27 ก.ค. 2553

ถ่ายเป็นเลือด…อย่านิ่งนอนใจ


ถ่ายเป็นเลือด…อย่านิ่งนอนใจ รีบหาสาเหตุก่อนจะรักษายากขึ้น

เคยไหมที่อยู่ดีๆก็ถ่ายอุจจาระเป็นเลือด?

หลายคนอาจยังคงนิ่งนอนใจอยู่เพราะคิดว่าบางครั้งที่ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นเลือดนั้น เป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักนึกว่าตนเองเป็นโรคริดสีดวงทวาร แต่โดยแท้จริงแล้วมีสาเหตุได้หลายประการ ทั้งแผลขอบทวารหนัก ฝีบริเวณทวารหนัก หรือโรคของเส้นเลือดในเยื่อบุผนังลำไส้แตก แต่ที่น่ากลัวที่สุดคือ...มะเร็ง!!!...อุจจาระเป็นเลือดหรือมีเลือดผสมอยู่ในอุจจาระ จะเป็นแบบไหนก็ล้วนแต่น่าตกใจทั้งนั้น เพราะนั่นย่อมแสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายของเราแล้ว

สาเหตุของการถ่ายอุจจาระออกมาเป็นเลือด…มีด้วยกันหลายสาเหตุแล้วแต่พฤติกรรมในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นเวลาหรือไม่ ซึ่งคนส่วนมากที่มีสุขภาพดีมักจะได้รับการฝึกหัดให้ถ่ายอุจจาระเป็นประจำทุกเช้าจนเป็นนิสัย สำหรับหลายๆคนที่เคยมีอาการถ่ายเป็นเลือดเคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่า เวลาเข้าไปถ่ายอุจจาระในห้องน้ำมักจะมีพฤติกรรมในเรื่องนั่งแช่นานๆ หรือชอบนั่งอ่านหนังสือไปด้วย ท้องผูกเป็นประจำหรือเปล่า ดื่มน้ำน้อยและไม่ค่อยกินผักสด ชอบกินแต่เนื้อสัตว์ เครียดเป็นประจำและนอนดึก ทำให้พักผ่อนได้ไม่เพียงพอ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นสาเหตุให้มีอาการดังกล่าวได้ทั้งนั้น

แล้วอย่างนี้จะมีวิธีสังเกตได้อย่างไรบ้างน๊ะ...

ลองสังเกตดูว่าถ้าหากมีอาการคล้ายๆ อย่างนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแผลที่ทวารหนักมากกว่า ลักษณะของเลือดที่ออก อาจพอบอกได้ว่าเลือดออกจากสาเหตุอะไร ถ้าเป็นเลือดสดๆ ออกตามหลังการถ่ายอุจจาระ หรือมีเลือดออกแต่ไม่ปนกับอุจจาระ มักมีสาเหตุที่บริเวณทวารหนักหรือลำไส้ใหญ่ส่วนปลายมากกว่าลำไส้ด้านใน เช่น ริดสีดวงทวารหนัก ถ้าเลือดปนอยู่ในก้อนอุจจาระน่าจะเกิดจากตำแหน่งที่อยู่สูงขึ้นไป เนื่องมาจากทำให้ลำไส้มีเวลามากพอที่จะผสมเลือดกับอุจจาระเข้าด้วยกัน เลือดที่ออกจากแผลกระเพาะอาหาร มักมีสีดำและเหนียว แต่ถ้ามีมูกปนด้วย แสดงว่ามีปัญหาที่เยื่อบุลำไส้ใหญ่ เช่น ลำไส้อักเสบ หรือมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น

สำหรับวิธีป้องกันอาการถ่ายอุจจาระเป็นเลือดนั้น...ง่ายนิดเดียว...

กินอาหารที่มีกากใยมากๆ...หนึ่งในวิธีป้องกันการท้องผูกที่ดีวิธีหนึ่ง โดยการกินผัก ผลไม้ต่างๆ เช่น กล้วย มะละกอ ส้ม และที่สำคัญดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว หลีกเลี่ยงอาหารที่ระคายเคืองทางเดินอาหารเช่น อาหารรสจัด ชา กาแฟ เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ อีกทั้งหากทำไม่ได้ด้วยเหตุผลใดก็ตาม จำเป็นต้องกินยาถ่ายอย่างอ่อนๆหรือกินสารเสริมที่ทำให้ถ่ายอุจจาระง่ายขึ้น เช่น เม็ดแมงลัก เมล็ดซีเลียม (psyllium)

เวลาปวดอุจจาระควรจะถ่ายทันที...ไม่ควรจะอั้นไว้นานๆ เพราะจะทำให้ลำไส้ใหญ่มีเวลาดูดซึมน้ำกลับเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เหลืออุจจาระที่ขาดน้ำ จนเกิดอาการแข็งตัว ถ่ายยาก และที่สำคัญควรฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา ไม่เบ่งมากขณะขับถ่าย เนื่องจากการเบ่งมากจะทำให้เลือดคั่งบริเวณบริเวณทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อปากทวารหนักบวมและเป็นแผลได้

ควรออกกำลังกายเป็นประจำ...ทำโน่นทำนี่ไปเรื่อยๆไม่อยู่นิ่ง ไม่ควรนั่งหรือยืนนานๆ เพราะจะทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดดำที่ช่องทวารหนักเพิ่มสูงขึ้น เอื้อต่อการเกิดริดสีดวงทวาร การออกกำลังกายยังสามารถช่วยป้องกันภาวะท้องผูกได้ด้วย เพราะจะทำให้มีกล้ามเนื้อแข็งแรง มีแรงเบ่งที่ดี

หลังถ่ายอุจจาระแล้วควรล้างก้นด้วยน้ำ...แล้วใช้กระดาษหรือผ้าซับให้แห้ง ไม่ควรเช็ดก้น เพราะการเช็ดจะทำให้เกิดการถลอกของเนื้อเยื่อทวารหนักไม่มากก็น้อย รอยถลอกเป็นทางเข้าของเชื้อโรคที่มีอยู่มากมายมหาศาลในอุจจาระ ทำให้เกิดติดเชื้ออักเสบได้

เพื่อให้รู้แน่ว่าอาการถ่ายเป็นเลือด เป็นเรื่องเล็กใหญ่แค่ไหน จำเป็นต้องหาสาเหตุให้แน่ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดๆ เป็นๆ หายๆ บ่อยครั้ง หรือพบว่าถ่ายเป็นเลือดสดเพียงครั้งเดียวในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี อย่างไรก็ตาม การหาสาเหตุของเลือดออกทางทวารหนักหรือการถ่ายอุจจาระเป็นเลือด สิ่งที่ดีที่สุดคือการตรวจให้แน่ใจว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม การหาสาเหตุของเลือดออกทางทวารหนักหรือการถ่ายเป็นเลือด ดีที่สุดคือ ไปให้แพทย์ตรวจ วิธีการตรวจอันดับแรกคือ ใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักเพื่อดูลักษณะของอุจจาระ ตรวจหาก้อนหรือตรวจหาความผิดปกติอย่างอื่นภายในทวารหนัก อาจมีการตรวจพิเศษอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น การส่องกล้องทางทวารหนัก ซึ่งกล้องก็จะมีขนาดต่างๆ กัน ถ้าเป็นกล้องขนาดเล็ก ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องเตรียมตัวอะไรสามารถเข้ารับการตรวจได้เลย

แต่ถ้าหากแพทย์สงสัยว่าต้นตอของสาเหตุจะอยู่ในตำแหน่งที่สูงขึ้นไปในลำไส้ใหญ่ อาจจำเป็นต้องตรวจด้วยกล้องที่ยาวขึ้นที่เรียกว่า “ซิกมอยด์โดสโคป” (Sigmoidoscope) หรือ “โคโลโนสโคป” (Colonoscope) ซึ่งวิธีนี้ต้องเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจล่วงหน้าโดยการทำให้ลำไส้ใหญ่สะอาดเสียก่อน นอกจากนี้ยังมีการตรวจพิเศษอื่นๆ เช่น การเอกซเรย์สวนแป้งทางทวารหนัก (bariumenema) หรือเอกซเรย์ลำไส้ใหญ่ด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ความเร็วสูง (CT-Colonography) ซึ่งทำให้ได้รูปลำไส้ใหญ่ โดยไม่ต้องส่องกล้องและไม่ต้องดมยาหรือฉีดสีใดๆ

ดังนั้นเมื่อมีอาการถ่ายเป็นเลือดก็ไม่ควรนิ่งนอนใจอีกต่อไป เพราะการปล่อยไว้จะทรมานมากกว่าและอาจรักษายากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพของตัวเรามากขึ้นด้วย อย่างไรก็ตามการปฏิบัติตนให้มีสุขภาวะที่ดี อย่างที่ สสส. ได้แนะนำไว้เสมอนั้น นอกจากจะทำให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงแล้ว สุขภาพใจก็ยังแข็งแรงตามไปด้วย



ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ไม่มีความคิดเห็น: