3 ต.ค. 2553
ความรู้เรื่องทะเล
เมื่อมองท้องทะเลจะเห็นว่าน้ำทะเลมีสีต่างๆ กัน เช่น สีเขียว สีน้ำเงิน ซึ่งบางคนบอกว่าเพราะทะเลมีความลึกต่างกัน หรือเกี่ยวกับสัตว์ทะเลบางชนิด ซึ่งสาเหตุที่เรามองเห็นท้องทะเลเป็นสีต่างๆ นั้นเกิดจากสาเหตุใด
รศ.ดร.สุจินต์ ดีแท้ ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า ขณะที่เรานั่งอยู่ริมฝั่ง จะมองเห็นน้ำทะเลเป็นอีกสีหนึ่ง แต่เมื่อเรานั่งเรือออกทะเล น้ำทะเลก็จะกลายเป็นอีกสีหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเราไปเกาะแก่งต่างๆ เราก็จะเห็นว่า ถ้าเกาะนั้นน้ำลึกก็จะมองเห็นน้ำเป็นสีน้ำเงิน พอเข้าใกล้เกาะน้ำทะเลก็จะใส สาเหตุหลักที่ทำให้เป็นเช่นนี้ คือแสงอาทิตย์ ในขณะที่ดวงอาทิตย์ส่องแสงมายังพื้นโลกจะผ่านกลุ่มเมฆต่างๆ และส่องลงมากระทบกับผิวน้ำ แสงอาทิตย์จะผ่านลงไปในน้ำทะเลส่วนหนึ่ง และแสงส่วนหนึ่งก็จะสะท้อนกลับขึ้นไปในอากาศ ทำให้เรามองเห็นน้ำทะเลเป็นสีต่างๆ นอกจากนี้ในทะเลยังมีสิ่งมีชีวิตต่างๆ มากมาย ถ้าเรามองในบริเวณที่น้ำตื้นจะเห็นน้ำทะเลเป็นสีเขียวเพราะเป็นการสะท้อนจากแพลงตอน ส่วนที่เรามองเห็นน้ำทะเลเป็นสีดำเข้มนั้นเพราะว่าทะเลบริเวณนั้นเป็นทะเลน้ำลึก
เมื่อพูดถึงทะเล บ่อยครั้งที่เราได้ยินข่าวคนจมน้ำที่เกิดจากแรงดูดของน้ำใต้ท้องทะเล ซึ่งมีความเชื่อว่ามีผีมาดึงให้คนจมลงไป เรื่องนี้ รศ.ดร.สุจินต์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ความจริงทะเลทั่วโลกจะมีกระแสน้ำ กระแสน้ำแรก คือ longshore current เป็นกระแสน้ำที่ไหลขนานกับชายฝั่ง ช่วยพัดพาแร่ และทรายต่างๆ กระแสน้ำที่ 2 เรียกว่า rip current โดยมีทิศทางไหลตั้งฉากกับชายฝั่งออกสู่ทะเล เป็นร่องน้ำที่เกิดตามธรรมชาติ ซึ่งจุดนี้เองที่เป็นจุดอันตราย ถ้าเราว่ายน้ำอยู่ตรงบริเวณ rip current กระแสน้ำก็จะพัดตัวเราสู่ทะเล ถ้าเราว่ายน้ำไม่เก่ง ร่างกายไม่แข็งแรงหรือเมาก็อาจจมน้ำได้ง่าย
TIPS
แม่น้ำทุกสายจะไหลไปสู่ทะเล นำเอาสารละลาย เกลือต่างๆ ลงไปสะสมในน้ำทะเลตลอดเวลา ปริมาณเกลือในน้ำทะเลจึงเพิ่มมากขึ้น การระเหยทำให้ความเข้มข้นของเกลือมากขึ้น เกลือบางชนิดเกิดจากการสกัดของสัตว์ทะเล และมีบางส่วนถูกอนุภาคดินเหนียวในทะเลดูดซับเอาไว้ หินอัคนีเมื่อสลายตัวเป็นสารละลายจะมีปริมาณของธาตุโซเดียมและโพแทสเซียมเพิ่มขึ้น สิ่งต่างๆ ทีเกิดขึ้นนี้ทำให้น้ำทะเลมีความเข้มข้นแตกต่างกันไป นอกจากนี้มีการคาดคะเนว่ามีแร่ทองคำอยู่ในน้ำทะเลถึง 9 ล้านตัน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : วิทยาศาสตร์รอบตัว(จาก สสวท.)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น