13 พ.ย. 2553
คราบฟันหรือหินปูน.. ???
คราบฟันหรือหินปูน
หิน ปูนหรือหินน้ำลาย คือ แผ่นคราบจุลินทรีย์ที่แข็งตัว เนื่องจากมีธาตุแคลเซียมจากน้ำลายเข้าไปตกตะกอน แผ่นคราบจุลินทรีย์ หรือ Bacterial plaque คือ คราบสีขาวขุ่นนิ่ม ที่ประกอบด้วยเชื้อโรคที่ติดอยู่บนตัวฟัน แม้ว่าจะบ้วนน้ำก็ไม่สามารถหลุดออกได้
กระบวนการเกิดคราบจุลินทรีย์ เริ่มต้นหลังจากที่แปรงฟันแล้วเพียง 2-3 นาที โดยจะมีเมือกใสของน้ำลายมาเกาะที่ตัวฟัน จากนั้นเชื้อโรคที่มีอยู่มากในปากจะมาเกาะทับถมกันมาก ๆ เข้า เกิดเป็นคราบจุลินทรีย์คราบจุลินทรีย์
นี้ เองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคฟันผุและโรคปริทันต์ เมื่อรับประทานอาหารเข้าไป คราบจุลินทรีย์นี้จะใช้น้ำตาลจากอาหารสร้างกรดและสารพิษ โดยกรดจะทำลายเคลือบฟัน ทำให้ฟันผุ สารพิษจะทำให้เหงือกอักเสบ ทำให้เกิดโรคปริทันต์ ถ้าไม่กำจัดคราบจุลินทรีย์โดยการทำความสะอาดฟัน และเหงือกอย่างดีทุกวัน คราบนี้จะเพิ่มมากขึ้น และทำอันตรายต่อฟันและเหงือก มักพบคราบจุลินทรีย์มาก โดยเฉพาะที่คอฟัน บริเวณขอบเหงือกและซอกฟัน สามารถใช้สีย้อมให้เห็นคราบได้ชัดเจน แต่ในรายที่คราบหนามาก ๆ สามารถเห็นและรู้สึกได้เมื่อใช้ลิ้นสัมผัสไปตามฟัน
ความสำคัญและความจำเป็นในการขูดหินปูน
บนพื้นผิวหินน้ำลาย จะมีคราบจุลินทรีย์ปกคลุม หินน้ำลายที่โผล่พ้นขอบเหงือกจะมองเห็นได้ แต่ส่วนที่อยู่ใต้เหงือกจะมองไม่เห็น หินปูนหรือคราบจุลินทรีย์ที่ยึดติดอยู่บนหินปูนใต้เหงือก ไม่สามารถกำจัดออกได้โดยวิธีการทำความสะอาดฟันด้วยตัวเอง ต้องอาศัยทันตแพทย์ช่วยกำจัดหินปูนให้ ทันตแพทย์จะขูดหินปูนออกทั้งเหนือเหงือกและใต้เหงือก จากนั้นทำรากฟันให้เรียบ (root planning) ปราศจากสารพิษใด ๆ เพื่อให้เหงือกยึดแน่น รอบตัวฟันเหมือนเดิม
การขูดหินปูนให้หมดจริง ๆ อาจต้องใช้เวลาพอสมควร อาจต้องนัดครั้งละ 30-45 นาที เป็นเวลา 2-4 ครั้ง หรือมากกว่านั้นขึ้นกับความมากน้อยของหินปูน ความลึกของร่องลึกปริทันต์ความแข็งของหินปูน เป็นต้น
หลังจากนั้นประมาณ 4-6 อาทิตย์ ทันตแพทย์จะประเมินผลดูว่าผู้ป่วยหายจากโรคปริทันต์หรือไม่ โดยดูลักษณะเหงือกว่ากลับสู่สภาพเดิมหรือยัง มีเลือดออกเวลาแปรงฟัน และเมื่อใช้เครื่องมือวัดร่องลึกปริทันต์ว่าตื้นขึ้น หรือเข้าสู่ภาวะปกติหรือไม่ ถ้ายังมีความลึกของร่องลึกปริทันต์อยู่ ทันตแพทย์จะพิจารณาว่าควรจะทำการผ่าตัดหรือไม่ ทั้งนี้ขึ้นกับการร่วมมือของผู้ป่วยในการทำความสะอาดด้วย แม้ว่าเหงือกจะกลับคืนสู่สภาวะปกติแล้ว แต่ถ้าผู้ป่วยละเลยไม่ทำความสะอาดอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ ก็สามารถที่จะกลับมาเป็นโรคปริทันต์ได้อีก
ควรเริ่มขูดหินปูนตั้งแต่วัยใด
สามารถขูดหินปูนได้ทุกวัย แม้กระทั่งในวัยเด็กที่มีฟันน้ำนมขึ้นแล้วไปจนกระทั่งผู้สูงอายุ ในระยะแรก ๆ หลังการขูดหินปูน ควรกลับมาให้ทันตแพทย์ตรวจและทำความสะอาด ภายใน 2-3 เดือน จากนั้นถ้าผู้ป่วยสามารถทำความสะอาดได้ดี ไม่มีเหงือกอักเสบ หรือไม่มีร่องลึกปริทันต์ ทันตแพทย์จะนัดผู้ป่วยมาตรวจและขูดหินปูนภายใน 5-6 เดือน โดยทุกครั้งจะดูความร่วมมือของผู้ป่วย และอาจทบทวนวิธีการทำความสะอาดฟันและเหงือกด้วย
การขูดหินปูนบ่อย ๆ จะมีผลกระทบต่อฟันหรือไม่
ในบางครั้งจะทำให้เกิดอาการเสียวฟันได้บ้างภายหลังการขูดหินปูน และอาจมีการเจ็บเหงือกบ้างบางครั้ง แต่การดูแลรักษาความสะอาดที่ถูกต้อง จะทำให้อาการดังกล่าวหายไป
ถ้าไม่ขูดหินปูนจะเกิดผลเสียอย่างไร
จะทำให้เกิดโรคปริทันต์ โดยท่านอาจมีอาการดังนี้ เลือดออกขณะแปรงฟัน เหงือกบวมแดง มีกลิ่นปาก เหงือกร่นมีหนองออกจากร่องเหงือก ฟันโยก ฟันเคลื่อนออกจากกัน ผู้ป่วยที่มีเลือดหยุดยาก ควรจะมีการปรึกษาแพทย์ เพื่อแพทย์จะได้ปรึกษาและวางแผนการรักษาร่วมกับทันตแพทย์ โดยอาจจะต้องหยุดยาที่ทำให้เลือดแข็งตัวช้า หรือในกรณีที่มีเลือด ที่มีความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด อาจต้องให้เลือด หรือสารทดแทนก่อนขูดหินปูน เพื่อป้องกันปัญหาแทรกซ้อน หรือเลือดไหลไม่หยุด
การป้องกันในการเกิดความหินปูน
ประกอบด้วยการทำความสะอาดฟัน นั่นคือ การแปรงฟันให้ถูกวิธี การทำความสะอาดซอกฟัน รวมทั้งการนวดเหงือก ซึ่งมีหลายวิธี เช่น การใช้เสนใยขัดฟัน (flossing) ปุ่มนวดเหงือก (rubber tip) แปรงระหว่างซอกฟัน (proximal brush) ผ้ากอซ (gauze strip) ไม้กระตุ้นเหงือก การที่จะเลือกใช้อุปกรณ์ตัวใด ขึ้นอยู่กับการพิจารณาและคำแนะนำของทันตแพทย์
ท่านสามารถป้องกันโรคฟันผุ และโรคปริทันต์ได้โดยการกำจัดคราบจุลินทรีย์ในช่องปากของท่าน โดยการ
1.แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ตอนเช้าและก่อนนอน การแปรงฟันหลังอาหารทุกมื้อเป็นสิ่งที่ดีมาก แต่ถ้าไม่สามารถทำได้ให้บ้วนน้ำแรง ๆ 2-3 ครั้ง หลักอาหาร
2.ทำความสะอาดซอกฟัน อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง
3.หลีกเลี่ยงอาหารหวาน ๆ โดยเฉพาะระหว่างมื้อ
4.พบทันตแทพย์อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อตรวจสภาพเหงือกและฟัน เพื่อทำความสะอาดฟันบริเวณที่เหลือจากการทำความสะอาด และรับการรักษาระยะเริ่มแรก ก่อนที่ท่านจะต้องสูญเสียฟันของท่าน เนื่องจากโรคฟันผุและปริทันต์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น