9 ต.ค. 2553
'การเดิน' ช่วยให้สมองเสื่อมช้าลง
ทุกคนรู้ว่าการเดินทำให้ร่างกายผู้สูงวัย ยืดหยุ่นขึ้น แต่มีกี่คนที่รู้ว่าการออกกำลังกายที่ไม่มีค่าใช้จ่ายนี้ ดีต่อสมองด้วย
งานวิจัยแสดงให้เห็นว่า การเดินกระตุ้นการเชื่อมโยงภายในวงจรสมอง ที่มีแนวโน้มเสื่อมถอยลงขณะที่ผมหงอกเพิ่มจำนวนแทนที่ผมสีอื่น
"รูปแบบการเชื่อมต่อของ เครือข่ายสมองของผู้สูงวัยจะเสื่อมลง ซึ่งไม่ช่วยสนับสนุนสิ่งที่เราทำ เช่น การขับรถ แต่เราพบว่าความสามารถของร่างกายที่จะนำออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เครือข่ายสมองประสานกันมากขึ้น" ดร.อาร์เธอร์เอฟ เครเมอร์ ผู้นำการวิจัยจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์สหรัฐฯ กล่าว
การศึกษาการเดินของเครเมอร์ที่ตีพิมพ์อยู่ในวาร สารฟรอนเทียร์อิน เอดจิ้ง นิวโรไซนส์ ติดตามผลผู้ใหญ่อายุ 60-80 ปี จำนวน 70 คน เป็นเวลา 1 ปี โดยมีอาสาสมัครหนุ่มสาวอายุ 20-30 ปี อีกกลุ่มเป็นกลุ่มควบคุมเพื่อใช้เปรียบเทียบในการประเมินพฤติกรรมการนั่งๆ นอนๆ ในอดีตของกลุ่มตัวอย่าง
เครมเมอร์เผยว่า กลุ่มที่ออกกำลังกายด้วยการเดิน มีพัฒนาการชัดเจนกว่า ไม่เพียงในด้านร่างกาย แต่จากการใช้อุปกรณ์เอฟเอ็มอาร์ไอสแกนสมองยังพบว่า กลุ่มนี้มีความจำดีขึ้น รวมถึงสมาธิ และกระบวนการคิดอีกหลายอย่าง
"ขณะที่ผู้สูงวัยในกลุ่มที่เดิน ออกกำลังกายมีความฟิตทางร่างกายมากขึ้น การประสานงานระหว่างสมองส่วนต่างๆ ดีขึ้นเช่นกัน และเกือบเทียบเท่าหนุ่มสาวอายุ 20 ปีเลยทีเดียว" เครเมอร์อธิบาย
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน แต่สามารถสังเกตเห็นได้หลังจากมีการออกกำลังกายด้วยการเดินนาน 12 เดือน และจากการวัดผลในช่วง 6 เดือนแรกไม่ปรากฏสัญญาณชัดเจนใดๆ
การค้นพบนี้ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้แก่ ดร.ลินน์ มิลลาร์ ผู้เชี่ยวชาญของอเมริกัน คอลเลจ ออฟ สปอร์ตส์ เมดิซิน และเป็นศาสตราจารย์สาขากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยแอนดริวส์ในมิชิแกนสหรัฐฯ เธอบอกว่าแม้การเดินดูเหมือนเป็นกิจกรรมเรียบง่าย แต่จริงๆ แล้วระหว่างนั้น สมองทำงานในการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆ
"ขณะเดินเรารวบรวมข้อมูลภาพ เสียง ตลอดจนถึงข้อมูลที่มาจากข้อต่อและกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งของเท้า แรงที่ใช้ และอื่นๆ เป็นความคิดแบบคนสมัยก่อน นั่นคือถ้าคุณไม่ใช้ คุณก็จะสูญเสียมันไป ดังนั้น เพื่อให้ได้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ เราจึงจำเป็นต้องใช้สิ่งนั้นซ้ำๆ และการเดินก็เป็นกิจกรรมที่สามารถทำซ้ำได้ไม่รู้จบ" มิลลาร์ กล่าว
แม้การเปลี่ยนแปลงบางอย่างเป็นสิ่งหลีกเลี่ยงไม่ ได้เมื่อถึงวัยชรา แต่ไม่จำเป็นว่าสิ่งนั้นต้องเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเหมือนที่เกิดกับคนทั่วไป
"เรารู้ว่าปฏิกิริยาของเราจะช้า ลงเมื่ออายุมากขึ้น แต่การทำกิจกรรมเป็นวิธีรับมือที่มีประสิทธิภาพ ดังนั้น ถ้าเราออกเดิน เราจะสามารถยืดเส้นยืดสายและทำให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่าขึ้น"
ทางด้านเครเมอร์ที่ทำงานกับทหารและผู้พิการด้วย ยังคงมุ่งมั่นศึกษาผลลบจากภาวะสูงวัยจากทางเลือกไลฟ์สไตล์ต่างๆ
"เราสนใจที่จะได้เข้าใจความ ยืดหยุ่นของสมอง แต่เรายังสนใจในเรื่องที่ว่าจะต้องอะไรบ้างเพื่อให้ได้สิ่งนั้นด้วย เราไม่สามารถรอยาวิเศษแต่ควรทำบางอย่างให้แก่ตัวเองตั้งแต่วันนี้"
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น