ในพื้นที่เมืองใหญ่ ไม่ว่ากรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวมถึงตามภูมิภาคต่างๆ มีการตั้งวาง ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ให้บริการตามย่านชุมชน นัยว่าสะอาดกว่าน้ำประปา และได้รับความนิยมเป็นอย่างดี
เฉพาะในกรุงเทพฯ จากการศึกษาล่าสุดของกองสุขาภิบาลอาหาร สำนักอนามัย กทม. ประมาณว่ามีมากถึง 20,000 ตู้ วารสาร ฉลาดซื้อ เดือนพฤศจิกายน ได้รายงานเรื่องเด่นเกี่ยวกับตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยรวบรวมจากการศึกษาสำรวจที่ผ่านมาจากหลายหน่วยงาน ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบว่าน้ำที่ได้จากตู้หยอดเหรียญมี ความเสี่ยงเรื่องการปนเปื้อนของเชื้อโรค อาจก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพตามมาได้
สาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ แบคทีเรีย และโคลิฟอร์ม เนื่องจากความไม่สะอาดของอุปกรณ์กรองน้ำ ภาชนะที่เก็บน้ำ และการเก็บน้ำที่กรองออกมาจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอย่างไม่ถูกสุขลักษณะ ทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อจุลินทรีย์ นอกจากนี้บางจุดยังพบสาหร่ายและตะไคร่ในบริเวณหัวจ่ายน้ำอีกด้วย
เพราะฉะนั้นในการเลือกใช้บริการตู้น้ำหยอดเหรียญ ผู้ใช้บริการก็ต้องคอยสังเกตให้ดี นับตั้งแต่ สภาพภายนอกของตู้น้ำดื่ม ควรเลือกตู้ที่มีการทำความสะอาด ไม่มีฝุ่นผงหรือคราบสกปรกตรงจุดที่วางภาชนะบรรจุเพื่อรองน้ำจากหัวบรรจุต้องสะอาด ไม่มีฝุ่นผง มีฝาปิดเพื่อป้องกันฝุ่นละออง หัวจ่ายน้ำต้องสะอาด ไม่มีคราบสนิมหรือตะไคร่น้ำ ควรเลือกใช้ตู้น้ำหยอดเหรียญที่ตั้งในที่ร่มไม่มีแสงแดดส่องถึง เนื่องจากแสงแดดมักก่อให้เกิดตะไคร่ขึ้นภายในหัวบรรจุ
เรื่องการควบคุมคุณภาพน้ำ บางยี่ห้อมีการควบคุมดูแลคุณภาพของน้ำดื่ม โดยมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องและไส้กรอง จากนั้นแปะสติกเกอร์บอกวันเวลาที่มาตรวจสอบ ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยบอกให้ผู้บริโภครู้ว่า ตู้นี้มีการดูแลควบคุมคุณภาพ
สังเกตกลิ่น สี รส ในเบื้องต้นต้องสังเกตสี ความขุ่น-ใส กลิ่นและรสชาติของน้ำว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ถ้าเป็นตู้น้ำที่ใช้อยู่ประจำแล้ว เมื่อน้ำที่ได้มีกลิ่นหรือรสชาติเปลี่ยน ควรเปลี่ยนตู้ใหม่ หรือรอให้ตู้เดิมมีการทำความสะอาดหรือเปลี่ยนไส้กรองเสียก่อน
ภาชนะบรรจุที่จะนำไปบรรจุน้ำดื่มจากตู้ ควรเป็นภาชนะที่สะอาดและขนาดพอดีกับน้ำที่ซื้อไม่สัมผัสหัวจ่ายน้ำด้วยมือหรือวัสดุอื่นใด เพื่อป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโรคลงในน้ำดื่ม.
http://www.thairath.co.th/content/life/128309
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น