ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถมือ 2 ยังคงเป็นที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง สาเหตุส่วนใหญ่ก็มักไม่พ้นเรื่องสนนราคาที่สบายกระเป๋ากว่ารถใหม่ ซึ่งก็เหมาะสำหรับคนที่งบจำกัดหรืออยากประหยัดงบ แต่ก็จะมีบ้างที่จับจองเพราะความชอบส่วนตัว (เงินไม่ใช่ปัญหาแต่ถูกใจว่างั้น) ทำให้รถที่เจ้าของเก่าเบื่อหรือมีความจำเป็นต้องปลดออก ได้หมุนเวียนเปลี่ยนมือไปเป็นมือ 2, 3 หรือกว่านั้น ตามความต้องการของตลาดอย่างไม่ขาดสาย ส่วนจะเปลี่ยนมือเร็วมากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความนิยมของรถรุ่นนั้นๆ ครับ
ขึ้นชื่อว่าเป็นรถมือ 2 (ว่าแต่มือ 2 จริงเปล่า?) นั้นมันก็ต้องผ่านการใช้งานอยู่แล้วส่วนจะโทรมมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับที่อายุของรถ, การขับขี่และการดูแลรักษาของเจ้าของเดิมครับ แต่ประเด็นแรกนั้นไม่เท่าไหร่ครับ เพราะถึงจะอายุเยอะแต่ว่าถ้าเจ้าของเก่าดูแลดีๆ สภาพสวยๆ ก็ยังมีให้เห็นกันอยู่ไม่ใช่น้อยเลยล่ะครับ ว่าแต่เราจะรู้ได้อย่างไรว่ารถคันที่เราหมายปองนั้น ยังจะคงสภาพตัวถังเดิมๆ ตั้งแต่ออกจากโรงงาน โดยไม่แปดเปื้อนซึ่งสีโป๊วหรือสนิม ซึ่งถูกปกคลุมด้วยสีใหม่?
ที่พอจะสังเกตได้ด้วยตาเปล่าก็คือ สภาพโดยรวมของสีเมื่อเทียบกับ อายุของตัวรถ เพราะถ้าเป็นรถที่มีอายุเยอะๆ ก็ต้องมีบ้างที่สีจะซีดไปตามกาลเวลา (ผ่านมากี่ตั้งร้อนกี่ฝนล่ะนั่น) แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็จะต้องสม่ำเสมอทั่วทั้งคันด้วยนะครับ ไม่ใช่ว่ามีฝากระโปรงหน้าเงาฉ่ำแบบรถใหม่ แต่ทั้งคันสีซีดหมดแล้ว อย่างนี้มันน่าเชื่อมั๊ยล่ะ? ซึ่งก็รวมไปถึงความผิดเพี้ยนของสีโดยรวมด้วยครับเพราะว่าถ้ามีชิ้นไหนหรือ
ชิ้นส่วนนั้นผ่านการทำสีมาแล้ว แถมช่าง ยังไม่เนียนอีกต่างหาก (ทำสีไปแล้วก็ยังเพี้ยน) ยกเว้นก็เสียแต่ว่า จะเป็นรถที่ใช้น้อย หรือได้รับการดูแลรักษาอย่างดี อันนี้ก็ไม่แน่ แต่ต้องดูให้ชัวร์นะครับว่าสีเดิมดูแลมาดี ไม่ใช่สาดสีมาใหม่นะครับ ตามมาด้วยการเช็ครหัสสีเดิมๆ ซึ่งจะระบุไว้ที่เพลทติดรถ แต่อันนี้ก็ต้องทราบด้วยนะครับว่ารหัสนี้สีอะไร โทนสีแบบไหนด้วยนะครับ
ตามมาด้วยการเช็คที่ระหว่างบริเวณขอบประตู (ด้านใน) กับสีบานประตู ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็จะเป็นช่วงบริเวณฐานเสา B-Pillar กับที่ประตูบานหลัง ที่หากเป็นสีเดิมๆ โทนสีนั้นจะต้องใกล้เคียงกัน หรือไม่ก็อนุโลมให้สีประตูซีดหรือด้านกว่าเล็กน้อย เนื่องจากต้องเจอแสงแดดและความร้อนบ่อยกว่าที่ด้านในนั่นเองครับ แต่ถ้าเจอแบบที่สีบานประตูสดฉ่ำหรือเข้มกว่าด้านในล่ะก็ น่าสงสัยครับ ต่อด้วยละอองสี ที่หากเป็นสีเดิมๆ จากโรงงานนั้น จะไม่มีละอองสีเรี่ยราดแต่อย่างใดครับ แต่ถ้าหากว่าเพิ่งถูกสาดสีมาล่ะก็ มีให้เห็นแน่นอน โดยเฉพาะกับบริเวณที่ไม่ได้ถูกปลกคลุมด้วยสี อย่างที่พื้นผิวโครเมี่ยม, กระจก, โคมไฟ, ขอบยาง-พลาสติค, ซุ้มล้อหรือใต้ท้องรถครับ
และสุดท้ายที่ต้องเช็คก็คือ ห้องเครื่อง ที่หากไม่มีการชนมาล่ะก็ บริเวณที่ดังกล่าวไม่มีใครอยากสาดสีทับแน่นอน เพราะมันยุ่งยากกว่าบริเวณอื่นๆ นั่นเอง เพียงแค่ยกฝากระโปรงขึ้น แล้วสาดสายตาให้ทั่ว ไล่ตั้งแต่
คานหน้า, ซุ้มล้อ, สันแก้มด้านข้างและผนังห้องเครื่อง ที่จะต้องไม่มีการผิดเพี้ยนเด็ดขาด และก็ไม่ต้องตกใจที่หากว่าสีบริเวณห้องเครื่องจะซีดกว่าด้านนอก เพราะว่าต้องเจอะเจอกับความร้อนจากเครื่องยนต์ และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดเวลาที่เครื่องยนต์ทำงานนั่นเองล่ะครับและอีกจุดที่พอจะสังเกตได้ก็คือ บรรดาสติ๊กเกอร์ต่างๆ ที่ภายในห้องเครื่อง (คานหน้าหรือใต้ฝากระโปรง) ที่หากว่าผ่านการทำสีใหม่มาแล้วนั้น มักจะไม่ค่อยแปะให้เหมือนเดิมซักเท่าไหร่
แต่เท่าที่เคยเจอมานั้น ถ้าเป็นรถเต็นท์มักไม่ค่อยรอดที่จะถูกจับสาดสีใหม่ เพื่อจะกลบเกลื่อนริ้วรอย (ที่ยังไงก็ต้องมี) ที่ว่ากันตั้งแต่ร่องรอยเล็กๆ น้อยๆ ประเภทรอยครูดนู่นถากนี่อะไรประมาณนั้น ไปจนถึงบุบที่ต้องเคาะ, โป๊วแล้วทำสี หรือหนักสุดก็ตัดชิ้นเปลี่ยน ที่ยังไงก็ต้องสาดสีใหม่อยู่ดี ในกรณีที่เก็บสี เนื่องจากว่าสีเดิมเต็มไปด้วยรอยขีดข่วนก็ยังพอได้อยู่ แต่ถ้าประเภทที่ชนจนต้องเคาะหรือเปลี่ยนชิ้นนี่คงไม่ไหวอ่ะครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น