30 พ.ค. 2552

โรค Attention Deficit Trait โดย ผศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ pasu@acc.chula.ac.th

ท่านผู้อ่านเป็นผู้หนึ่งที่ชอบทำงานในลักษณะของ Multitasking หรือไม่ครับ? คนกลุ่มนี้จะเป็นพวกที่สามารถหรือชอบที่จะทำงานหลาย ๆ อย่างไปในเวลาเดียวกัน เช่น ในขณะที่กำลังเช็คอีเมล์ทางคอมพิวเตอร์ ก็กำลังคุยโทรศัพท์สั่งงานกับลูกน้อง พร้อมทั้งดื่มกาแฟไปพร้อมกัน หรือในขณะที่กำลังนั่งประชุม ก็สั่งงานพร้อมทั้งหาข้อมูล และตัดสินใจผ่านทางเครื่องโน้ตบุ๊คที่ตั้งอยู่ข้างหน้า ในอดีตผมก็เคยชื่นชมคนพวกนี้นะครับว่า มีความสามารถมาก สามารถทำงานได้หลายอย่างในขณะเดียวกัน สามารถทำงานได้ออกมาเยอะ และดูยังสงบไม่ตื่นเต้นโวยวายเท่าใด

แต่ท่านผู้อ่านทราบไหมครับ ว่าการทำงานในลักษณะ **Multitasking** นั้น กลับเป็นสาเหตุประการหนึ่งของโรคร้ายใหม่ในที่ทำงาน ที่เราเรียก **Attention Deficit Trait** หรือ **ADT** โรคนี้เป็นโรคที่เราจะเจอมากขึ้นเรื่อย ๆ ในที่ทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสภาวะแวดล้อมที่บังคับให้คนทำงานจะต้องทำงานด้วยความรวดเร็วมากขึ้น ทำงานหลายอย่างพร้อม ๆ กัน จะต้องตื่นตัวตลอดเวลา ไม่มีเวลาหรือโอกาสได้สงบพัก

ท่านผู้อ่านลองพิจารณาตัวท่านเองหรือบุคคลรอบข้างนะครับว่า เป็นโรคนี้หรือไม่? ผมอ่านพบเจอโรคนี้จากวารสาร Harvard Business Review ฉบับเดือนมกราคม 2548 ในบทความชื่อ Why Smart People Underperform เขียนโดย Edward M. Hallowell ซึ่งเป็นจิตแพทย์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในโรคที่เกี่ยวกับสมองและสมาธิทั้งหลาย คุณหมอท่านนี้ทำการรักษาอาการ Attention Deficit Disorder หรือ ADD มากว่า 25 ปี และ โรค ADD นี้เราเริ่มรู้จักกันมากขึ้นในเมืองไทย โดยเฉพาะผู้ที่มีลูกอยู่ในวัยเรียน เรามักจะเรียกโรคนี้ว่าเป็น “โรคสมาธิสั้น”

ผู้ที่เป็นโรค ADT นั้น มักจะมีอาการสมาธิสั้น ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานใดงานหนึ่งได้นาน ๆ ก็จะถูกดึงดูดด้วยงานอย่างอื่น มีความวุ่นวายอยู่ข้างใน (แต่มักจะไม่แสดงออกมาให้ผู้อื่นเห็น) ไม่ค่อยอดทน มีปัญหาในการจัดระบบต่าง ๆ (Unorganized) การจัดลำดับความสำคัญ และการบริหารเวลา

โรค ADT นี้ มักจะเริ่มเกิดขึ้น เมื่อเราก้าวขึ้นไปเป็นผู้บริหารระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ การที่มีความรู้สึกว่ามีงานด่วน หรือ สิ่งที่จำเป็นและเร่งด่วนที่จะต้องทำเข้ามาเรื่อย ๆ และท่านพยายามที่จะจัดการกับงานด่วนเหล่านั้นให้สำเร็จ จะเป็นบ่อเกิดที่สำคัญของโรค ADT เพราะเมื่อเรามีงานที่เร่งด่วน หรือจำเป็นเข้ามาเรื่อย ๆ เราก็มักจะรับภาระความรับผิดชอบต่องานเหล่านั้น อีกทั้งไม่บ่นไม่โวยวายต่อภาระงานที่เพิ่มขึ้น เราจะก้มหน้าก้มตาพยายามทำให้งานสำเร็จ ทั้ง ๆ ที่กำลังความสามารถ และเวลาของเราไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณของงานที่เข้ามา ดังนั้นเมื่อเจอกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นและเร่งด่วนขึ้น เราก็มักจะอยู่ในอาการของความรีบร้อนตลอดเวลา พยายามทำงานให้เสร็จโดยเร็วการทำงานหลาย ๆ อย่างไปพร้อม ๆ กัน และขาดสมาธิต่อการทำงาน ๆ หนึ่ง (Unfocused) แต่ในขณะเดียวกัน บุคคลเหล่านี้ก็จะไม่บ่นไม่โวยวาย ดูจากภายนอกแล้วเหมือนจะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น

ทีนี้ท่านผู้อ่านอาจจะสงสัยครับว่าโรค ADT จะก่อให้เกิดปัญหาอะไรขึ้น? ง่าย ๆ ก็คือ ทำให้สมองเราสูญเสียความสามารถในการคิด วิเคราะห์และทำงานอย่างละเอียดลึกซึ้ง จะส่งผลให้งานที่ออกมาเป็นงานที่เร็วแต่ไม่ลึก จะทำให้ความสามารถในการทำงานของเราลดน้อยลง การที่สมองเราจะต้องรับ วิเคราะห์ และประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น ความสามารถในการแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ก็ลดลง อีกทั้งความผิดพลาดก็เกิดขึ้นได้มากขึ้น

โรคนี้ถือเป็นโรคใหม่ในที่ทำงานอย่างหนึ่งครับ เกิดขึ้นเนื่องจากสภาวะแวดล้อมในการทำงาน ที่ต้องการความรวดเร็ว และมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สมองเราจะต้องรับและประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ มากขึ้นกว่าเดิม วัฒนธรรมในการทำงานในปัจจุบันก็เป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เราเกิดโรคนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสำคัญของความเร็วในการทำสิ่งต่าง ๆ ในปัจจุบันดูเหมือนว่าเราต้องการความเร็วมากขึ้นเรื่อย ๆ เรามักจะคิดว่าในเมื่อคนทุกคนมีเวลาเท่ากัน ดังนั้น ผู้ที่มีความเร็วมากกว่าจะทำงานได้มากกว่า

ท่านผู้อ่านลองสังเกตซิครับเวลาท่านขึ้นลิฟต์ ปุ่มไหนที่ท่านจะกดบ่อยที่สุด ปุ่มนั้นก็คือปุ่ม "ปิดประตู" เพราะทุกคนเป็นทาสของความเร็ว ไม่สามารถรอให้ลิฟต์ปิดได้เอง

ไม่มีความคิดเห็น: