17 พ.ค. 2552

ไม่ควรมองข้ามอาการป่วยที่เล็กน้อยและดูเหมือนไม่สำคัญ2

4. การนอนหลับผิดปกติ คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการนอนไม่หลับหรือหลับมากผิดปกติเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนซึ่งมีภาระหน้าที่มาก ความจริงแล้ว ลักษณะการนอนที่เปลี่ยนแปลงไปอาจเป็นอาการเริ่มต้นของโรคซึมเศร้า บางคนมีโรคซึมเศร้าแอบแฝงอยู่โดยไม่รู้ตัว ผู้ป่วยจึงไม่แสดงอาการผิดปกติและไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นโรค ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงตามมา เช่น ครอบครัวหรือหน้าที่การงานล้มเหลว ติดสุราหรือสารเสพย์ติด เป็นโรคหัวใจ หรืออาจถึงขั้นฆ่าตัวตาย "แม้แต่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่ไม่ยอมรับว่าตัวเองป่วยก็ยังมองว่าการนอนเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ หมอจึงมักถามคนไข้ว่านอนหลับดีหรือไม่" แพทย์อธิบาย "คำถามนี้ช่วยให้วินิจฉัยคนไข้โรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้ดีขึ้น"

การนอนหลับที่ผิดปกติส่งผลให้เกิดความเครียด ติดสุราหรือกาแฟ บางครั้งอาจเป็นอาการของโรคบางชนิด เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ โรคไต หรือโรคเบาหวาน ผู้ที่ต้องนอนหนุนหมอนสูงๆจึงจะหลับได้ อาจมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจ เพราะการนอนในท่านั้นทำให้เลือดไหลเวียนไปที่เท้ามากขึ้น ผลข้างเคียงจากการใช้ยา ปวดศีรษะ คลื่นไส้ วิงเวียน ผื่นตามร่างกาย หายใจไม่สะดวก ฯลฯ เหล่านี้อาจเป็นอาการของโรคหลายชนิด แต่คนส่วนใหญ่มักคิดไม่ถึงว่าจะเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยา เมื่อคุณเริ่มใช้ยาชนิดใหม่และมีอาการข้างเคียงควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีและหากจะพบแพทย์ครั้งต่อไป จดรายชื่อยาทุกชนิดรวมถึงสมุนไพรที่คุณใช้เป็นประจำแนบไปด้วยเพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบ

5. การขับถ่ายผิดปกติ "การขับถ่ายอุจจาระของแต่ละคนมีความสม่ำเสมอแตกต่างกันบางคนถ่ายวันละครั้ง บางคนบ่อยกว่า บางคนห่างกว่าซึ่งล้วนแต่ปกติทั้งสิ้น" แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าว "หากการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไปจากปกติหรือไม่สม่ำเสมอ อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เช่นเดียวกับอาการถ่ายมีเลือดปนหรืออาการปวดท้อง" บางครั้งโรคทางจิตเวชเช่นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลก็อาจทำให้การขับถ่ายผิดปกติได้เช่นกัน ระบบทางเดินอาหารของผู้ป่วยอาจผิดปกติ เช่น ท้องเสีย ปวดท้อง ฯลฯ กลุ่มอาการดังกล่าวเรียกโดยรวมว่า โรคเครียดลงลำไส้ (irritable bowel syndrome) ซึ่งเป็นโรคที่มีสาเหตุเกี่ยวข้องกับความผิดปกติทางจิตใจ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งก่อนออกจากบ้านจะต้องตรวจดูเตาแก๊สและประตูว่าปิดสนิทดี หรือยังไม่ต่ำกว่า 15 ถึง 20 ครั้งเธอไปพบแพทย์เนื่องจากมีอาการอึดอัดในท้องทั้งที่จริงๆ แล้วมีปัญหาทางจิต สำคัญกว่านั่นคือโรคย้ำคิดย้ำทำ

6. ความเปลี่ยนแปลงที่ผิวหนัง ผู้ป่วยรายหนึ่งไปพบแพทย์ด้วยปัญหาก้อนเนื้อบริเวณขาซึ่งกลายเป็นถุงน้ำ ผู้ป่วยรายนี้มีปานดำอยู่ก่อนแล้ว แพทย์จึงขอตรวจดูผิวหนังทั้งตัว "ตอนแรกผู้ป่วยบ่ายเบี่ยงไม่ยอมถอดเสื้อผ้าแต่พอทราบถึงความจำเป็นในการตรวจก็เข้าใจ" หมอเล่า หมอตรวจพบปานสีน้ำตาลขอบไม่ชัดบริเวณหัวไหล่ซึ่งผู้ป่วยทราบอยู่แล้วและ คิดว่าเป็นปานปกติ แต่หมอขอตัดชิ้นเนื้อไปเพื่อตรวจหามะเร็งผิวหนัง มะเร็งผิวหนังเป็นมะเร็งที่พบบ่อยประเภทหนึ่ง "เมลาโนมา" คือปานดำที่กลายเป็นมะเร็งได้ และตรวจพบประมาณร้อยละสี่ของมะเร็งทั้งหมดแต่มีความรุนแรงสูง ร้อยละ 80 ของผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งผิวหนังเกิดจากเมลาโนมา ระหว่างปี 2516 ถึง 2540 จำนวนผู้ป่วยเมลาโนมารายใหม่ที่ตรวจพบในแต่ละปีเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่า เมลาโนมามีทางรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก ซึ่งมะเร็งยังไม่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น

ผลการตรวจชิ้นเนื้อของคนไข้รายนี้พบว่าเป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีความรุนแรงน้อยกว่าเมลาโนมา ดังนั้น ทุกคนจึงควรตรวจดูร่างกายตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าไฝหรือปานมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือสีเปลี่ยนไปควรปรึกษาแพทย์ทันที หรือให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญตรวจผิวหนังทั้งร่างกายปีละครั้ง ความอายและความกลัวเป็นปัญหาใหญ่พอๆกับการละเลยไม่ใส่ใจอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น "การกลัวหมอ" หรือ "กลัวที่จะรู้ความจริง" ทำให้หลายคนไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีแพทย์ส่วนใหญ่รู้จักความกลัวประเภทนี้ดี

ดังนั้น ทุกครั้งที่ไปพบแพทย์จงกล้าพูด อย่ากลัว และไม่ต้องรีบร้อน เตรียมจดคำถามหรือหัวข้อที่ต้องการปรึกษาแพทย์ไว้ล่วงหน้า เรื่องสำคัญที่สุดควรจัดไว้เป็นหัวข้อแรก แพทย์หลายคนมีความเห็นตรงกันว่าอาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นทุกชนิดล้วนมีความสำคัญ แพทย์คนหนึ่งกล่าวว่า "คนส่วนใหญ่มักละเลยอาการเจ็บป่วยที่ตนเห็นว่าไม่สำคัญ แต่คนไข้ไม่ควรตัดสินใจด้วยตนเองว่าอาการเจ็บป่วยใดสำคัญหรือไม่" การกล่าวเช่นนี้ไม่ได้ต้องการให้ทุกคนตีตนไปก่อนไข้ แต่อยากให้มีสติในการไตร่ตรองและไม่มองข้ามเรื่องเล็กน้อย อย่างเช่น หากคุณสังเกตเห็นความผิดปกติบางอย่างของร่างกายในช่วงสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยดีกว่ารอให้อาการลุกลามยิ่งขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: