31 ส.ค. 2551

เช็งเม้ง ไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับ

ปฏิทินเดือนเมษายนนอกจาก จะมีตัวเลขสีแดงบอกแจ้ง วันสงกรานต์ ในปฏิทินยังปรากฏอักษรบ่งบอกถึง วันเช็งเม้ง เทศกาลที่มีความหมายซึ่งปีนี้เวียนมาถึงอีกครั้ง
วันเช็งเม้ง ไหว้บรรพบุรุษ

เช็งเม้ง หมายถึงฤดูกาลซึ่งฤดูกาลของชาวจีนแบ่งเป็น 4 ฤดูกาลใหญ่ ได้แก่ ใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วงและฤดูหนาว เทศกาลเช็งเม้งอยู่ในช่วงปลายของฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูกาลย่อยซึ่งช่วงเวลานี้อากาศจะสดชื่นคลายจากความหนาวเย็นเริ่มเข้าสู่อากาศอบอุ่น ท้องฟ้าจะสว่างสดใส อ.เศรษฐพงษ์ จงสงวน สถาปนิก นักวิชาการอิสระผู้ศึกษาวัฒนธรรมจีนเริ่มบอกเล่า พร้อมให้ความรู้ถึงประเพณีเช็งเม้งที่มีความหมายความสำคัญเป็นธรรมเนียมการไหว้บรรพบุรุษแสดงความเคารพกตัญญูของลูกหลานจีน รวมทั้งชาวไทยเชื้อสายจีนซึ่งถือปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนาน ในการกำหนดปีของชาวจีนจะใช้พระอาทิตย์เป็นสิ่งกำหนด ซึ่งการโคจรของดวงอาทิตย์หนึ่งวงรอบ 360 องศา ชาวจีนจะแบ่งเวลาเป็นช่วงละ 15 องศาเป็นหนึ่งฤดูกาลย่อย ซึ่งการแบ่งฤดูกาลอย่างนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่ทำการเกษตรกรรม อย่างถ้าช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่หิมะตก อากาศร้อน แมลงออกจากการจำศีล ฯลฯ การแบ่งเหล่านี้จะเป็นสิ่งที่บอกให้ได้ทราบและเช็งเม้งก็เป็นหนึ่งในฤดูกาลแบบนี้ โดยเช็งเม้ง หมายถึงความสว่างสดใส “ในความสดใสนั้นหมายความว่าอากาศจะเริ่มคลายจากความหนาวและค่อยอุ่นขึ้นจนถึงอากาศร้อนในฤดูร้อน ซึ่งอากาศสดใสก็จะมีความเย็นกว่าฤดูร้อนทำให้เหมาะแก่การออกนอกบ้าน เหมาะแก่การเริ่มทำการเกษตรกรรม ต่างจากช่วงตรุษจีนซึ่งเป็นช่วงที่หนาวจึงเป็นการเริ่มตระเตรียมการทำนา พอถึงฤดูใบไม้ผลิก็จะเริ่มทำนาปักดำ หลังจากปักดำได้ถึงช่วงเช็งเม้งก็จะเป็นช่วงที่มีฝนตกพรำเริ่มมีแสงแดดอุ่นซึ่งจากนี้ไปก็จะเริ่มเข้าหน้าร้อนจะเริ่มมีพืชแตกยอดอ่อน ผลิดอกก็จะเป็นวงจรไป”

วันเช็งเม้ง ไหว้บรรพบุรุษ
ทีนี้เช็งเม้งพอเป็นเรื่องของฤดูกาลแล้ว ในความเข้าใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือช่วงเวลาที่ชาวจีนจะออกไปเซ่นไหว้ที่สุสานซึ่งการเซ่นไหว้ที่เกิดขึ้นจะมีด้วยกัน 2 ครั้งคือ ในช่วงเวลานี้ฤดูใบไม้ผลิ และในช่วงฤดูหนาว โดยช่วงฤดูหนาวจะอยู่ในราววันที่ 22 เดือนธันวาคม ซึ่งสองช่วงเวลานี้จะเป็นโอกาสที่เซ่นไหว้สุสาน แต่บางท้องถิ่นช่วงอากาศหนาวไปไม่ได้ก็จะถือช่วงเช็งเม้งเป็นหลัก “ช่วงเวลานี้ในประเทศไต้หวัน ประเทศจีนจะเรียกว่า เส้าหมอ หรือ การเก็บกวาดสุสาน ซึ่งจะไม่ค่อยเรียกว่า เช็งเม้ง ก็จะไปทำความสะอาดและเซ่นไหว้ซึ่งการแสดงความเคารพระลึกถึงบรรพบุรุษในเทศกาลนี้ชาวจีนบางถิ่นเรียกการเซ่นไหว้สุสานว่าก้วยจั้ว แปลว่าแขวนกระดาษ เพราะเมื่อเซ่นไหว้และเผากระดาษเสร็จแล้วต้องนำกระดาษสี 5 สีที่ตัดเป็นแถบยาววางไว้ที่บนป้ายจารึกหน้าสุสาน และโปรยไว้บนเนินดินสุสาน เป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่าลูกหลานได้มาเซ่นไหว้แล้ว หากครอบครัวไหนไม่ได้เก็บศพบรรพบุรุษไว้ที่สุสานหรือมีบรรพบุรุษอยู่ไกลที่ประเทศจีนก็จะตั้งไหว้ที่บ้าน ครอบครัวไหนเก็บกระดูก ป้ายวิญญาณไว้ที่วัด ก็จะมาเซ่นไหว้กันที่วัด”

วันเช็งเม้ง ไหว้บรรพบุรุษ
การเซ่นไหว้เครื่องเซ่นไหว้นอกจากจะมีอาหารคาว หวาน ผลไม้ ฯลฯ อะไรก็ได้ตามความเหมาะสม ความต้องการของลูกหลาน แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นที่นิยมเป็นขนมคู่เทศกาลนี้จะมีการไหว้ ขนมจือชังเปี้ย ซึ่งเป็นขนมเปี๊ยะอย่างหนึ่งข้างในจะใส่ต้นหอมโดยมีทั้งแบบอบกรอบ และแบบนิ่ม ขนมชนิดนี้จะทำเฉพาะเทศกาลเช็งเม้งเท่านั้นเป็นของชาวจีนแต้จิ๋วซึ่งคนจีนถิ่นอื่นจะไม่ค่อยใช้ นอกจากนี้การเซ่นไหว้ของประเพณีนี้จะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองร่วมด้วย“โดยปกติกระดาษเงินกระดาษ ทองจะคู่กับการเซ่นไหว้ซึ่งในการไหว้บรรพบุรุษจะใช้เช่นเดียวกันจะมีการเผากระดาษเงินกระดาษทองส่งไป รวมทั้งมีเครื่องกระดาษที่เป็นสิ่งของเครื่องใช้และในเวลานี้มีหลาก หลายรูปแบบ ซึ่งเครื่องใช้อุปโภคบริโภคจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัยและคาดว่าจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ อย่างพาหนะ แต่เดิมเป็นเกี้ยว เป็นรถม้า แต่ปัจจุบันเป็นรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ คันเล็กคันใหญ่ก็สุดแท้เหมาะแก่สถานะของผู้ซื้อ เครื่องบิน บัตรเครดิต โทรศัพท์มือถือ โทรทัศน์ วีซีดี บ้านเดี่ยว คอนโดมิเนียม พัดลม ฯลฯ ก็จะถูกเผาส่งไปให้แก่ผู้ล่วงลับแต่ที่จะขาดไม่ได้ต้องมีเสื้อผ้าซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นโอกาสที่ส่งเสื้อผ้าไปเปลี่ยนให้แก่ท่านก็ส่งเป็นเสื้อผ้ากระดาษไปให้ก็จะมีทั้งแบบจัดเป็นห่อเป็นชิ้น ๆ ซึ่งเสื้อผ้าจะมีการจัดแบ่งไว้ชัดเจนมีทั้งเสื้อผ้าแบบผู้ชายและผู้หญิง”

วันเช็งเม้ง ไหว้บรรพบุรุษ
ขณะที่ประเทศไทยมีเทศกาลเช็งเม้งประเทศเพื่อนบ้านที่รับวัฒนธรรม จีนก็มีเทศกาลนี้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น ฯลฯ ก็จะเก็บกวาดสุสาน ไหว้บรรพบุรุษซึ่งจะอยู่ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่อาจจะมีต่างกันไปบ้างอย่างในเมืองไทยจะมีการไหว้บรรพบุรุษเช็งเม้งก่อนวันจริง ขณะที่ชาวจีนอาจจะทำหลังวันเช็งเม้ง แต่อย่างไรก็ตามประเพณีที่มีความหมายความสำคัญนี้เป็นช่วงเวลาอันดีที่ครอบครัวจะได้กลับมาพบเจอได้ทำบุญระลึกถึงญาติผู้ล่วงลับร่วมกันและขณะที่ทุกเทศกาลแต่ละปีจะหมุนเวียนผ่านมา นอกจากความหมายความสำคัญของเทศกาลนี้ที่แสดงถึงความเคารพกตัญญูระลึกถึงผู้ล่วงลับ อีกด้านหนึ่งยังเป็นเสมือนกุศโลบายแยบยลของคนโบราณที่คิดในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีเป็นสิ่งที่แฝงไว้ให้เรียนรู้ถึงกาลเทศะซึ่งมีความสำคัญ“กาลเทศะเป็นการแสดงให้เห็นว่าถึงช่วงเวลานี้ควรที่จะต้องทำอะไร เป็นการเตือนตนในการดำเนินชีวิตซึ่งไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร วางตัวอย่างไรหากรู้จักกาลเทศะก็ช่วยให้รู้จักตัวตนของตัวเอง รู้หลักการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณค่า มีสติ ก้าวเดินไปข้างหน้าด้วยความมั่นคง รุ่งเรือง” อาจารย์ท่านเดิมกล่าวทิ้งท้ายจากคุณค่าความหมายของประเพณี การไหว้บรรพบุรุษ เช็งเม้ง ช่วงเวลานี้เป็นอีกโอกาสอันดีที่จะแสดงความเคารพทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่ญาติผู้ล่วงลับ อีกทั้งยังเป็นการทบทวนการดำเนินชีวิตอีกร่วมด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น: