29 พ.ย. 2553

ผู้หญิงควรใส่ใจ โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ


กระเพาะปัสสาวะอักเสบ พบบ่อยในสตรี โดยเฉพาะในช่วงอายุ 20-50 ปี ทั้งนี้เพราะท่อปัสสาวะของผู้หญิงสั้นกว่าผู้ชายและอยู่ใกล้กับทวารหนัก เชื้อแบคทีเรียบริเวณทวารหนัก (ซึ่งปกติมีอยู่จำนวนมาก)

จึงมีโอกาสสูงที่เคลื่อนเข้าสู่กระเพาะปัสสาวะ ทำให้เกิดอาการฟักตัวและอักเสบได้ในสตรีเจริญพันธุ์ การมีเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะในระยะแต่งงานกันใหม่ๆ ทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรียหลุดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ง่าย ทำให้เกิดอาการอักเสบที่เรียกว่า Honey Moon Cystitis


อาการของโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)


การอักเสบจากเชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะทำให้เกิดอาการดังนี้

1.ปัสสาวะบ่อย แต่ละครั้งจำนวนน้อย และกลั้นไม่ได้ ต้องรีบเข้าห้องน้ำ
2.แสบในท่อปัสสาวะ ปวดเสียดตอยถ่ายสุด
3.ตึง ปวดถ่วง บริเวณท้องน้อย
4.ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปกติ
5.ปัสสาวะมีเลือดปน


การวินิจฉัยโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

วินิจฉัยได้ง่ายๆ โดยมีอาการดังกล่าวข้างต้นร่วมกับการตรวจปัสสาวะ โดยให้ถ่ายปัสสาวะในช่วงแรกทิ้งไปก่อนแล้วจึงเก็บปัสสาวะช่วงถัดมาเพื่อ ทำการตรวจจะพบว่ามีจำนวนเม็ดเลือดขาวและเม็ดเลือดแดงผิดปกติ ในบางรายที่เป็นเรื้อรังอาจจำเป็นต้องเก็บปัสสาวะไปเพาะเชื้อเพื่อให้ทราบถึงแบคทีเรียนั้นด้วย


การรักษาโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

1.รับประทานยาปฏิชีวนะตามแพทย์สั่งประมาณ 3-5 วัน แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการมาก ต้องรับประทานยาในระยะเวลาที่นานขึ้น คือประมาณ 7-10 วัน
2.ผู้ที่มีอาการอักเสบได้ง่าย เช่น หลังมีเพศสัมพันธ์ อาจต้องรับประทานยาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันการอักเสบ


การป้องกันโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

1.หมั่นรักษาความสะอาดบริเวณช่องคลอด ท่อปัสสาวะและทวารหนัก
2.บางครั้งแบคทีเรียเมื่อหลุดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแล้ว ต้องใช้เวลาในการฟักตัวของเชื้อ ซึ่งการดื่มน้ำมากขึ้นจะสามารถขับแบคทีเรียออกมาได้
3.ไม่ควรกลั้นปัสสาวะไว้เป็ยระยะเวลานานๆ เพราะการกลั้นปัสสาวะนานเป็นปัจจัยในการส่งเสริมให้เชื้อแบคทีเรียมีระยะฟักตัวในกระเพาะปัสสาวะนานขึ้นยิ่งทำให้เกิดการอักเสบได้ง่าย
4.ผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบบ่อยๆ เรื้อรัง ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุแอบแฝงอื่นๆ เช่น นิ่ว กระเพาะปัสสาวะทำงานผิดปกติจากระบบประสาทควบคุม หรือมีอาการอุดตันในกระเพาะปัสสาวะ


กระเพาะปัสสาวะอักเสบมีผลร้ายแรงหรือไม่?

การรักษาให้หายขาดจะไม่มีผลร้ายแรง ส่วยรายที่ไม่หายขาดนั้น เชื้อแบคทีเรียบางชนิดอาจมีผลทำให้การอักเสบลุกลามไปถึงส่วนใดก็จะทำให้เกิดการอักเสบได้ ดังนั้นหลังรับประทานยาครบแล้ว จึงควรตรวจปัสสาวะซ้ำสักครั้ง

ไม่มีความคิดเห็น: