Exercise สไตล์คนป่วย (Health&Cuisine)
การออกกำลังกายทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น แต่คนที่อ้วนมาก ๆ เป็นโรคหอบ หืด หรือภูมิแพ้ ต้องระวังอาการจะกำเริบ หากเลือกชนิดกีฬาที่ไม่เหมาะสม ถ้าไม่อยากให้การออกกำลังกลายเป็นดาบสองคม ต้องอ่านค่ะ
โรคหอบหืด โรคภูมิแพ้
คนที่มีโรคประจำตัวเหล่านี้ คงเคยมีประสบการณ์หอบกำเริบ หายใจติดขัด ขณะหรือหลังออกกำลังกายเป็นแน่ มักเกิดอาการหลังจากเล่นกีฬาได้ประมาณ 5 หรือ 20 นาที บางครั้งอาจรู้สึกแน่นหรือเจ็บหน้าอก ไอ และหายใจหอบถี่ร่วมด้วย ทั้งหมดนี้เป็นผลมาจาก
ระบบหายใจตอบสนองต่ออากาศที่สูดเข้าไปไวเกินไป
การเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันของอุณหภูมิและความชื้นในอากาศ ที่เราสูดเข้าไปเร็วและลึกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่ออากาศนั้นมีความเย็นและแห้งมาก
ปกติอากาศที่หายใจเข้าทางจมูกมีความชื้นและอุ่นกว่าอากาศภายนอก เพราะโพรงจมูกช่วยเพิ่มความชื้นและปรับอุณหภูมิก่อนจะเข้าไปสู่ปอด แต่ขณะออกกำลังร่างกายต้องการอากาศมากขึ้น เราจึงมักอ้าปากหายใจ ทำให้ปอดได้รับอากาศเย็นและแห้งกว่าปกติ อาการหอบหืดจึงกำเริบขึ้น
การว่ายน้ำ เป็นกีฬาที่เหมาะกับคนเป็นโรคนี้มากที่สุด เพราะ...
สภาพแวดล้อมบริเวณสระน้ำมีอุณหภูมิและความชื้นค่อนข้างคงที่
เน้นการเคลื่อนไหวที่กล้ามเนื้อร่างกายส่วนบน จึงช่วยพัฒนาระบบหายใจได้ด้วย
การออกกำลังกายในแนวราบ ช่วยให้กล้ามเนื้อปอดเคลื่อนไหวจากส่วนท้ายขึ้นมาส่วนบน จึงช่วยไล่อากาศ หรือขับสิ่งขัดขวางการหายใจออกได้ง่ายกว่าการออกกำลังกายในท่ายืน
กีฬาชนิดอื่นที่มีความเสี่ยงรองลงมาได้แก่ การเดิน ขี่จักรยาน และกอล์ฟ เพราะเป็นการออกกำลังแบบไม่ต่อเนื่อง ทำให้อาการกำเริบน้อยกว่ากีฬาที่ต้องเคลื่อนไหวติดต่อกันนาน ๆ ไม่มีจังหวะให้หยุดพัก เช่น ฟุตบอล สคอว์ช บาสเก็ตบอล
กีฬาเมืองหนาว อย่าง สกีหิมะ สเก็ตน้ำแข็ง ฮ๊อกกี้น้ำแข็ง มีแนวโน้มทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมตีบได้มากขึ้น แต่ไม่ได้ห้ามเล่นเด็ดขาด เพียงแต่คุณต้องดูแลตนเองเป็นพิเศษ มียาประจำตัวหรือคนที่มีความรู้ในการปฐมพยาบาลอยู่ใกล้ ๆ เผื่ออาการกำเริบกะทันหัน
โรคอ้วน
การวิ่งจ๊อกกิ้ง และเดิน เป็นกีฬาที่เหมาะกับผู้มีน้ำหนักมาก หากกังวลว่าการวิ่งอาจทำให้เข่ามีปัญหาได้ อาจเลี่ยงไปว่ายน้ำแทน แต่ไม่ว่าจะเลือกกีฬาอะไร มีหลักการสำคัญอยู่นิดเดียว คือคุณต้องเริ่มทีละน้อยและช้า ๆ ในครั้งแรกให้ทำมากเท่าที่ทำได้อย่างไม่ลำบาก และต้องจำไว้เสมอว่าต้องยืดเหยียดกล้ามเนื้อก่อน และหลังออกกำลังกายทุกครั้ง เพื่อเตรียมกล้ามเนื้อที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน และช่วยลดการบาดเจ็บหลังออกกำลังกาย
สิ่งสำคัญอีกประการคือ คุณต้องทำติดต่อกันทุกวัน หรืออย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์ แล้วค่อย ๆ เพิ่มความหนักหรือระยะเวลาให้มากขึ้น พร้อมกับคิดตั้งเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวไว้
เช่น เมื่อเริ่มต้นเดิน คุณเดินได้ครั้งละ 10 นาทีต่อวันและทำได้สามวันต่อสัปดาห์ ก็ควรตั้งเป้าหมายระยะสั้นไว้ว่าต้องทำให้ได้สองสัปดาห์ จากนั้นเพิ่มเวลาเป็น 20 นาทีต่อวัน ทำให้ได้ 4 วันต่อสัปดาห์ เป้าหมายระยะยาวควรอยู่ที่ การเดินวันละ 40 นาทีต่อวัน ทำให้ได้ 5 วันต่อสัปดาห์ นาน 6 เดือน
การเปลี่ยนแปลงทีละนิด จะช่วยให้ร่างกายค่อย ๆ ปรับตัว อาการหรือความเจ็บปวด อึดอัดจากการออกกำลังกายก็จะลดลงไปพร้อม ๆ กับไขมันและน้ำหนักตัว
ถ้าป่วยแล้วไม่ออกกำลังกายอีก ร่างกายจะยิ่งแย่ไปกันใหญ่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น