มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจขาดเลือดเข้าให้แล้ว และมีคนอีกจำนวนมาก ที่หลงไปว่า อาการที่ตัวเองเป็นอยู่บ่อยๆ เป็นอาการของโรคที่ไม่ร้ายแรง เป็นเพราะมีกรดในกระเพาะมาก เป็นเพราะเพลียจากการหักโหมงาน แค่กินยาไล่ลม ช่วยย่อย หรือพองานมันซาลง ทุกอย่างก็จะดีไปเอง ที่ไหนได้ แล้วทุกอย่างมันก็สายเกินแก้ไปเสียแล้ว ทิ้งให้ลูกเมียต้องร้องห่มร้องไห้กับการสูญเสีย ที่ควรจะป้องกันได้ …….. ……
ถ้ารู้ตัวเสียแต่เนิ่นๆอาการเริ่มแรกของโรคหัวใจขาดเลือด ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกาย อาการเจ็บหน้าอกจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีลักษณะจุกแน่นกลางหน้าอก อาจจะร้าวไปที่ไหล่ซ้ายด้านในของแขนซ้าย คอ กราม ขากรรไกรหรือหลังได้
*** อาการเจ็บที่เกิดขึ้นนี้มักจะเป็นแบบกดทับ, จุกแน่น, แสบ, หรือเหมือนถูกบีบรัด มากกว่าเจ็บแบบถูกเข็มแทง, เจ็บแปลบๆ หรือชาๆ อาการเจ็บหน้าอกนี้ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นช่วงกล้ามเนื้อหัวใจต้องการเลือดมาเลี้ยงมากกว่าปกติ เช่น ออกกำลังกาย เดินหรือวิ่งเร็วๆ เดินขึ้นที่สูงชันหรือขึ้นบันได หรือขณะเบ่งอุจจาระ เป็นต้น
*** ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการมากขึ้นภายหลังรับประทานอาหาร อิ่มใหม่ๆ , โดนอากาศเย็น, อาบน้ำเย็น หรืออยู่ในที่อากาศเบาบาง แต่ในรายที่เป็นมากอาจมีอาการขณะพักอยู่เฉยๆ หรือแม้กระทั้งขณะนอนหลับก็ได้หรืออาจมีอาการจุกแน่นลิ้นปี่คล้ายอาหารไม่ย่อย อาการเหล่านี้มักจะทุเลาลงหลังจากนั่ง หรือนอนพักสักครู่ บางที อาการจุกแน่นที่ว่านี้ก็เกิดขึ้นมาเฉยๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ เป็นขึ้นมาประเดี๋ยวก็หายไปเอง แล้วก็เป็นขึ้นมาอีก นึกเอาเองว่าเป็นเพราะอาหารไม่ย่อย ลมในท้องมากเกินไป กรดในกระเพาะอาหารมากเกินไปหรือมีอาการอ่อนเพลียตอนบ่ายๆ เย็น หลังจากที่ตรากตรำงานมาทั้งวัน ถ้าหากเอะใจและไปพบแพทย์ตรวจดูเสียให้ละเอียด โรคในระยะนี้ยังสามารถควบคุมให้เป็นปกติได้ไม่ยากนัก เพราะกล้ามเนื้อหัวใจเพิ่งจะเริ่มมีปัญหาเพิ่งจะมีอาการได้รับเลือด ไปเลี้ยงไม่เพียงพอ ยังไม่ถึงกับมีกล้ามเนื้อหัวใจตาย
*** คราวนี้ถ้าหากละเลย ปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการดูแลรักษา อาการก็จะทวีความรุนแรงขึ้น ตามปริมาณ ของกล้ามเนื้อหัวใจที่เริ่มเสียหาย อาการเจ็บหน้าอกที่เคยเป็นๆ หายๆ ก็จะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่ในบางราย อาจมีอาการคงที่อยู่ หลายปีก็ได้ ที่น่ากลัวและอันตรายมากที่สุดคือ จะมีโอกาสเกิดภาวะหลอดเลือดแดงอุดตันทำให้เกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจวาย หัวใจหยุดเต้นไปเฉยๆ ทำให้เสียชีวิตได้โดยง่าย เมื่อคุณมาโรงพยาบาลแพทย์จะเริ่มจากสอบถามประวัติอาการ เจ็บป่วยต่างๆ ที่พึงสงสัยรวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของคุณ
*** จากนั้นแพทย์ก็จะตรวจร่างกายทั่วไปทั้งตัว ทุกระบบของร่างกาย รวมทั้งระบบหัวใจและหลอดเลือด มีการฟังการเต้นของหัวใจ วัดความดันโลหิต ตามด้วยการเอ็กซเรย์ทรวงอกและตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) ตามปกติ และการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test)การตรวจร่างกายในระยะนี้ จะพบความผิดปกติของกล้ามเนื้อหัวใจอย่างชัดเจน โดยการตรวจคลื่นหัวใจ หรือทำการเดินสายพานทดสอบ ที่เรียกว่าเอ็กเซอร์ไซส์ สเตรสส์ เทสต์ (exercise stress test) และหากสงสัยว่า หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจและกล้ามเนื้อหัวใจกำลังมีปัญหาแน่แล้วก็อาจจะจำเป็นต้องได้รับการสวนหลอดเลือดของหัวใจ และฉีดสีดูเส้นเลือดหัวใจ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคหรือประกอบการพิจารณาวิธีการรักษาด้วย
*** ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันนี้นับเป็นภาวะที่อันตรายและต้องได้รับการรักษาอย่างรีบด่วนเพราะเราพบว่า ผู้ป่วยโรคนี้ร้อยละ 20 จะเสียชีวิตก่อนมาถึงโรงพยาบาล และผู้ป่วยที่มาถึงโรงพยาบาลที่ได้รับการรักษาแล้วอีกร้อยละ 5-10 ก็ยังมีอัตราตายสูง โดยครึ่งหนึ่งของผู้โชคร้ายจะเสียชีวิตภายใน 1 – 2 ชั่วโมงแรก และประมาณกว่าร้อยละ 70 จะเสียชีวิตภายใน 24 ชั่วโมง
***** รู้อย่างนี้แล้วเริ่มสังเกตตัวเองเสียตั้งแต่วันนี้…………………… แต่ถ้าจะให้ดี ถ้าคุณคิดว่าเป็นคนหนึ่งที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรไปพบแพทย์ให้ตรวจเช็กร่างกายอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยปีละครั้ง จะไม่ดีกว่าหรือ *****
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น