17 พ.ค. 2552

ไม่ควรมองข้ามอาการป่วยที่เล็กน้อยและดูเหมือนไม่สำคัญ1

แพทย์คนหนึ่งกล่าวว่า "หลังตรวจเสร็จและกำลังจะเปิดประตูออกไปคนไข้จำนวนไม่น้อยมักนึกอะไรขึ้นได้และกล่าวว่า "อ้อ อีกอย่างค่ะหมอ" อาการอีกอย่างที่ว่านี้มักร้ายแรงกว่าอาการที่นำพาคนไข้ให้ไปพบแพทย์คนไข้จำนวนมากเข้าข่ายนี้ จิตแพทย์คนหนึ่งให้ความเห็นว่า "พฤติกรรมของผู้ป่วยมักสะท้อนถึงความกังวล ความกระวนกระวายใจหรือความกลัวที่มีต่ออาการเจ็บป่วย" ผู้ป่วยหลายคนพยายามสร้างทฤษฎีใหม่ขึ้นเองเพื่ออธิบายความเจ็บป่วยของตน วิธีนี้ไม่ช่วยให้เข้าใจอาการเจ็บป่วยหรือลดความกลัวลงได้ วิทยาการในปัจจุบันสามารถรักษาโรคร้ายต่างๆให้หายขาดได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีก่อน โดยเฉพาะหากได้รับการรักษาตั้งแต่แรก ลองมาดูตัวอย่างของเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง 3 กรณีนี้นะคะ

1. อาการไข้หวัดและกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หญิงวัย 42 ไปพบแพทย์ด้วยอาการไข้หวัดและกระเพาะปัสสาวะอักเสบ หลังกินยารักษาอาการติดเชื้อที่หมอจัดให้อาการก็ดีขึ้น ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา เธอปวดบริเวณเหงือกและมีเลือดออกตามไรฟัน แต่คิดว่าคงเป็นอาการปวดจากฟันคุดจึงไปพบทันตแพทย์ หลังผ่าตัดฟันคุด ทันตแพทย์สงสัยลักษณะผิดปกติบริเวณเหงือก จึงตัดชิ้นเนื้อดังกล่าวส่งไปตรวจและแนะนำให้คนไข้ตรวจเลือดด้วย วันต่อมา หมอแจ้งให้เธอรีบไปตรวจกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทันทีเนื่องจากผลการตรวจชิ้นเนื้อ ยืนยันว่าเธอเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตบางคนรีบไปพบแพทย์ทันทีที่มีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย แต่คนจำนวนมากกลับเพิกเฉยไม่สนใจเนื่องจากรู้เท่าไม่ถึงการณ์อายหรือกลัวหมอ แม้เลือดออกตามไรฟันจะเป็นอาการเบื้องต้นของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่พบไม่บ่อยนัก แต่คนส่วนใหญ่ก็มักมองข้ามอาการอื่นที่พบบ่อยกว่าอยู่เสมอ

2. เจ็บหน้าอก "เดี๋ยวก็หายเอง" ผู้ป่วยหลายคนมักกล่าวเช่นนี้เมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกโดยหารู้ไม่ว่ากำลังตกอยู่ในอันตราย ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ปี 2542 คนไทยเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด 42,288 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งทุกชนิดรวมกัน (36,091 คน) เมื่อรู้สึกเจ็บหน้าอก คนทั่วไปมักคิดว่าเป็นเพราะอาหารไม่ย่อย โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นขณะออกกำลัง ผู้ป่วยโรคหัวใจมักบรรยายลักษณะอาการเจ็บหน้าอกว่ารู้สึกอึดอัดแน่นคล้ายโดนบีบหรือเจ็บแปลบหน้าอก บางครั้งอาการเจ็บลามไปที่ขากรรไกร คอ หลัง หรือแขน บางรายมีอาการหายใจตื้น เหงื่อออก หรือคลื่นไส้ร่วมด้วย ผู้ที่มีน้ำหนักเกินระดับคลอเลสเตอรอลในเลือดสูง เป็นโรคความดันโลหิตสูงหรือเบาหวานมีโอกาสเกิดโรคได้รุนแรงกว่าดังนั้น แม้เริ่มเจ็บหน้าอกเพียงเล็กน้อยก็ควรรีบไปพบแพทย์ หากเจ็บหน้าอกนานต่อเนื่องหลายนาทีควรตามรถพยาบาลฉุกเฉิน อย่าขับรถไปโรงพยาบาลด้วยตนเองเพราะอาจเกิดอันตรายร้ายแรงได้

3. เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ สมรรถภาพทางเพศเป็นประเด็นที่แพทย์มักละเลยไม่ถามถึงเมื่อมีการตรวจร่างกาย ทั้งนี้อาจเป็นเพราะรีบร้อนหรือผู้ป่วยไม่สะดวกใจหากต้องปรึกษาปัญหาทางเพศกับแพทย์ ปัญหานี้เป็นผลข้างเคียงที่พบบ่อยจากการใช้ยาคลายความซึมเศร้าและยาลดความดันโลหิต "การเสื่อมสมรรถภาพทางเพศเป็นอาการเริ่มต้นของโรคหลายชนิด" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นว่า"การหมดความต้องการทางเพศทั้งในผู้ชายและผู้หญิง หรือภาวะองคชาตไม่แข็งตัวอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคเบาหวาน ต่อมไทรอยด์ โรคซึมเศร้า และเนื้องอกบางชนิด" งานวิจัยล่าสุดพบว่า ภาวะองคชาตไม่แข็งตัวเป็นเครื่องบ่งชี้ที่ดีว่าผู้ป่วยอาจเป็นโรคหัวใจระยะเริ่มต้น

กรณีของผู้ป่วยหญิงวัย 42 ที่กล่าวข้างต้นนั้น เธอไม่ได้ละเลยกับอาการเล็กน้อย เช่น เลือดออกตามไรฟัน แพทย์จึงวินิจฉัยพบโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวตั้งแต่ระยะต้น หกปีต่อมา หลังได้รับการรักษาด้วยการปลูกถ่ายไขกระดูก เธอยังมีสุขภาพแข็งแรง และเป็นหนึ่งในจำนวนร้อยละ 20 ถึง 30 ของคนไข้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในผู้ใหญ่ที่มีช่วงปลอดโรคเป็นระยะเวลานาน เธอประทับใจหมอที่ดูแลเป็นอย่างดีและไม่ได้รักษาเพียงอาการเล็กน้อยที่ปรากฏ หากยังมองเห็นโรคร้ายที่แอบแฝงอยู่ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: