14 ต.ค. 2551

คุมเบาหวานให้อยู่หมัดในผู้สูงอายุ

ผู้เป็นเบาหวาน คือ ผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เลือดต้องมีน้ำตาลอยู่บ้างเพื่อเป็นพลังงานให้ร่างกาย และอวัยวะต่างๆ แต่น้ำตาลสูงเกินไปก็เป็นโทษกับสุขภาพได้


น้ำตาลในเลือดมาจากอาหารที่รับประทาน นอกจากนี้มาจากการผลิตจากตับ และจากกล้ามเนื้อด้วย เลือดเป็นตัวนำน้ำตาลไปที่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย อินซูลิน คือ สารหรือฮอร์โมนที่หลั่งจากตับอ่อนเพื่อเป็นตัวนำพาน้ำตาลจากอาหารเข้าเซลล์ ถ้าร่างกายผลิตอินซูลินไม่พอหรือถ้าอินซูลินทำงานได้ไม่เต็มที่ น้ำตาลก็จะเข้าไปในเซลล์ไม่ได้ จึงส่งผลให้เลือดมีน้ำตาลสูง


เบาหวานที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ ที่เรียกว่าเบาหวานประเภทที่ 2 อาจเกิดขึ้นช่วงอายุใดก็ได้ แม้กระทั่งวัยเด็ก เบาหวานชนิดนี้เกิดจากภาวะต้านอินซูลิน นั่นคือ เซลล์ต่างๆ ไม่สามารถใช้อินซูลินได้เต็มที่ ในช่วงแรกๆ ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินมากขึ้นเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น แต่แล้วตับอ่อนก็จะไม่สามารถหลั่งอินซูลินมาเพื่อตอบสนองกับน้ำตาลสูงๆ ได้ การมีน้ำหนักตัวมากและขาดการออกกำลังกาย ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานประเภทที่2 มาก เมื่อผู้เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่สามารถผลิตอินซูลินได้มากเท่าที่ต้องการจึงจำเป็นต้องฉีดอินซูลิน


ถ้าน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์คุมได้ไม่ดีจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ทั้งโรคตา โรคไต โรคระบบประสาท แต่ที่จะเป็นปัญหามากที่สุด คือ โรคหัวใจ ผู้เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ หรือเส้นเลือดสมองแตกมากเป็น 2 เท่า เมื่อเทียบกับผู้ไม่เป็นเบาหวาน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย วิธีป้องกันภาวะแทรกซ้อนนี้คือ ต้องคุมไขมันในเลือด และความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด


การตรวจน้ำตาลเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะจะทำให้ทราบว่าแบบแผนการรับประทาน และการออกกำลังกายเหมาะสมหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องรอตรวจเฉพาะช่วงเช้าตอนตื่นนอน แต่จะตรวจ 1 ถึง 2 ชั่วโมงหลังอาหาร หรือจะเป็นช่วงก่อนนอนก็ได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งอาจจะยากสักนิดที่จะคุมน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ตลอดเวลา แต่ถ้าระดับน้ำตาลใกล้เป้าหมายเท่าใด ก็จะทำให้ความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ลดลง และจะทำให้คุณรู้สึกสบายขึ้นด้วย ถึงแม้ว่าจะเป็นขั้นเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็จะช่วยได้มาก


เป้าหมายระดับน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้เป็นเบาหวานคือ
ช่วงเวลา เป้าหมายระดับน้ำตาล (มก./ดล.)
ก่อนอาหารเช้า 90 – 130
1-2 ชม. หลังอาหาร < 180

ผู้เป็นเบาหวาน ควรมีแบบแผนการรับประทานอาหารที่เฉพาะเจาะจงให้เข้ากับชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันของตนเอง ควรให้แพทย์แนะนำไปปรึกษากับนักกำหนดอาหาร เพื่อให้จัดแบบแผนการรับประทานขึ้นมา

อาหารสำหรับผู้เป็นเบาหวานไม่น่าแตกต่างจากบุคคลอื่นๆ ในครอบครัว ซึ่งควรเป็นอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบถ้วนจากอาหารหลากหลาย มีสารอาหารที่มีส่วนช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อน โดยคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ต่อไปนี้

• ครึ่งหนึ่งของอาหารประเภทแป้งที่รับประทาน ควรเป็นธัญพืช ได้แก่ ถั่วเมล็ดแห้ง ข้าวโพด มันเทศ ลูกเดือย ข้าวโอ๊ต แป้งโฮลวีท อาหารเหล่านี้เป็นแหล่งสำคัญของเส้นใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระ วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญ มีส่วนช่วยป้องกันโรค

• รับประทานผัก และผลไม้ ให้ต่างชนิดกันไป เพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วย ควรรับประทานผัก ให้ได้ 2 ทัพพี ต่อมื้อ และผลไม้ 1 จานเล็กต่อมื้อ

