29 พ.ย. 2553

การปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชัก


คนที่เป็น โรคลมชัก มักจะมีอาการอยู่ดี ๆ เป็นลมหมดสติล้มพับกับพื้น (เกิดอาการวูบ) ขึ้นทันทีทันใด แล้วมีอาการกล้ามเนื้อชักเกร็งทั้งตัว หายใจลำบาก หน้าเขียว ตาเหลือก กัดฟัน น้ำลายฟูมปาก

อาจมีปัสสาวะหรืออุจจาระราด บางคนอาจกัดลิ้นตัวเองจนมีเลือดออก อาการชักจะเป็นอยู่นาน 2-3 นาทีเท่านั้น แล้วก็จะหยุดชักไปเอง แล้วจะฟื้นคืนสติได้ดังเดิม แต่อาจรู้สึกมึนงง อ่อนเพลีย บางคนอาจม่อยหลับต่อนานเป็นชั่วโมง

สำหรับการปฐมพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักแบบชักกระตุกทั้งตัว คือ

- ตั้งสติให้ดี

- จับผู้ป่วยนอนตะแคงหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลักและลิ้นตกไปอุดทางเดินหายใจ

- คลายเสื้อผ้าให้หลวม

- ห้ามใช้นิ้วหรือสิ่งของใด ๆ งัดปากผู้ป่วยขณะชัก เพราะอาจเกิดอันตรายต่อผู้ป่วยและผู้ช่วยเหลือ

- ผู้ป่วยหลังชักอาจมีอาการงงอยู่ ขณะยังไม่รู้สติห้ามยึดจับผู้ป่วย เพราะจะกระตุ้นให้ผู้ป่วยทำการต่อสู้รุนแรงได้ ระหว่างนี้ควรมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะฟื้นเป็นปกติ

- ในกรณีที่ผู้ป่วยหลับหลังชัก ควรปล่อยให้หลับต่อ ห้ามป้อนอาหารหรือยาจนกว่าจะฟื้นเป็นปกติ เพราะอาจสำลักได้

- ถ้าชักนานกว่าปกติหรือชักซ้ำ ขณะที่ยังไม่ฟื้นเป็นปกติควรนำส่งโรงพยาบาล

ใน กรณีที่ผู้ป่วยชักแบบทำอะไรไม่รู้ตัว คือ ขณะชักผู้ป่วยกลุ่มนี้ดูเหมือนรู้ตัว แต่ความจริงไม่รู้ตัวและควบคุมตัวเองไม่ได้ จึงควรปฐมพยาบาลดังนี้ ควรกันผู้ป่วยไว้จากอาการบาดเจ็บ อย่าขัดขวางการทำอะไรของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยจะต่อสู้ดิ้นรน ซึ่งอาจเกิดอันตราย เฝ้าดูผู้ป่วยจนอาการชักสิ้นสุด และสุดท้ายปลอบโยนผู้ป่วยเมื่อฟื้น ถ้ามีอาการสับสบหลังชัก

ไม่มีความคิดเห็น: