13 มี.ค. 2553

ปวดเค้นอก

อาการปวดแน่นบีบเค้นในอกเกิดขึ้นเมื่อหัวใจได้รับออกซิเจนไม่พอ สาเหตุใหญ่คือมีคราบไขมันอุดตันหลอดเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจ อาการปวดเค้นอกมักเริ่มจากบริเวณใต้กระดูกหน้าอก แล้วปวดร้าวไปที่หัวไหล่ แขน หรือขากรรไกร บางคนมีอาการหายใจตื้น คลื่นไส้ เวียนศีรษะ หัวใจเต้นผิดปกติ อาการปวดจะมากขึ้นเรื่อยๆ จนคงที่สักพักแล้วหายไป ซึ่งอาจเป็นอยู่นานถึง 15 นาที


ยาบรรเทาอาการ

เมื่อมีอาการปวดเค้นอกหรือเจ็บแน่นอกเพราะโรคหัวใจ แพทย์มักให้ยาไนโตรกลีเซอรีน (nitroglycerine) หรือที่เรียกว่า กลีเซอริล ไตรไนเตรท (glyceryl trinitrate) ยาชนิดนี้บรรเทาอาการเจ็บแน่นหน้าอกโดยช่วยทำให้เลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงหัวใจเพิ่มขึ้น ดังนั้นผู้ป่วยโรคหัวใจควรพกยาชนิดนี้ติดตัวเสมอ นอกจากยาแล้วยังมีวิธีอื่นอีกที่ช่วยบรรเทา ลดความถี่ หรือแม้แต่ป้องกันไม่ให้เกิดอาการได้

เมื่อเกิดอาการ...

ถ้าอาการกำเริบขณะยืน เดิน หรือออกกำลังกาย ให้นั่งลงพัก 2-3 นาที

หากอาการกำเริบขณะนอนหรือพักผ่อน ให้พลิกเปลี่ยนท่า เช่น ลุกขึ้นนั่งหรือยืน เพื่อลดสัญญาณเจ็บปวดจากเส้นประสาทที่หัวใจ อาการปวดเค้นอกที่เกิดขึ้นขณะพักผ่อน เป็นสัญญาณเตือนว่าคุณมีความเสี่ยงสูงต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

หากอาการกำเริบขณะที่คุณตื่นเต้นหรือเครียด ให้พยายามสงบใจ เพราะความเครียดทางใจทำให้หัวใจต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับความเครียดทางกาย (ควรฝึกโยคะ ไท้เก๊ก ทำสมาธิ หรือวิธีผ่อนคลายรูปแบบอื่นอย่างสม่ำเสมอ)

สารอาหารเพื่อหัวใจ

กรดไขมันโอเมกา-3 ช่วยปกป้องหัวใจและหลอดเลือด มีอยู่ในรูปน้ำมันปลาชนิดแคปซูล แต่อาจไม่จำเป็นถ้าคุณกินเนื้อปลาที่มีไขมันมาก เช่น ปลาแม็คเคอเรล แซลมอน หรือซาร์ดีนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากยาบางชนิดอาจทำปฏิกิริยากับน้ำมันปลา คุณจึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินน้ำมันปลาเป็นสารเสริมอาหาร โดยควรเลือกชนิดที่ให้กรดอีพีเอ (eicosapentaenoic acid: EPA) และดีเอชเอ (docosahexanoic acid: DHA) วันละ 1,000 มก. ซึ่งคุณอาจต้องกินน้ำมันปลาวันละ 3,000 มก. หรือมากกว่านั้น

มีหลายการศึกษาพบว่า การกินกระเทียมวันละ 1 กลีบใหญ่ ช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือดและความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือด กระเทียมสดจะมีประสิทธิภาพสูงกว่ากระเทียมชนิดแคปซูลซึ่งใช้ได้เช่นกัน ควรเลือกชนิดที่มีสารอัลลิซิน (allicin) 4,000 ไมโครกรัม ต่อ 1 แคปซูล ขนาดที่ใช้คือวันละ 400-600 มก.

กรดโฟลิก และ วิตามินบี12 ช่วยลดระดับโฮโมซิสเตอีนซึ่งเป็นสารเคมีในเลือดที่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ วิตามินบี12 มีมากในเนื้อสัตว์ ปลา และไข่ กรดโฟลิกพบมากในผักใบเขียวและผลไม้ตระกูลส้มมะนาว มีบางงานวิจัยแนะนำให้กินกรดโฟลิกวันละ 400 ไมโครกรัมหรือ 0.4 มก. และวิตามินบี12 วันละ 0.5 มก. เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

ป้องกันไว้ก่อน

ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอภายใต้คำแนะนำของแพทย์

หยุดสูบบุหรี่ สารนิโคตินในบุหรี่กระตุ้นอาการปวดเค้นอกหรือทำให้อาการแย่ลง

หยุดดื่มกาแฟ มีหลายการศึกษาพบว่ากาแฟทำให้โฮโมซิสเตอีนเพิ่มขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดหัวใจอุดตัน

หลังกินอาหารมื้อใหญ่ควรพักผ่อนสักครู่ เนื่องจากเลือดจะไหลเวียนไปที่ระบบทางเดินอาหารเพื่อย่อยอาหาร หัวใจจึงได้รับออกซิเจนน้อยลงและเสี่ยงต่ออาการปวดเค้นอกมากขึ้น

อย่าอยู่กลางแจ้งเมื่ออากาศหนาวจัด ความเย็นอาจกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและทำให้เกิดอาการปวดเค้นอก

ห้ามออกแรงมากอย่างกะทันหัน เช่น วิ่งตามรถประจำทาง หรือการยกของหนัก

ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์เหมาะสม

หลายคนที่เพิ่งมีอาการปวดเค้นอกเป็นครั้งแรกมักกังวลว่าเป็นภาวะหัวใจพิบัติซึ่งเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตัน ที่จริงอาการปวดเค้นอกเกิดจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันบางส่วนเท่านั้น แต่ก็ไม่ควรละเลย ให้รีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุดหลังจากมีอาการ กรณีที่มีอาการนานเกิน 15 นาที หรือมีอาการหายใจตื้นและคลื่นไส้ตามมา ควรเรียกรถพยาบาลฉุกเฉินทันที ระหว่างรอ ให้กินยาแอสไพริน 300 มก. ละลายน้ำทันที

ไม่มีความคิดเห็น: