีโตโคนาโซล (ketoconazole) ซึ่งสามารถกำจัดเชื้อดังกล่าวได้ดี จึงใช้ได้ผลดีในการรักษารังแค

นอกจากนี้ ยาสระผมที่มีส่วนผสมของ ซิงค์ ไพริไธออน (zinc pyrithione) ซีลีเนียม ซัลไฟต์ (selenium sulfide) ไพร็อคโทน โอลามีน (piroctone olamine) และโคลทาร์ (coal tar) ก็ใช้ได้ผลเช่นกัน โดยจะช่วยในการฆ่าเชื้อ ลดการแบ่งตัวของเซลล์ที่ทำให้เกิดรังแค และลดอาการคันศีรษะ

การใช้ยาสระผมเหล่านี้ ไม่สามารถกำจัดเชื้อให้หมดไปได้ เพียงแต่ทำให้ลดจำนวนลง ผู้ที่มีรังแคต้องใช้ยาสระผมเหล่านี้ติดต่อกัน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2-4 สัปดาห์ การสระผมแต่ละครั้งต้องทิ้งยาสระผมไว้ประมาณ 5-10 นาที เพื่อให้ออกฤทธิ์ แล้วค่อยล้างออก หลังจากอาการดีขึ้นแล้ว สามารถลดการใช้ลงเหลือ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์

หลังจากใช้ยาสระผมติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน อาจพบว่าไม่ได้ผลดีเหมือนเดิม ควรเปลี่ยนเป็นยาสระผมที่มีส่วนผสมชนิดอื่นๆ ในกลุ่มที่กล่าวข้างต้น แล้วหมุนเวียนสลับกันไปเรื่อยๆ เพราะหากหยุดใช้อาจกลับมามีรังแคได้อีก ส่วนมากหลังจากที่พ้นช่วงวัยรุ่นไปแล้ว หรือเมื่อความมันของผิวลดลง อาการก็จะดีขึ้น

ในรายที่ใช้แชมพูดังกล่าวแล้วไม่ได้ผล อาจต้องได้รับการตรวจเพื่อหาโรคผิวหนังชนิดอื่น ซึ่งอาจเป็นสะเก็ดผิวหนังคล้ายรังแค โดยทั่วไปรังแคจะไม่มีการอักเสบบวมแดงที่บริเวณหนังศีรษะ แต่ถ้ามีรังแคมาก ร่วมกับอาการคันหรือผื่นแดงที่หนังศีรษะ อาจเป็นอาการของโรคผิวหนังบางชนิด เช่น โรคผิวหนังอักเสบเซ็บ-เดิร์ม (seborrheic dermatitis) โรคสะเก็ดเงิน (psoriasis) หรือโรคแพ้สารเคมีหรือน้ำยาบางอย่าง

ไม่มีความคิดเห็น: