28 ก.ย. 2551

ความหมายของคำว่า "เจ"

"กินเจ" เป็นคำที่คุ้นหูกันมากสำหรับบรรดาสาธุชนผู้ใฝ่ใจในการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย แต่สำหรับคนทั่วไปส่วนใหญ่ยังคงคิดกันไปว่า การกินเจเป็นเรื่องของคนที่เชื่อบาปเชื่อบุญมากกว่า จะเห็นว่าแท้จริงแล้วการกินเจเป็นเรื่องของเหตุและผลที่ถูกต้องดีงาม มีคำกล่าวว่า "คนเราจะยืนได้ ขาทั้งสองต้องแข็งแรงเสียก่อน" ความหมายก็คือ ก่อนที่เราจะลงมือปฏิบัติการงานใดๆ ก็ตาม จำเป็นต้องมีพื้นฐานที่มั่นคงเสียก่อน สิ่งสำคัญสองประการที่จะช่วยเหลือค้ำจุนให้เรามีรากฐานที่มั่นคง ได้แก่

ประการที่ 1 คือ "ความรู้" เราต้องศึกษาหาความรู้ในเรื่องที่จะปฏิบัติให้ดีเสียก่อน โดยอาศัยการได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน มามากพอสมควร

ประการที่ 2 คือ "สติปัญญา" เราต้องรู้จักใช้สติปัญญาเข้าไปพิจารณาความรู้เหล่านั้นอย่างรอบคอบ จนบังเกิดความเข้าใจกระจ่างชัดถึงเหตุและผล โดยถูกต้องถ่องแท้ หากจะลงมือปฏิบัติการใดๆ โดยขาดทั้งความรู้และสติปัญญาพิจารณา ก็ยากที่จะสำเร็จลุล่วงไปได้ เมื่อไม่ศึกษาก็ไม่รู้ รู้แล้วไม่พิจารณาก็ไม่เข้าใจ แต่ผู้ที่ศึกษาจนเข้าใจดีแล้ว ยังไม่ลงมือปฏิบัติก็ไร้ประโยชน์ โอสถทิพย์แม้จะวิเศษล้ำเลิศสักปานใด หากคนไม่ยอมกิน ผลดีนั้นก็ไม่มีทางจะเกิดขึ้นแก่เขาได้เลย การกินเจเป็นเรื่องรู้ได้เฉพาะตน ผู้ที่ได้ปฏิบัติแล้วเท่านั้นจึงจะประจักษ์แจ้งถึงคุณวิเศษ อันล้ำเลิศได้ด้วยตนเอง

บทความเรื่อง "การกินเจ" นี้ จึงมุ่งหวังให้ผู้ที่สนใจได้ศึกษาในอีกแง่มุมหนึ่งของการกินเจ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตน และเรียนรู้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไปภายหน้า ฉะนั้นขอให้ผู้ที่มีรากบุญกุศล อันสร้างสมมาแล้วในอดีต และตั้งใจจะปฏิบัติบำเพ็ญต่อไปในชาตินี้ควรศึกษา "การกินเจ" ให้เข้าใจกระจ่างแจ้ง เมื่อใดที่ศรัทธามั่นคงดีแล้ว จิตย่อมบังเกิดมีพลังแกร่งกล้า สามารถฝ่าฟันอุปสรรคทั้งหลาย บนเส้นทางของการบำเพ็ญธรรม และแล้วเมื่อนั้นเราก็จะสามารถบรรลุสู่เป้าหมายอันสูงสุดไปได้โดยไม่ยากเลย

ความหมายของคำว่า "เจ"

คำว่า "เจ" ในภาษาจีนมีความหมายทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานว่า "อุโบสถ" คำว่า "กินเจ" ตามความหมายที่แท้จริงคือการรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน ดังเช่นที่ชาวพุทธในประเทศไทยถือ "อุโบสถศีล" หรือ "รักษาศีล 8" จะไม่รับประทานอาหารหลังจากเที่ยงวันไปแล้ว แต่เนื่องจากการถืออุโบสถศีล ของชาวพุทธฝ่ายมหายานไม่กินเนื้อสัตว์ จึงนิยมเรียก "การไม่กินเนื้อสัตว์" ไปรวมกันคำว่า "กินเจ" ซึ่งเป็นการถือศีลไปด้วย ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า "กินเจ" ฉะนั้นความหมายก็คือ "คนกินเจ" มิใช่เพียงแต่ไม่กินเนื้อสัตว์ แต่คนที่กินเจ ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์สะอาด งดงามทั้งกาย วาจา ใจ เป็นการถือศีลบำเพ็ญธรรมไปด้วยพร้อมกัน เช่นนี้แล้วจึงจะเรียกว่า "กินเจที่แท้จริง" ดังนั้น คำคล้องจองที่เราได้ยินอยู่เสมอ คือ "ถือศีลกินเจ" จึงนับว่ามีความหมายสมบูรณ์ครบถ้วนอยู่ในตัวเองแล้ว

ตามร้านขาย "อาหารเจ" เราจะพบเห็นตัวอักษร คำนี้อ่าน "ไจ" (เจ) แปลว่า "ไม่มีของคาว" เขียนด้วยสีแดงบนพื้นสีเหลืองเสมอ ในช่วงเทศกาลกินเจเดือน 9 จะเห็นตัวอักษรนี้เขียนบนธงสีเหลือง ปักอยู่ตามแผงขายอาหารเจมองเห็นเป็นที่สะดุดตาแก่คนทั่วไป ชาวจีนถือว่าสีแดงเป็นสีแห่งสิริมงคลแก่ชีวิต สีเหลืองเป็นสีของผู้ทรงศีล ดังนั้นผู้ตั้งใจถือศีลบำเพ็ญตนให้บริสุทธิ์ ตัวอักษรนี้ย่อมเป็นเครื่องหมายเตือนสติให้ระลึกไว้เสอมว่า "การกินเจงดเว้นเนื้อสัตว์ของคาวคือ การปฏิบัติธรรม รักษาศีลของความเป็นมนุษย์ เป็นการเจริญมหาเมตตากรุณาธรรมโดยแท้ อันจะนำมาซึ่งความเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง และก่อให้เกิดสันติสุขแก่ทุกชีวิตบนโลก"

ไม่มีความคิดเห็น: