27 ก.ค. 2553

หยุดภัยร้าย โรคกระดูกสันหลัง !!



 
พบได้บ่อยครั้งสำหรับอาการปวดหลัง ปวดไหล่รวมถึงอาการปวดคอที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่ในอาการปวดเหล่านี้ที่ใครหลายคนอาจกำลังเผชิญ ลักษณะการปวดอย่างไรที่ก้าวสู่ความรุนแรงเป็นปัจจัยเสี่ยงนำสู่ โรคกระดูกสันหลัง ภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท ที่ต้องพึงระวัง !!

นายแพทย์วีระพันธ์ ควรทรงธรรม ผู้อำนวยการศูนย์รักษาโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ศัลยแพทย์ระบบประสาท ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ให้ความรู้กล่าวถึงการเกิดขึ้นของโรคกระดูกสันหลังว่า โรคกระดูกสันหลังที่มักพบบ่อยจะเป็นส่วนที่เคลื่อนไหวมาก อย่างเช่น ส่วนคอและเอว เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเคลื่อนไหวมากก็ย่อมมีความเสื่อมเกิดขึ้น ดังนั้นจะเห็นได้ว่าเมื่อเวลาที่พูดถึงโรคกระดูกสันหลังก็มักจะพูดถึงเอวกับคอ

“กระดูกสันหลังตลอด แนวมีเส้นประสาทมีไขสันหลังอยู่ตรงกลางแล้วก็มีเส้นประสาทแตกออกจากไขสันหลังเป็นคู่ ๆ ซ้ายขวา เส้นที่แตกออกจาก บริเวณคอไปที่แขนทั้งสองข้าง ส่วนเอวจะไปที่ขาทั้งสองข้างเส้นประสาทและไขสันหลังพวกนี้อยู่ในโพรงกระดูกสันหลัง เพราะฉะนั้นในปัญหาก็คือบริเวณ รอบกระดูกสันหลังซึ่งเป็นกล้ามเนื้อ หากนั่งผิดท่า ยกของหนักเกินไปก็จะเกิดปัญหากับกล้ามเนื้อ ปวดหลังหรือต้นคอ ปวดสะบักได้ถ้าหยุดพักการใช้กล้ามเนื้อ รับประทานยา ประคบร้อนรักษาอาการประมาณ 2 สัปดาห์ก็จะหายไปได้”

แต่ในอาการรุนแรงจะเริ่มเป็นที่ตัวกระดูกสันหลัง คือส่วนข้อต่อหรือส่วนหมอนรองกระดูกที่เชื่อมระหว่างกระดูก หากยกสิ่งของหนักหมอนรองกระดูกก็จะสึกลงซึ่งบริเวณนั้นจะมีเส้นประสาทอยู่มาก เมื่อโดนกดทับไปยังเส้นไหนก็จะปวดไปตรงนั้น

อย่างที่มักพูดกันว่าปวดหลังร้าวลงขาหรือปวดคอร้าวลงแขนและเมื่อไหร่ที่ร้าวที่ขาหรือแขนก็มักจะเกี่ยวกับเส้นประสาท ไม่ใช่กล้ามเนื้อธรรมดา ซึ่งลักษณะอาการปวดเช่นนี้แนะนำพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัย เพราะหากเป็นโรคกระดูกสันหลังจะมีความรุนแรงต่างกันไป ซึ่งโรคที่พบบ่อยคือ หมอนรองกระดูกปลิ้นแล้วก็ฉีกกดทับเส้นประสาท อีกอย่างหนึ่งคือ กระดูกสันหลังเสื่อม

“ในความเสื่อมจากที่กล่าวมีได้หลายรูปแบบ หากพูดง่าย ๆ ก็คือ ถ้าเมื่อไหร่เสื่อมก็จะมีอาการปวดตามมาและเวลาที่กระดูกเสื่อมก็จะมีหินปูนเกาะเส้นเอ็นยึดระหว่างกระดูกจะหนาตัวขึ้นเมื่อกดโดนเส้นประสาทก็จะมีอาการร้าวลงขาหรือแขน พวกนี้จะค่อยเป็นค่อยไปพบในคนอายุมากขึ้น ส่วนหมอนรองกระดูกปลิ้นฉีกพบได้ทุกเพศทุกวัย ความรุนแรงของโรคก็มักจะเกิดเร็วและรุนแรงกว่าซึ่งทั้งหมดนี้เรียกรวมกันคือ โรคกระดูกสันหลัง”

จากความเจ็บป่วยในโรคดังกล่าวที่ผ่านมาศูนย์รักษาโรคกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ได้นำ การรักษาผ่าตัดส่องกล้อง รักษาอาการปวดหลังเนื่องจากภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาทส่วนหลังและคอด้วย เทคนิค Full-endoscopic Surgery พร้อมฝึกอบรมให้กับศัลยแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของไทยและต่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย

“การรักษาส่วนใหญ่แบ่งเป็นรักษาโดยไม่ผ่าตัดและผ่าตัด ในกรณีไม่ผ่าตัดจะทานยา กายภาพบำบัด ฯลฯ ซึ่งจากสถิติของโรคกระดูกสันหลังส่วนใหญ่รักษาด้วยวิธีดังกล่าว ส่วนที่เหลือประมาณ 10 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่ไม่หายเรื้อรังรุนแรงรบกวนต่อการดำเนินชีวิตก็อาศัยการผ่าตัดรักษา”

โรคที่สามารถรักษาผ่าตัดส่องกล้องด้วยเทคนิคดังกล่าว กล้องขนาด 8 มิลลิเมตร สามารถใช้รักษา โรคหมอนรองกระดูกเอวทุกชนิด เมื่อมีความชำนาญใช้ร่วมกับเครื่องกรอกระดูกใน โรคกระดูกงอกทับเส้นประสาทหรือโพรงกระดูกสันหลังเอวตีบแคบ ได้ ส่วนอีกชนิดเป็นกล้องขนาด 6 มิลลิเมตรใช้รักษา โรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท (ปวดคอไปถึงแขน) เป็นอีกก้าวของการรักษาหลังจากได้ผลดีในการรักษาโรคหมอนรองกระดูกเอวทุกชนิดและโรคโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ ช่วยให้ผู้ป่วยบาดเจ็บน้อยและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

“โรคเหล่านี้พบบ่อยไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ยังขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตนเองไม่ว่าจะเป็นการยกของหนักเกินน้ำหนัก ใส่ส้นสูงมากเกินไป จนต้องแอ่นหลังและพอแอ่นหลังน้ำหนักแทนที่จะลงตรงกลางก็ไปลงข้างหลังคือข้อต่อ พอรับน้ำหนักเยอะขึ้นกระดูก ก็เสื่อม ฯลฯ โรคดังกล่าวจะค่อยเป็นค่อยไป การผ่าตัดส่อง กล้องโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเครื่องมือนี้ ร่วมมือกับแพทย์เยอรมัน แต่อย่างไรแล้วผู้ป่วย ที่กระดูกเลื่อน กระดูก เคลื่อนดามเหล็ก การรักษาผ่านกล้องยังคงเป็นข้อจำกัด”

จากที่กล่าว การรักษามีทั้งผ่าตัดและไม่ผ่าตัด แต่อย่างไรก็ตามการรู้หลักปฏิบัติดูแลตนเอง สามารถช่วยหลีกไกลจากโรคเหล่านี้ได้ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญให้ความรู้ฝากคำแนะนำอีกว่า สิ่งที่ไม่ควรละเลยปฏิบัติคือควรให้กระดูกสันหลังรับแรงน้อย อย่างการก้มเก็บของต้องเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ยกสิ่งของหนัก เกินไป อีกทั้งควรทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงเพราะอย่างไรแล้วไม่สามารถที่จะทำให้หมอนรองกระดูกใหญ่ขึ้นได้

แต่สามารถทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงได้ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ซึ่งกล้ามเนื้อที่ควรเพิ่มความแข็งแรง คือ กล้ามเนื้อบริเวณหลังและกล้ามเนื้อท้อง เพราะจะช่วย อุ้มกระดูกสันหลังซึ่งถ้าทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง น้ำหนักที่ลงมาที่กล้ามเนื้อจะช่วยรับไว้เหลือที่ผ่านลงสู่กระดูกสันหลังก็จะน้อยลง

ขณะที่การบริโภคอาหารไม่ควรมองข้ามเช่นเดียวกันควรเลือกบริโภคอาหารที่มีคุณค่า ทางโภชนาการ ทานอาหารที่มีแคลเซียมซึ่งก็จะช่วยให้กระดูกมีความแข็งแรงชะลอความเสื่อมให้กับกระดูก ไกลห่างจากความเจ็บ

ไม่มีความคิดเห็น: