12 ก.ค. 2552

รอยเปื้อนร้าย บนใบหน้า

Melasma

ฝ้า คือแผ่นสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลเข้มบนใบหน้า มักพบที่แก้ม หน้าผาก จมูก เหนือริมฝีปากและคาง นอกจากนี้ อาจพบได้ที่คอและแขนด้านนอก พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายโดยเฉพาะในระหว่างการตั้งครรภ์ และในวัย 30 และ 40 ปีขึ้นไป

ฝ้าเกิดจากการที่เซลล์สร้างเม็ดสีซึ่งอยู่ในชั้นหนังกำพร้ามีการสร้างเม็ดสีเมลานินออกมามากผิดปกติ และส่งเม็ดสีให้เซลล์ผิวหนังด้านบนเป็นจำนวนมากกว่าปกติด้วย

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดฝ้า คือ

ฮอร์โมน การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนจะทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีทำงานผิดปกติ เช่น ในระหว่างการตั้งครรภ์หรือวัยหมดประจำเดือน และการได้รับฮอร์โมนจากภายนอกร่างกาย ทำให้มีโอกาสเป็นฝ้าได้มาก เช่น รับประทานยาคุมกำเนิด การใช้เครื่องสำอางบางชนิดที่มีฮอร์โมนผสมอยู่

แสงแดดหรือรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกระตุ้นเซลล์ให้สร้างเม็ดสีมากขึ้น ทำให้เกิดฝ้า และมีส่วนสำคัญที่ทำให้ฝ้าเข็มขึ้นอีกด้วย เชื่อว่าเกิดจากแสงอัลตราไวโอเลต A,B และ Visible Light จึงควรหลีกเลี่ยงแสงแดด โดยเฉพาะช่วงเวลา 10.00-15.00 น.

ความเครียด สารเคมี(เช่น น้ำมันดิน) น้ำหอม เครื่องสำอาง ก็มีส่วนกระตุ้นให้เกิดฝ้าหรือรอยด่างดำบนใบหน้าได้

ผู้ที่เป็นโรคบางชนิด เช่น เนื้องอกของรังไข่โรคแอลดิสัน ก็อาจทำให้หน้าเป็นฝ้าดำได้เช่นกัน

พันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในผู้ที่เป็นฝ้าที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน

ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยากันชัก เป็นต้น

วิธีการรักษาฝ้า

ควรแนะนำข้อปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วย คือ อย่าถูกแดดมาก(เวลาอยู่กลางแจ้งควรใส่หมวกหรือกางร่ม) ควรหลบแสงไฟแรงๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำหอมและเครื่องสำอาง ที่สำคัญควรพักผ่อนให้เพียงพอ และอย่าเครียด

การใช้ยาที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสร้างเม็ดสี โดยไม่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี และเร่งเซลล์ผิวหนังชั้นบน ซึ่งมีเม็ดสีเมลานินที่สร้างขึ้นมาแล้วให้หลุดลอกออกไป (ยารักษาฝ้าในปัจจุบันมักประกอบด้วยสารหลายชนิด ที่สำคัญคือ ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone) กรดวิตามินเอ และสเตอรอยด์เป็นยารักษาฝ้าที่มีประสิทธิภาพดี แต่อาจเกิดผลข้างเคียงจากการระคายเคืองได้ จึงควรอยู่ในการดูแลของแพทย์)

การป้องกันไม่ให้เกิดฝ้ามากขึ้น โดยหลีกเลี่ยงแสงแดด และใช้ครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันสุง

หลีกเลี่ยงการได้รับฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด, เครื่องสำอาง และน้ำหอมที่มีฮอร์โมนหรือสเตอรอยด์เป็นส่วนผสม

การลอกฝ้าควรใช้ในรายที่แพทย์เห็นสมควร โดยใช้ยาลอกฝ้า ได้แก่ ไฮโดรควิโนนขนาด 2-4% ทาวันละ 2 ครั้งจะช่วยลดการสร้างเม็ดสี ทำให้ฝ้าจางลงได้ ยานี้อาจทำให้แพ้ได้ จึงควรทดสอบโดยทาที่แขนแล้วทิ้งไว้ 2-3 วัน(ห้ามล้างออก) ดูว่ามีผื่นแดงหรือไม่ ถ้ามีก็ห้ามใช้ยานี้

ใช้ยากันแสง ได้แก่ พาบา(PABA ซึ่งย่อมาจาก Para-amin Benzoic Acid) ทาตอนเช้าหรือก่อนออกแดด ควรใช้ชนิดที่มีความสามารถในการกรองแสง(Sun Protective Factior/SPF) มากกว่า 15 ขึ้นไป ยานี้อาจทำให้แสบตา แสบจมูก เป็นสิวหรือแพ้ได้ โดยทั่วไปมักจะต้องใช้เวลาเป็นเดือนกว่าอาการจะดีขึ้น และจะต้องใช้ยากันแสงไปเรื่อยๆ เพื่อป้องกันการกลับเป็นฝ้าอีก ถ้าไม่ดีขึ้นใน 1-2 เดือน หรือแพ้ยาที่ทารักษาฝ้า หรือสงสัยเป็นโรคอื่นควรปรึกษาแพทย์ทางโรคผิวหนัง

การใช้แสงเลเซอร์ ซึ่งจะต้องได้รับการพิจารณาจากแพทย์

เรื่องควรรู้เกี่ยวกับฝ้า

1. ฝ้าที่เกิดจากการตั้งครรภ์โดยการกิน หรือฉีดยาคุมกำเนิด อาจหายได้เองหลังคลอด หรือหลังหยุดใช้ยาคุมกำเนิด(อาจใช้เวลาเป็นสองเท่าของระยะเวลาที่กินยาคุมกำเนิด เช่น ถ้ากินยาอยู่นาน 1 ปี ก็อาจใช้เวลาถ้า 2 ปี กว่าฝ้าจะหาย)

2. ฝ้า อาจมีสาเหตุจากโรคที่ซ่อนเร้นภายในร่างกาย เช่น เนื้องอกของรังไข่ โรคแอดดิสัน เป็นต้น นอกจากนี้ โรคเอสแอลอี ก็อาจมีผื่นแดงขึ้นที่แก้มคล้ายรอยฝ้าได้ ดังนั้นถ้าพบมีอาการผิดสังเกตอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย เป็นลมบ่อย ปวดข้อ ผมร่วง เป็นใช้เรื้อรัง เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์

3. ยารักษาฝ้าบางชนิดอาจมีสารเคมีที่ทำลายเซลล์สร้างเม็ดสี(Melanocytes) ทำให้หน้าขาววอก เป็นรอยแดง หรือเป็นรอยด่างอย่างน่าเกลียด ดังนั้น จึงควรระมัดระวังอย่าซื้อยาลอกฝ้ามาทาเองอย่างส่งเดช โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ยาที่โฆษณาว่าทำให้หายได้ทันที ยาลอกฝ้าที่ผสมสารปรอทอาจทำให้ฝ้าจางลง แต่อาจมีอันตรายจากการสะสมปรอทที่ผิวหนังและในร่างกายได้

4. ในการรักษาฝ้า อาจต้องใช้เวลานานเป็นแรมเดือน หรืออาจไม่มีทางรักษาให้หายขาด เพียงแต่ใช้ยากันแสงและยาลอกฝ้าทาไปเรื่อยๆ ถ้าหยุดยาอาจกำเริบได้ใหม่ สำหรับฝ้าที่อยู่ตื้อๆ(สีน้ำตาลหรือน้ำตาลเข้ม) มักจะรักษาได้ผลดีแต่ฝ้าที่อยู่ลึก(สีน้ำตาลเทาหรือสีดำ) อาจได้ผลช้าหรือไม่ได้ผลเลย

5. การลอกหน้า ขัดผิว ตามร้านเสริมสวยทั้งน่ากลัวแล้ว ยังอาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน เช่น การแพ้ส้มผัส จึงไม่แนะนำให้ไปลอกหน้า ขัดผิว

กระ

กระ จัดเป็นเรื่องปกติของคนเอเชีย ผิวใครไม่มีกระต่างหากที่ถือเป็นเรื่องแปลก กระจะเกิดขึ้นในคนที่มีผิวขาว โดยมีแสงแดดเป็นตัวกระตุ้น และมีกรรมพันธุ์เป็นพื้นฐาน

เป็นเรื่องจริงที่ว่า ถ้าไม่ถูกแสงแดดก็จะไม่เกิดกระ ดังนั้นเราจะพบการเป็นกระเฉพาะบริเวณที่ถูกแสงแดด อาทิ เช่น ใบหน้า คอ แขน เป็นต้น และกระจะมีสีเข้ม และมีจำนวนมากขึ้นในฤดูร้อนที่แดดแรง และจะจางลงในฤดูหนาว

วิธีการรักษากระ แบ่งเป็น 2 แนวคิด คือ

หมอจะพยายามเตือนให้คนไข้หลีกเลี่ยงแสงแดดและทายากันแดด(SPF30)ทุกวัน หรืออาจจะใช้ครีม Whitening ไปทาเพื่อให้สีกระจางลง

หมดจะยิงเลเซอร์ให้คนใช้ ซึ่งกระก็จะหายไป แต่ค่าใช้จ่ายจะสูงมาก และหลังจากยิงเลเซอร์แล้วจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลตัวเองไม่ให้ถูกแสงแดดหรือไอแดด มิฉะนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะกลับมาเป็นอีก

ไม่มีความคิดเห็น: