ดวงตา 2 ข้างของเรา เริ่มมีการพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา เจริญพัฒนาเพิ่มขึ้นหลังคลอด และสมบูรณ์เมื่ออายุ 6-7 ปี หลังจากนั้นคนส่วนใหญ่จะมีดวงตาปกติจนอายุ 40 ปี จึงเริ่มมีการเสื่อมของดวงตาลงเรื่อย ๆ และเสื่อมมากเมื่ออายุ 60 ปีขึ้น ในแต่ละวัยปัญหาของดวงตาจึงแตกต่างกันตามช่วงอายุ การตรวจเช็คสุขภาพตา มีความจำเป็นแตกต่างกันตามช่วงอายุ ดังนี้
1. ช่วงแรกคลอดถึงอายุ 2 ปีเต็ม ถ้าบุตรหลานของท่านมีลักษณะต่อไปนี้ สมควรตรวจตา
- คลอดก่อนกำหนด
- ไม่สบตาแม่ ไม่จ้องสิ่งของ
- ตาเหล่เข้าหรือออก, ตากระตุกหรือสั่น
- มีประวัติพ่อหรือแม่เป็น “ตาขี้เกียจ” หรือสายตาสั้นมาก
- สังเกตเห็นแววตา มีสีขาววาว หรือขาวขุ่นสะท้อนให้เห็น
- น้ำตาคลอตาข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา
2. ช่วงอายุ 3-5 ปี วัยก่อนเข้าโรงเรียน
พบ 3% มี “ตาขี้เกียจ” ดังนั้นวัยนี้จึงมีความจำเป็นต้องตรวจตา, ตรวจสายตา เพื่อหาภาวะ “ตาขี้เกียจ” และแก้ไขให้หาย (ถ้าอายุมากกว่า 8-9 ปี ไม่สามารถแก้ไขได้)
3 . ช่วงวัยเรียนถึงวัยรุ่น ช่วงนี้เด็กส่วนมากตาเห็นดี และปกติ ในรายที่ผิดปกติควรตรวจตา
- ดูกระดานไม่ชัด ต้องหยีตา, ก้มหน้า เอียดหน้าจึงจะชัดขึ้น
- ปวดหัว ปวดตา เมื่ออ่านหนังสือ หรือใช้สายตามาก ๆ
- สงสัยตาบอดสี
- กลางคืนตามัวมาก ปรับตาในที่มืดไม่ค่อยได้
4. ช่วงวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน ไม่ค่อยมีปัญหา ยกเว้นในรายที่ใช้สายตามาก ๆ ควรตรวจสุขภาพตาเมื่อ
- สายตาสั้นเพิ่มขึ้นทุกปี
- มีหยากไย่ลอยไปมาเป็นครั้งคราว หรือมีแสงแวบ ๆ ในตา
- มีประวัติต้อหิน ในครอบครัวและญาติ
5. ช่วงอายุ 40 ปีขึ้นไป เริ่มมีการเสื่อมของดวงตา ควรเช็คสุขภาพตาทุก 1-2 ปี เพื่อ
- ตรวจวัดความดันลูกตา หาโรคต้อหิน
- ตรวจวัดสายตา ช่วงอ่านหนังสือ
- ตรวจสุขภาพลูกตา เพื่อหาโรคต้อกระจก ต้อหิน
- ในรายที่มีโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน, ความดันโลหิตสูง อาจมีการเปลี่ยนแปลงของจอประสาทตาจากโรคที่มีผลต่อการเห็น
- ยารักษาโรคเรื้อรังบางตัว อาจสะสมในตาและมีผลต่อตาได้ เช่น ยารักษาข้ออักเสบเรื้อรัง ยารักษาวัณโรค ยา Steroid ฯลฯ ถ้าท่านจำเป็นต้องใช้ยาระยะยาว ควรตรวจตาเป็นระยะ
ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพญาไท
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น