28 ก.ย. 2551

“นอนหลับ”กับ”จำศีล”ต่างกันอย่างไร? ตอนที่ 1

เชื่อว่า หลายท่านอาจจะยังแยกความแตกต่างไม่ออกระหว่างคำว่า Hibernate กับ Sleep ที่มักจะพบเห็นใน Windows Vista นายเกาเหลาเลยถือโอกาสนี้นำมาเล่าสู่กันฟังก็แล้วกันนะครับ เพราะโดยส่วนตัวแล้ว เวลาติดเรื่องสงสัยอะไรเล็กๆ น้อยๆ แล้ว ก็อยากจะหาคำตอบให้ได้ (เก็บไว้แล้วอึดอัด) ล่าสุดไปได้ยินมาจากเพื่อนคนหนึ่งว่า การใช้ Hibernate อาจทำให้โน้ตบุ๊กอายุสั้นเร็วอีกต่างหาก? จริงเท็จอย่างไร แนะนำว่า ติดตามอ่านกันต่อให้จบนะครับ

สำหรับความเข้าใจในเบื้องต้น Hibernate และ Sleep (เดิมเรียก Standby ใน Windows XP) แท้จริงก็คือ คุณสมบัติในการประหยัดพลังงานให้กับโน้ตบุ๊กของเรานั่นเอง ซึ่งสามารถพบได้ทั้งในพีซี และแมคฯ ซึ่งไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมคนถึงสับสนกับคุณสมบัติการทำงานทั้งสองตัวนี้ เหตุเพราะว่า การทำงานของมันดูคล้ายกันมากนั่นเอง เวลาชัตดาวน์ (Shutdown) คอมพิวเตอร์ มันหมายถึงการที่เราปิดทุกสิ่งทุกอย่าง แอพพลิเคชันทุกตัว ทุกหน้าต่าง และทุกไฟล์เอกสาร การเริ่มต้นเปิดเครื่องหลังจากชัตดาวน์จึงใช้เวลานาน แถมหลังจากนั้น คุณยังจะต้องเปิดแอพพลิเคชันต่างๆ รวมถึงไฟล์ข้อมูลที่ต้องการใช้อีกด้วย เรียกว่า “รอ” กัน 2 เด้งเลยทีเดียว

เพื่อเป็นการประหยัดเวลา คุณผู้อ่านสามารถใช้คุณสมบัติการทำงานของวินโดวส์ที่เรียกว่า Hibernate (แปลว่า “จำศีล”) หรือ Sleep ก็ได้ ซึ่งเมื่อใช้สองฟีเจอร์นี้ มันจะมีการจัดเก็บสถานะการทำงานทั้งหมด (แอพพลิเคชัน, ไฟล์ข้อมูล และหน้าต่างที่เปิดใช้งาน) เอาไว้ โดยเราไม่ต้องมานั่งปิดไฟล์ และโปรแกรมให้หมดก่อนชัตดาวน์อีกด้วย คราวนี้เมื่อเปิดโน้ตบุ๊กขึ้นมา ทุกสถานะของการทำงานของเครื่องก่อนหน้านั้นจะถูกเรียกคืนกลับมาให้พร้อมใช้งาน หน้าต่างโปรแกรม ไฟล์เอกสาร ที่เปิดไว้ก่อนหน้านั้น ตลอดจนตำแหน่งที่มันอยู่ จะปรากฎอยู่ตรงหน้าเหมือนย้อนเวลากลับไปได้ยังไงยังงั้น ว่าแต่แล้ว คุณสมบัติทั้งสองนี้ทำงานต่างกันอย่างไร ในเมื่อผู้ใช้จะได้เห็นเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกัน ซึ่งความแตกต่างที่ผู้ใช้มองไม่เห็น หรือไม่ทันสังเกตได้ก็คือ ระดับของการประหยัดพลังงาน และความสะดวกสบาย ส่วนรายละเอียดของแต่ละคุณสมบัติ พร้อมทั้งประเด็นถกเถียงข้างต้น นายเกาเหลาขอยกไปเล่าให้ฟังต่อในตอน 2 ก็แล้วกันนะครับ ยังไงก็อย่าลืมติดตามด้วยล่ะ ตอนนี้ขอเข้าตัวไปเข้าโหมด sleep ก่อนนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: