24 พ.ค. 2552

การปฐมพยาบาลฉุกเฉิน สงสัยกระดูกหัก

กระดูกของคนเราค่อนข้างแข็ง เพราะเป็นโครงของร่างกาย ดังนั้น กระดูกจะหักได้ต้องมีแรงมากระทำค่อนข้างรุนแรง ยกเว้นในกระดูกของคนสูงอายุ กระดูกจะบางลง แข็งแรงน้อยลง จะหักง่ายแม้มีแรงมากระทำไม่แรงก็ตาม ส่วนใหญ่คนไข้ที่กระดูกหักจะมีประวัติหกล้มมือยันพื้น สะโพกกระแทกพื้น ตกจากที่สูง สิ่งของที่หนักตกลงมากระแทก เล่นกีฬา รถมอเตอร์ไซด์คว่ำ รถยนต์ได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น

ถ้าสังสัยกระดูกหักในกรณีไม่มีแผลเลือดออก ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการปวด บวม เพราะมีเลือดออกจากกระดูกที่หัก ถ้ากระดูกหักแล้วมีการเคลื่อนที่ของปลายกระดูกที่หักจะทำให้ร่างกายส่วนนั้นผิดรูปไป เช่นข้อมือหักก็จะเห็นข้อมือบิดเบี้ยวไป รูปร่างไม่เหมือนเดิม หรือแขนหัก บางครั้งจะเห็นแขนตรงที่หักโก่งเป็นมุมได้อย่างชัดเจน แต่ถ้ากระดูกหักแล้วไม่เคลื่อนที่ออกจากกัน อาจจะไม่ผิดรูปร่างไป มีแต่ปวดบวม และถ้ากดไปบริเวณนั้นจะมีอาการเจ็บด้วย บางทีคนไข้เองหรือผู้ที่มาช่วยเหลือ อาจจะรู้สึกว่าปลายกระดูกที่หักมีการเสียดสีกัน ส่วนกรณีที่หักแล้วมีบาดแผลเลือดออก บางครั้งจะเห็นกระดูกทะลุออกมานอกเนื้ออย่างชัดเจน ซึ่งกระดูกหักชนิดมีแผลทะลุออกมานี้ ค่อนข้างจะรักษายากและมีผลแทรกซ้อนทำให้เกิดการติดเชื้อของกระดูกได้ง่าย

สำหรับการปฐมพยาบาลเบื้องต้น ท่านสามารถช่วยได้ โดยหาไม้หรือวัสดุที่แข็งมารองส่วนที่หักและพันดามไว้ให้อยู่นิ่ง ๆ ถ้าหาไม่ได้จริง ๆ ให้เอาหนังสือพิมพ์หลาย ๆ ชั้น มาม้วนให้กลมเป็นแท่ง ๆ จะทำให้มีความแข็งแรงพอที่จะใช้ดามแขนขาได้

ในกรณีที่สงสัยว่าจะกระดูกหัก ผู้ป่วยควรจะถูกนำไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย บางครั้งแพทย์อาจจะต้องเอ๊กซเรย์กระดูก เพื่อดูว่ากระดูกหักแล้วเคลื่อนที่มากน้อยแค่ไหน เพื่อเตรียมการรักษาที่ถูกต้อง ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น: