9 ต.ค. 2553

"เอ็นอักเสบที่ข้อมือ" โรคที่เกิดง่าย ปวดทรมานมาก

หลายคนมีอาการปวดที่บริเวณข้อมือ แต่ก็ไม่สามารถระบุอาการที่แน่ชัด และไม่รู้ว่าสาเหตุคืออะไร? จนกว่าจะได้พบแพทย์ จึงจะได้รับคำตอบและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์

นพ.ทวีพงษ์ จันทรเสโน ผู้เชี่ยวชาญศัลยศาสตร์ ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลเวชธานี ระบุถึงอาการเอ็นอักเสบที่ข้อมือว่า เกิดจากเส้นเอ็นบริเวณข้อมือ 2 เส้น ซึ่งอยู่คู่กันบริเวณข้อมือ คือ Abductor Pollicis Longus (APL) ทำหน้าที่ในการกางนิ้วหัวแม่มือออกจากฝ่ามือ และExtensor Pollicis Brevis (EPB) ทำหน้าที่เหยียดกระดูกนิ้วมือท่อนต้นของนิ้วหัวแม่มือ โดยภายในปลอกหุ้มเอ็นจะมีเยื่อหุ้มเอ็นที่เรียกว่า Tenosynovium อาการอักเสบที่เกิดขึ้นบริเวณ Tenosynovium เรียกว่า Tenosynovitis ทำให้เกิดการตีบ หรือหดตัวในการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายใน

เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของมือ และนิ้วโป้งบ่อยครั้ง เช่น การจับ บีบ หรือคั้น จะทำให้เกิดอาการอักเสบ และบวมได้ ซึ่งทำให้การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็นไม่ลื่นไหลตามปกติ โดยส่วนใหญ่เกิดจากความเสื่อมสภาพจากอายุที่มากขึ้นและการใช้งาน นอกจากนั้นโรคข้ออักเสบเรื้อรัง เช่น โรครูมาตอยด์ก็เป็นสาเหตุการอักเสบของเยื่อหุ้มเอ็น ส่วนพังผืดที่เกิดจากการผ่าตัดมีผลทำให้การเคลื่อนไหวของเอ็นภายในปลอกหุ้มเอ็นเป็นไปอย่างลำบาก

อาการเป็นอย่างไร?

ในเบื้องต้น จะมีอาการช้ำระบมบริเวณนิ้วโป้งด้านปลายแขนใกล้กับข้อมือ ถ้าไม่ได้รับการรักษา อาการเจ็บปวดจะเพิ่มขึ้น และขยายไปยังบริเวณปลายแขนช่วงข้อมือ และนิ้วโป้ง เส้นเอ็นทั้ง 2 เส้นจะเกิดการเสียดสีขณะที่เคลื่อนที่ผ่านปลอกหุ้มเอ็น หากมีอาการรุนแรงมากจะเกิดการบวมบริเวณปลอกหุ้มเอ็นใกล้ๆ กับข้อมือ และทำให้การหยิบจับด้วยนิ้วโป้ง และมือมีอาการเจ็บปวดมากขึ้น

หากมีอาการเอ็นอักเสบที่ข้อมือจะได้รับการรักษาอย่างไร?

หากมีอาการเจ็บปวดตามตามอาการข้างต้น คุณควรจะหยุด!…หรือเปลี่ยนแปลงการทำกิจกรรมที่เป็นสาเหตุของการเกิดอาการดังกล่าว และควรหยุดพักการใช้งานเมื่อใช้งานบริเวณมือ และนิ้วโป้งซ้ำๆ บ่อยๆ นอกจากนั้น ควรหลีกเลี่ยงการเคลื่อนไหวของมือ เช่น การหยิบของหนัก การเขียน หรือการบิดหมุนข้อมือ โดยแพทย์อาจแนะนำให้ใส่เฝือกอ่อนบริเวณแขน และนิ้วโป้ง เพื่อให้ข้อมือ และกระดูกข้อต่อบริเวณใต้นิ้วโป้งอยู่กับที่ ลดการใช้งานของเส้นเอ็น และให้แต่ละส่วนได้รับการรักษา นอกจากนั้น การรับประทานยาแก้อักเสบจะช่วยลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็น และบรรเทาอาการเจ็บปวดได้
หากใช้วิธีการรักษาข้างต้นแล้วไม่เห็นผล แพทย์จะแนะนำให้ฉีดยาคอทิโซนที่ปลอกหุ้มเอ็นที่มีอาการบวม ซึ่งจะช่วยลดอาการบวมของเยื่อหุ้มเอ็น ช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ชั่วคราว และควบคุมการอักเสบในขั้นต้นของอาการได้ ซึ่งแพทย์อาจแนะนำเพิ่มเติมให้ทำกายภาพ เพื่อช่วยลด หรือขจัดสาเหตุอาการเส้นเอ็นบริเวณนิ้วโป้งอักเสบ และแนะนำวิธีการใช้ร่างกาย และข้อมือในการทำงาน การออกกำลังกาย และวิธีป้องกันการเกิดอาการในอนาคต

การผ่าตัดเอ็นอักเสบเป็นอย่างไร?

หากวิธีการรักษาที่ผ่านมาไม่ได้ผลอีก แพทย์จะวินิจฉัยให้เข้ารับการผ่าตัด เพื่อเพิ่มพื้นที่ไม่ให้เอ็นเสียดสีกันภายในปลอกหุ้มเอ็น คนไข้ที่ได้รับการผ่าตัดจะไม่ได้พักฟื้นที่โรงพยาบาล เนื่องจากแพทย์จะฉีดยาชาบริเวณผิวหนัง ศัลยแพทย์จะทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรคผิวหนังบริเวณปลายแขน และข้อมือ ในขั้นแรกของการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะทำการเปิดขยายปลอกหุ้มเอ็นใต้นิ้วโป้งบริเวณข้อมือ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับเส้นเอ็นมากขึ้น เมื่อแผลบริเวณปลอกหุ้มเอ็นสมานกัน เนื้อเยื่อจะปิดหุ้มปลอกหุ้มเอ็นบริเวณที่เปิดไว้

จะดูแลแผลหลังการผ่าตัดอย่างไร?

หลังการผ่าตัด คนไข้จะต้องดูแลแผลผ่าตัดอย่างระมัดระวัง สามารถขยับนิ้วมือได้ทันที แต่ไม่ให้แผลผ่าตัดโดนน้ำ แพทย์จะนัดมาตัดไหมหลังการผ่าตัด 10-14 วัน นอกจากนั้น นักกายภาพจะแนะนำวิธีการบริหารข้อบริเวณมือ และนิ้วโป้งให้แข็งแรง วิธีการทำงานป้องกันการเกิดปัญหาของข้อมือและนิ้วโป้ง และวิธีการหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บในอนาคต
นพ.ทวีพงษ์ แนะนำทิ้งท้ายว่า หากคุณมีอาการที่สงสัยว่าจะเป็นเอ็นอักเสบที่ข้อมือ ทางที่ดีควรมาพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย และดูแลรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง เพื่อจะได้ไม่ต้องทนทรมานกับอาการเจ็บปวดข้อมือ…ที่คุณยังต้องพึ่งพาใช้งานไปอีกนาน




คลินิกกระดูกและข้อ โรงพยาบาลเวชธานี

ไม่มีความคิดเห็น: