ล้มกระแทกพื้นอย่าวางใจ...มีสิทธิ์กระดูกทรุด-ผิดรูป
***ต้นเหตุจากกระดูกพรุนตามวัย...อาจใช้เทคนิคฉีดซีเมนต์เป็นทางเลือก
********ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อเตือนสตรีวัยหมดประจำเดือน และชายอายุเกิน 70 ปี กรณีเกิดการหกล้มก้นกระแทกพื้นซึ่งมีโอกาสส่งผลให้กระดูกสันหลังหักหรือทรุดและปวดร้าวรุนแรง โชคดีที่แพทย์เลือกวิธีรักษาได้หลายอย่างรวมทั้งการฉีดซีเมนต์โดยผ่านการผ่าตัดแบบแผลเล็กที่ไม่ก่อแผลเป็นยาวเป็นคืบเหมือนอดีต
*****ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อได้กล่าว ถึงสาเหตุที่ก่อให้เกิดกระดูกทรุดหรือยุบตัวลง ซึ่งโดยทั่วไปจะพบในผู้ป่วยสูงอายุโดยเฉพาะผู้หญิงที่มักจะมีภาวะกระดูกพรุนมาก มวลกระดูกน้อยกว่า -2.5 หากเกิดการหกล้มแม้เพียงเล็กน้อยหรือการนั่งกระแทกตัวแรงๆ ก็จะทำให้กระดูกหลังมีโอกาสหักหรือยุบตัวได้ ทั้งนี้ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดหลัง เจ็บบริเวณรอบๆชายโครงเวลาที่เปลี่ยนอิริยาบถ แล้วรู้สึกว่ากระดูกหลังโก่ง หลังค่อม ตัวเตี้ยลงควรเข้าพบแพทย์เสียแต่เนิ่นๆ เพื่อตรวจหาภาวะกระดูกบาง กระดูกพรุน อันจะส่งผลให้เกิดการทรุดตัวของกระดูกสันหลัง กระดูกข้อสะโพก กระดูกข้อมือหักตามมาได้
*****ในส่วนของวิธีการรักษากระดูกสันหลังทรุดหรือยุบตัวนี้ หากไม่รุนแรงมากอาจรักษาวิธีประคับประคองเช่น การทานยา ใส่เฝือกประคองหลัง แต่หากมีอาการรุนแรงคือมีกระดูกคดงอหรือยุบตัวเกิน 30 เปอร์เซ็นต์ ก็จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดด้วยการใช้โลหะเข้าไปยึดตรึงกระดูกสันหลัง แต่ในกรณีผู้ป่วยสูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนมาก โดยการตรวจด้วยเครื่องวัดความหนาแน่นของกระดูก พบว่ามีมวลกระดูกน้อยกว่า -2.5 ซึ่งไม่สามารถทำการรักษาด้วยการยึดตรึงด้วยโลหะได้ ศัลยแพทย์จึงจะพิจารณาเลือกใช้วิธีการรักษาด้วยการฉีดซีเมนต์เข้าไปในกระดูกที่หักหรือทรุดตัวนั้น เพื่อช่วยแก้ปัญหาในผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกพรุน ซึ่งจะช่วยให้กระดูกบริเวณนั้นแข็งตัว ไม่ยุบตัวมากขึ้น ลดอาการเจ็บปวดให้ผู้ป่วยมีชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
*****ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ กล่าวว่า “ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยที่กระดูกบาง กระดูกพรุนมาก มวลกระดูกน้อยกว่า -2.5 ไม่สามารถที่จะรักษาด้วยวิธีอื่นได้ คนไข้เจ็บปวดจนไม่สามารถที่จะดำรงชีวิตตามปกติได้เช่น ไม่สามารถลุกทานอาหารได้ ไม่สามารถลุกเข้าห้องน้ำได้ ช่วยตัวเองไม่ได้ ทำให้คุณภาพชีวิตคนไข้แย่ลง เราก็จะพิจารณาในการที่ฉีดซีเมนต์เข้ากระดูก โดยจะใช้เวลาประมาณ 5-8 นาที ซีเมนต์ก็แข็งตัวแล้ว ซึ่งข้อดีก็คือได้แผลเล็กขนาด 1-2 มิลลิเมตร ไม่ต้องดมยาสลบ วิธีนี้เป็นวิธีที่แก้ปัญหาให้กระดูกบริเวณนั้นแข็งขึ้น ให้คนไข้พอช่วยตัวเองได้ อาการเจ็บปวดก็จะค่อยๆ ดีขึ้น”
*****ศัลยแพทย์ด้านกระดูกและข้อ ยังฝากย้ำเตือนสำหรับผู้สูงอายุที่เคยปวดหลังจากการหกล้มกระแทกพื้นและมีภาวะกระดูกพรุนร่วมด้วย อย่านิ่งนอนใจไม่มาพบแพทย์เพราะคิดว่าไม่เป็นอะไร นั่นอาจยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของกระดูกสันหลังทรุดหรือยุบตัวได้จนไปกดไขสันหลังหรือเส้นประสาท อีกทั้งผู้ที่เข้าข่ายเสี่ยงมีภาวะกระดูกพรุนเช่น สตรีที่หมดประจำเดือนแล้ว มีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นกระดูกพรุนหรือรับยาบางชนิดต่อเนื่องและผู้ชายที่มีอายุเกิน 70 ปีขึ้นไป ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกนำมาซึ่งการป้องกันและรักษาในลำดับต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น