ความผิดปกติที่สำคัญในเบาหวานคือการมี “น้ำตาลในเลือดสูง” และนำไปสู่ภาวะ “น้ำตาลเป็นพิษ” ที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆตามมาอีกหลายอย่าง ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกิดจากการที่ร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลิน หรือมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน (คือมีอินซูลินแต่ไม่สามารถออกฤทธิ์ได้เต็มที่) หรือมีทั้งสองภาวะร่วมกัน
อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งสร้างที่ตับอ่อนของร่างกาย ทำหน้าที่ในการสังเคราะห์โปรทีนและไขมัน และเก็บสะสมพลังงานสำรองของร่างกายในรูปของกลัยโคเจน อินซูลินจะนำกลูโคสซึ่งเป็นพลังงานสำคัญของร่างกายเข้าสู่เซลล์ของอวัยวะต่างๆหลายแห่งเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานต่อไป เมื่ออินซูลินไม่เพียงพอหรือออกฤทธิ์ได้ไม่ดี กลูโคสก็ถูกนำพาเข้าสู่เซลล์ได้ไม่หมด จะมีกลูโคสไหลเวียนในกระแสเลือดมากขึ้น และเกิดการคั่งของกลูโคสทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง นอกจากนี้ เซลล์ซึ่งขาดกลูโคสที่จะนำไปใช้เป็นพลังงานจะส่งสัญญาณไปที่ตับให้เร่งสร้างกลูโคสจากสารที่สำรองไว้และปล่อยเข้าสู่กระแสเลือด น้ำตาลในเลือดก็ยิ่งสูงมากขึ้น
การขาดอินซูลิน หรือภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นตัวสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเกินปกติและล้นออกมาในปัสสาวะให้ตรวจพบได้ว่า โรคหรือภาวะผิดปกติใดที่ทำให้อินซูลินหลั่งได้น้อยลงหรือเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินก็ทำให้เกิดเบาหวานได้ทั้งนั้น อินซูลินจึงเป็นตัวสำคัญที่ทำให้การเผาผลาญอาหารอยู่ในภาวะที่สมดุล และรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ค่าน้ำตาลในเลือดจึงเป็นเสมือนดัชนีที่บ่งชี้ถึงความสมดุลระหว่างปัจจัยที่เพิ่มน้ำตาลในเลือดและปัจจัยที่ใช้น้ำตาลในเลือด โดยมีอินซูลินเป็นตัวสำคัญของกระบวนการดังกล่าว
แหล่งที่มาของน้ำตาลในเลือดคือ
จากการรับประทาน โดยเฉพาะอาหารกลุ่มคาร์โบฮัยเดรท เช่น ขนมหวาน, ผลไม้, แป้ง, เป็นต้น จะถูกย่อยเป็นกลูโคสแล้วดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด
ตับปล่อยกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือด ตับเป็นโรงงานสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างกลูโคสในร่างกาย แล้วปล่อยเข้าสู่กระแสเลือดเพื่อนำไปใช้เป็นพลังงานต่อไป
ดังนั้น น้ำตาลในเลือดจึงมาจาก 2 ทาง คือจากภายนอกที่รับประทานเข้าไป และจากภายในร่างกายที่ตับเป็นผู้สร้างขึ้นมา หากพิจารณาจากแหล่งที่มาของน้ำตาลในเลือด การรักษาเบาหวานจึงควรมีหลักการคือ
การรักษาด้วยการควบคุมอาหาร ซึ่งเป็นหลักสำคัญของการรักษาเบาหวานทุกประเภท นอกจากนี้ อาจใช้ยาบางประเภทที่สามารถลดการดูดซึมกลูโคสจากทางเดินอาหาร
ลดการปล่อยน้ำตาลหรือกลูโคสจากตับ ถ้าอินซูลินออกฤทธิ์ได้ดี ตับจะปล่อยกลูโคสเข้าสู่กระแสเลือดน้อยลง และควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีขึ้น การรักษาที่เกี่ยวข้องกับอินซูลินคือ
การออกกำลังกาย สามารถเพิ่มการใช้น้ำตาลในเลือด และทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น
ยารับประทานกลุ่มที่สามารถกระตุ้นการหลั่งอินซูลิน (กลุ่มซัลโฟนิลย์ยูเรีย – sulphonylurea และกลุ่มไกลไนด์ - glinides)
ยารับประทานที่ทำให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น และปล่อยน้ำตาลจากตับน้อยลง (เมทฟอร์มิน - metformin)
ยารับประทานที่เพิ่มความไวของอินซูลินที่ตับ เนื้อเยื่อไขมัน และที่กล้ามเนื้อ ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน (กลุ่มไธอะโซลิดีนไดโอน – thiazolidinedione)
ยาฉีดอินซูลินโดยตรง เมื่ออินซูลินในร่างกายน้อยมากเกินไป หรือไม่สามารถทำงานได้ผลแล้ว จึงต้องอาศัยอินซูลินจากภายนอกมาช่วย
ในเบาหวาน น้ำตาลในเลือดที่สูงเกินไปจะทำให้เกิดพิษต่อร่างกาย การหลีกเลี่ยงต่อความเลวร้าย คือการคลี่คลายให้น้ำตาลในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ศูนย์เบาหวาน ไทรอยด์และต่อมไร้ท่อ
โรงพยาบาลเวชธานี www.vejthani.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น