• เลือกดื่มนมพร่องไขมัน หรือนมถั่วเหลืองรสจืด เสริมแคลเซียม 2-3 กล่องต่อวัน

• รับประทานปลา และเต้าหู้ให้มากขึ้น เป็นแหล่งโปรตีน เต้าหู้มีสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยป้องกันโรค ส่วนปลามีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีส่วนช่วยระบบไหลเวียนของโลหิต ส่วนเนื้อสัตว์อื่นๆ เลือกเนื้อล้วนที่ไม่ติดหนังติดมัน ให้บ่อยกว่าชนิดที่มีมันเยอะ อย่างเช่น หมู/เนื้อบด ซี่โครงหมู คอหมู ไส้กรอก หรือเบคอน

• เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าวสลับกันไป หรือน้ำมันมะกอกก็ได้ น้ำมันเหล่านี้มีกรดไขมันที่ดีต่อสุขภาพ นอกจากไขมันแล้ว ถั่วเปลือกแข็ง อะโวคาโด ก็เป็นแหล่งของไขมันที่ดี ควรรับประทานในปริมาณเล็กน้อยทุกวัน ผู้ที่จำกัดไขมันมากๆ อาจมีความเสี่ยงของการขาดวิตามินอี ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ จึงไม่แนะนำให้งดไขมันโดยสิ้นเชิง

• และที่สำคัญสำหรับผู้เป็นเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่ฉีดอินซูลินด้วยนั้น คือต้องรับประทานอาหารให้เป็นเวลา ครบทุกมื้อ และมีปริมาณอาหารใกล้เคียงกันทุกๆ วัน

สิ่งหนึ่งที่ผู้ฉีดอินซูลินมักประสบเมื่อมีน้ำหนักลง หรือเมื่อรับประทานอาหารไม่ได้ คือ จะมีภาวะน้ำตาลต่ำบ่อย จึงควรสังเกตอาการของภาวะน้ำตาลต่ำ ได้แก่ รู้สึกอ่อนเพลีย มึน ใจสั่นมือสั่น หงุดหงิด ปวดศีรษะ รู้สึกหิว ถ้าปล่อยไว้อาจทำให้ช็อกเป็นลมได้

วิธีแก้ภาวะน้ำตาลต่ำควรปฏิบัติดังนี้

• ถ้ามีเครื่องเจาะน้ำตาล ควรเจาะน้ำตาลในเลือด ถ้าน้ำตาลต่ำกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรรีบหาน้ำหวาน น้ำผลไม้ดื่มครึ่งแก้ว (120 ซีซี) หรือกินน้ำตาลทราย หรือน้ำผึ้ง 1 ช้อนชา หรือดื่มนมหวาน 1 แก้ว (120 ซีซี) ทันที

• ควรรอประมาณ 15 นาที หลังได้รับน้ำตาลแล้วจึงควรตรวจน้ำตาลอีกครั้ง ถ้ายังไม่ถึง 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ควรปฏิบัติข้อ 1 อีกครั้ง

• เมื่อระดับน้ำตาลอยู่ในเกณฑ์มากกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรแล้ว อาจรอจนมื้ออาหารถัดไป ถ้ามื้ออาหารอยู่ในช่วงภายใน 1 ชั่วโมง แต่ถ้านานไปกว่านั้น ควรรับประทานมื้อว่างที่มีประโยชน์ไปก่อน

ข้อควรระวังสำหรับการแก้ไขภาวะน้ำตาลต่ำ

• อย่ารับประทานของหวาน/น้ำหวาน มากเกินกว่าที่แนะนำ เพราะจะทำให้ระดับน้ำตาลแกว่งและทำให้คุมได้ยาก น้ำหนักตัวลงยากด้วย

• อย่ารับประทานของหวานที่มีไขมันสูง โปรตีนสูง และ/หรือแป้งเชิงซ้อน (ข้าว ขนมปัง เส้นต่างๆ) สูง เพราะจะย่อยช้าไม่ช่วยให้น้ำตาลสูงขึ้นทันที แต่จะไปสูงเอาอีกหลายชั่วโมงถัดมา ทำให้ควบคุมระดับน้ำตาลได้ยากขึ้น

• ควรรีบบอกแพทย์ทันที เมื่อมีภาวะน้ำตาลต่ำ เพื่อให้แพทย์ปรับลดอินซูลิน

วิธีป้องกันไม่ให้เกิดภาวะน้ำตาลต่ำทำได้โดย

• รับประทานอาหารให้เป็นเวลา ถ้าต้องเดินทางควรดูว่าจะรับประทานอาหารได้ตอนไหน ถ้าคิดว่าจะนานเกินไปหรือจะหาซื้ออาหารได้ลำบาก ควรพกอาหารติดตัวไปด้วย

• รับประทานอาหารในปริมาณอาหารที่ใกล้เคียงกันทุกวัน

• ห้ามอดมื้ออาหาร

• ฉีดอินซูลินตามที่แพทย์แนะนำ และให้เป็นเวลา

• ตรวจน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ

ไม่มีความคิดเห็น: